วงการธุรกิจอาจมีคู่แข่งที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน หรือคุณสมบัติคล้ายกันมากมาย การทำการตลาดจึงควรคิดหากลยุทธ์เพื่อให้มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ Storytelling เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายต่อหลายธุรกิจได้นำมาปรับใช้ ซึ่ง Storytelling เป็นคอนเทนต์แบบไหน มีกี่ประเภท ต้องทำออกมายังไงให้นำเสนอข้อมูลของแบรนด์ส่งตรงไปถึงผู้อ่าน หรือผู้ชมได้ดีที่สุด ดูพร้อมกันได้ในในบทความนี้
Storytelling คืออะไร?
หากพูดถึง Storytelling หลายคนอาจนึกถึงการเล่าเรื่องที่อยู่ในวรรณกรรม การ์ตูน และภาพยนตร์ก่อนเป็นอันดับแรกๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว Storytelling ยังอยู่ในเรื่องราวที่เราเล่าให้คนอื่นฟังในทุกวันอีกด้วย เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมตำนาน หรือเรื่องเล่าต่างๆ ยังคงมีการบอกเล่าต่อๆ กันอยู่ และแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นก็ยังคงเชื่อมโยง และมีบทบาทสำคัญกับผู้คนอยู่เสมอ
Storytelling มักเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิด หรือความอยากรู้อยากเห็นของคนเรา ก่อนมีการถ่ายทอด หรือบอกต่อเรื่องราวเหล่านั้นออกไปเป็นข้อความ บทสัมภาษณ์ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ซึ่งในปัจจุบันเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ Storytelling ได้ถูกนำมาใช้ในการทำการตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวที่มาของแบรนด์ สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก และมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คน เพื่อเป็นการกระตุ้นการขาย หรือเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตต่อไป
ความสำคัญของ Storytelling
ความสำคัญของการนำเสนอเนื้อหา หรือเรื่องราวแบบ Storytelling สามารถทำเรื่องราวให้มีความน่าสนใจ และเป็นที่น่าจดจำ ตลอดจนช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับแบรนด์ต่างๆ ได้
ช่วยกระตุ้นความรู้สึก
หากแบรนด์สามารถปลุกเร้าความรู้สึกได้ด้วยพลังแห่ง Storytelling แสดงว่าแบรนด์นั้นๆ บรรลุเป้าหมายของการสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การเป็นที่จดจำของผู้คน อยากให้ลองนึกถึงโฆษณาที่ทุกคนเพิ่งได้เห็น หรือได้รับชมเมื่อเร็วๆ นี้ อาจมีความเป็นไปได้อย่างมากที่แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับความรู้สึก หรือความคิดของคุณได้ โดยเนื้อหาในโฆษณานั้นอาจสร้างแรงบันดาลใจ ความตื่นเต้น หรือกระตุ้นความต้องการบางอย่างที่ส่งผลต่อความรู้สึก หรือความคิดต่างๆ ของคุณนั่นเอง
ช่วยถ่ายทอดตัวตนแบรนด์
การที่แบรนด์นำเสนอเนื้อหา หรือเรื่องราวแบบ Storytelling คือ การที่แบรนด์ทำการเชื่อมโยงกับผู้ชมผ่านค่านิยมหลักของแบรนด์ โดยมีสิ่งสำคัญ คือ เรื่องราวที่เล่าออกไปต้องสอดคล้องกับภารกิจ หรือวิสัยทัศน์ของแบรนด์ เพื่อช่วยกำหนดจุดยืนของแบรนด์ และทำให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นแบรนด์อย่างแท้จริง
ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม
หากพูดถึงการสร้างแรงบันดาลใจ ขอยกตัวอย่างคำพูดของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ที่กล่าวไว้ว่า “ฉันมีความฝัน” ซึ่งเป็นคำพูดที่เขาใช้เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วในสุนทรพจน์อันโด่งดัง เพื่อพูดถึงความปรารถนาในความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ หรือคำกล่าวของสตีฟ จ็อบส์ที่ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ของเขากับเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า “จงหิวโหย จงโง่เขลา” ซึ่งเป็นคำพูดที่ได้รับการยกย่องมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้น ข้อความทั้งสองจึงเป็นตัวอย่างว่าเรื่องราวที่ทรงพลังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งได้ อีกทั้งยังเป็นที่น่าจดจำเสมอ ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
ช่วยเชื่อมโยงกับความคิด และความรู้สึกของผู้ชม
Storytelling ช่วยเชื่อมโยงเรื่องราวของผู้คนเข้าด้วยกัน เมื่อแบรนด์บอกเล่าเรื่องราวที่ดี โดยแสดงความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้คำพูด ระดับภาษา และการสื่อสารที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ แบรนด์ก็จะสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ชม หรือผู้ฟังได้ดีมากยิ่งขึ้น
องค์ประกอบของ Storytelling
ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องราวอะไรก็ตาม เพื่อให้สามารถถ่ายทอด Storytelling ออกมาได้ดี และมีประสิทธิภาพ ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
ผู้เล่าเรื่อง
ผู้เล่าเรื่อง คือ บุคคล หรือแบรนด์ที่รับผิดชอบในการเล่าเรื่องราว และถ่ายทอดเนื้อหาต่างๆ โดยต้องรู้ว่าเรื่องที่ต้องการนำเสนอมีเอกลักษณ์ และมีความสำคัญกับแบรนด์หรือไม่ โดยให้ลองจินตนาการว่าหากข้อความใน Storytelling นั้นถูกเล่าโดยแบรนด์อื่นๆ ข้อความเหล่านั้นย่อมมีความสอดคล้องกับค่านิยม หรือจุดยืนของแบรนด์ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดออกไปให้ผู้คน กลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ชม หรือผู้ฟัง
คนที่รับชมเนื้อหา หรือรับฟังเรื่องราวของแบรนด์ มีบทบาทสำคัญมากใน Storytelling เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ฟังเรื่องราวที่แบรนด์ต้องการถ่ายทอดออกไปเท่านั้น แต่ยังสามารถแบ่งปันข้อความ เนื้อหา หรือเรื่องราวของแบรนด์ เพื่อสื่อสารต่อไปยังผู้ชม หรือผู้ฟังคนอื่นๆ ได้อีกด้วย
แนวคิดของเรื่อง
แนวคิดของเรื่อง คือ หัวใจหลัก หรือเบื้องหลังของเรื่องราว Storytelling ทั้งหมด ซึ่งต้องมีการกำหนดแนวคิดขึ้นมาอย่างชัดเจน เพื่อให้การเล่าเรื่องสามารถทำออกมาได้อย่างตรงประเด็น และให้ผู้ชม หรือผู้ฟังสามารถเข้าใจในเรื่องราว Storytelling ทั้งหมดที่แบรนด์ต้องการสื่อสารออกไป ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์อาจเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยว กิจกรรมสุดพิเศษ อาหารที่มีเอกลักษณ์ และความเป็นไทย โดยมีแนวคิดเบื้องหลังว่าต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย เป็นต้น
ตัวละคร
ตัวละครเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเล่าเรื่องแบบ Storytelling ทุกคนอาจเคยเห็นตัวละครในหนังสือ ภาพยนต์ หรือซีรีส์ต่างๆ ซึ่งในการเล่าเรื่องแบบ Storytelling สำหรับการทำการตลาดของแบรนด์ ตัวละครมักเป็นเจ้าของกิจการ หรือบุคคลที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ หรือแบรนด์นั้นๆ
โครงเรื่อง
โครงเรื่อง คือ โครงสร้างของการนำเสนอเนื้อหา Storytelling ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ บล็อก หรือสื่อโซเชียลมีเดียที่แบรนด์ใช้ในการสื่อสารออกไป โดย Storytelling ต้องมีการกำหนดทิศทางการเขียน ภาษาในการเล่าเรื่อง รวมถึงการนำเสนอว่าต้องการให้ส่วนไหนเกิดขึ้นก่อน-หลัง หรือมีส่วนไหนที่เป็นข้อขัดแย้ง หรือจุดเปลี่ยนของเรื่องราว โดยโครงเรื่องที่ดีไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลา เพราะยังมีอีกหลายวิธีในการนำเสนอเรื่องราว Storytelling ให้น่าสนใจ แต่เรื่องราวทั้งหมดควรมีจุดเริ่มต้น ปัญหาข้อขัดแย้ง (Conflict) แนวทางการแก้ไข (Solution) และจุดสิ้นสุดของเรื่องราว (End of Story) เสมอ ตลอดจนต้องมีการนำเสนอออกมาอย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ผู้ชม หรือผู้ฟังเกิดความสับสน
ยกตัวอย่างเช่น “หน้าเกี่ยวกับ” บนเว็บไซต์ แบรนด์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ หรือธุรกิจได้ แต่หากไม่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือไม่สามารถนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายสนใจได้ อาจทำให้ผู้ชม หรือผู้ฟังกดออกจากหน้านั้นๆ ไปก่อนที่พวกเขาจะไปถึงเนื้อหาสำคัญที่แบรนด์ต้องการสื่อสารออกไปจริงๆ
ข้อขัดแย้งของเรื่อง
แน่นอนว่าการเล่าเรื่อง Storytelling แบบธรรมดาๆ อาจทำให้เรื่องราวนั้นดูจืดชืด ไม่น่าสนใจ หรือไม่น่าติดตาม ดังนั้น การมีข้อขัดแย้ง จุดหักเหของเรื่องราว หรือปมปัญหาบางอย่างที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของตัวละคร และเรื่องราวทั้งหมด ก็อาจช่วยให้เรื่องราว Storytelling ดูมีเอกลักษณ์ และชวนให้น่าติดตามมากขึ้น
ฉาก เวลา และสถานที่
ฉาก เวลา และสถานที่เป็นสิ่งที่ต้องมีการกำหนดขึ้น เพื่อให้การนำเสนอเรื่องราวแบบ Storytelling ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- กำหนดคุณค่า และเป้าหมายในการเล่าเรื่อง
- เลือกระดับภาษา โทนเสียงของการสนทนา และการกระทำ
- นำเสนอออกมาด้วยการแสดงภาษากาย แทนคำพูด หรือการบอกกล่าว
- กำหนดช่วงเวลา และสถานที่ของเรื่องราวที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณกำลังสร้างแคมเปญโฆษณาเพื่อเล่าเรื่องราวเส้นทางการทำงานของตัวละครสองคน ตัวละครหนึ่งดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัปขนาดเล็ก และอีกตัวละครหนึ่งทำงานให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งสองตัวละครต้องมีระดับภาษา การสนทนา ท่าทางการแสดงออก รวมถึงช่วงเวลา และสถานที่ของเรื่องราวนี้ต้องเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจ และมีความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวได้
ขั้นตอนการสร้าง Storytelling Content
สำหรับการเล่าเรื่อง Storytelling เชิงธุรกิจในฐานะองค์กร หรือแบรนด์ อาจมีข้อเท็จจริง ตัวเลข สถิติ และข้อความมากมายที่อยากนำเสนอในเรื่องราวที่กระชับเพียงเรื่องเดียว มาดูพร้อมกันว่าจะสร้าง Storytelling Content แต่ละเรื่องให้ออกมาดี และน่าสนใจได้อย่างไร
รู้จักกับผู้ชม หรือผู้ฟังก่อน
ก่อนเริ่มสร้าง Storytelling Content ขึ้นมา แนะนำให้หาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย และกำหนดลักษณะของลูกค้า หรือผู้ซื้อเสียก่อน กระบวนการนี้จะทำให้คุ้นเคยกับบุคคลที่กำลังอ่าน รับชม หรือรับฟังเรื่องราวของแบรนด์อยู่ การทำความเข้าใจว่าเรื่องราวของแบรนด์มีไว้นำเสนอเพื่อใคร ถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการทำการตลาด และการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล
รายงานแนวโน้มการตลาดปี 2023 พบว่านักการตลาดที่นำเอาข้อมูลพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมาใช้ประโยชน์ในการทำการตลาด สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น รวมถึงสามารถสร้างเนื้อหาที่ดี มีความน่าดึงดูด และเป็นที่ต้องการได้มากขึ้นเช่นกัน
กำหนดเป้าหมายในการการเล่าเรื่อง
ควรรู้ก่อนว่าเนื้อหา หรือเรื่องราวแบบ Storytelling ที่ต้องการนำเสนอเป็นการบอกเล่า การให้ความรู้ การให้ความบันเทิง การขายสินค้าผลิตภัณฑ์ การระดมทุน ฯลฯ กล่าวคือ ต้องกำหนดเป้าหมาย หรือประเด็นหลักของการเล่าเรื่อง Storytelling ให้ชัดเจน
เลือกประเภทของการเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องแบบ Storytelling มีความแตกต่างกัน หากต้องเลือกว่าจะเล่าเรื่องประเภทใด ให้พิจารณาว่าต้องการให้ผู้ชม หรือผู้ฟังจะมีความรู้สึก หรือตอบสนองอย่างไรเมื่อพวกเขาได้อ่าน หรือได้ฟังเรื่องราว โดยประเภทของการเล่าเรื่องมีหลายประเภท เช่น การสร้างแรงบันดาลใจ การบอกเล่าเรื่องราว หรือประวัติความเป็นมา การบอกคุณค่า การให้ความรู้ การส่งเสริม หรือการรณรงค์ เป็นต้น
การวางแผน และจัดการโครงสร้างเรื่องราว
แบรนด์ หรือธุรกิจต้องวางแผน และจัดการโครงสร้างของเรื่องราวแบบ Storytelling ที่ต้องการนำเสนออย่างละเอียด โดยอาจเริ่มจากการวาง Storyboard หรืองานนำเสนอ PowerPoint ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถจดจ่ออยู่กับการสร้างเรื่องราว Storytelling ได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้แบรนด์สามารถรักษาวิสัยทัศน์ และจุดยืดของแบรนด์ได้อย่างมั่นคง
เริ่มลงมือเขียน
สิ่งสำคัญที่สุดของการถ่ายถอดเรื่องราว Storytelling คือ การเริ่มลงมือเขียนไอเดีย ข้อมูล หรือแผนการต่างๆ ที่เตรียมไว้ เพื่อให้เห็นทิศทางของเนื้อหา Storytelling ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ก็ต้องตรวจสอบความถูกต้อง Mood & Tone ของเนื้อหาให้มีความสอดคล้องกับแบรนด์ หรือธุรกิจ และที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์อีกด้วย
การสร้าง Call-to-Action
วัตถุประสงค์ของการสร้าง Call to Action (CTA) ของแต่ละแบรนด์อาจมีความคล้ายคลึงกัน แต่ CTA คือตัวกำหนดว่าแบรนด์ต้องการให้ผู้ชมทำอย่างไรต่อไปหลังจากรับชมเนื้อหา Storytelling ที่ทางแบรนด์นำเสนอ เช่น ต้องการให้พวกเขาบริจาคเงิน สมัครรับจดหมายข่าวสาร สมัครเรียนหลักสูตร หรือซื้อสินค้า เป็นต้น ซึ่งการสร้าง Call to Action ต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และประเภทของเนื้อหาที่นำเสนอเสมอ
กำหนดสื่อกลางในการสื่อสาร
การนำเสนอ Storytelling Content สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น คนบางกลุ่มชอบการอ่าน บางกลุ่มชอบดู หรือฟังคลิปวิดีโอ ซึ่งช่องทางในการนำเสนออาจขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ และเนื้อหาที่นำเสนอว่าเหมาะกับการถ่ายทอดออกมาในลักษณะแบบใด หรือช่องทางไหนที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด โดยช่องทางการสื่อสารในปัจจุบันที่เหมาะกับการนำมาปรับใช้กับการเล่าเรื่องแบบ Storytelling มีดังนี้การเขียน Storytelling ประเภทการเขียนมักอยู่ในรูปแบบของบทความ บล็อก หนังสือ หรืออะไรก็ตามที่มีข้อความเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเขียนเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ประหยัด และเข้าถึงได้ง่ายมากที่สุดการพูดคุย บุคคล หรือแบรนด์ สามารถนำเสนอเรื่องราวแบบ Storytelling ได้ด้วยตนเอง เช่น การนำเสนอ การเสนอขาย หรือการอภิปราย ซึ่งการพูดคุยแบบ TED Talk เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเล่าเรื่องแบบพูดคุย เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดสด และไม่มีการตัดต่อ ทำให้ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะการถ่ายทอดข้อความ และการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นคลิปเสียง คือการนำเสนอเรื่องราวด้วยการพูดคุย แต่เสียงที่พูดคุยจะถูกบันทึกไว้ ทำให้แตกต่างจาก Storytelling ที่เป็นการพูดคุยแบบปกติ ซึ่งคลิปเสียงเหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบของพอดแคสต์คลิปวิดีโอ กราฟิก และแอนิเมชัน Storytelling ประเภทนี้มักเป็นรูปแบบของวิดีโอ แอนิเมชัน เกม รูปภาพ หรืออินโฟกราฟิก เป็นต้น ซึ่งเป็นการนำเสนอที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะกับธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างดี
การแชร์เรื่องราว
หลังจากสร้างเนื้อหา Storytelling เรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมแบ่งปัน และโปรโมต Storytelling โดยการแบ่งปันเนื้อหา หรือเรื่องราว ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้การนำเสนอเรื่องราวมีความสมบูรณ์ เพราะเมื่อแบ่งปัน หรือแชร์ไปในแพลตฟอร์มที่แบรนด์กำหนดไว้ หรือแพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานมากที่สุด ก็จะทำให้มีผู้คนเข้ามาชมเรื่องราว Storytelling ของคุณ โดยวิธีต่อไปนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแบ่งปันเรื่องราวอีเมล กลยุทธ์การทำการตลาดผ่านอีเมลเป็นหนึ่งในช่องทางที่นักวางแผนสื่อใช้มากที่สุด เพราะสามารถใช้ในการวางแผน ติดตาม และรายงานความนิยม หรือการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายได้โซเชียลมีเดีย การแบ่งปันเรื่องราว Storytelling บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีผู้ใช้งานที่หลากหลายประเภท และยังเหมาะกับธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับการแชร์เรื่องราวบนโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook, Instagram, X, TikTok, และ YouTube นอกจากนี้ ธุรกิจจำนวนมากยังประยุกต์ใช้การนำเสนอเนื้อหาแบบออร์แกนิก ควบคู่ไปกับการนำเสนอเนื้อหาแบบชำระเงิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงเนื้อหาให้มากที่สุดบล็อก หรือเว็บไซต์ การนำเสนอเรื่องราว Storytelling ผ่านช่องทางบล็อก หรือเว็บไซต์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะคนจำนวนมากยังคงใช้งานอินเทอร์เน็ตกันอยู่ โดยแบรนด์ หรือธุรกิจสามารถโปรโมตเรื่องราวที่เป็นลายลักษณ์อักษรประเภทโพสต์ บทความสั้น หรือบทความยาวลงบนบล็อก หรือเว็บไซต์ของธุรกิจได้
การวัดผล และพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าแบรนด์ หรือธุรกิจไหน การนำเสนอเรื่องราวแบบ Storytelling หรือการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบอื่นๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือการติดตาม และวัดผลประสิทธิภาพของผลงานเสมอ หลังจากที่เผยแพร่เนื้อหา Storytelling ออกไปแล้ว ก็อย่าลืมสำรวจ และวัดผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่าเนื้อหาที่เผยแพร่ไปนั้นสามารถเข้าถึง หรือตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดีหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ต่างๆ สามารถนำเอาไปทำเป็นแบบรายงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาเนื้อหา หรือเรื่องราวแบบ Storytelling ต่อไปในอนาคตได้
ตัวอย่างของ Storytelling
ตัวอย่างการนำเสนอ Storytelling ที่น่าสนใจของแบรนด์ และธุรกิจ เพื่อให้เห็นภาพของการเล่าเรื่องมากขึ้น
Ted Talks
Ted Talks เป็นการพูดคุยในหัวข้อต่างๆ เช่น เทคโนโลยี การศึกษา นวัตกรรม สังคม หรือวิทยาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหัวข้อเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการเล่าเรื่องแบบ Storytelling ที่ชัดเจน ดังสโลแกน “ไอเดียที่ควรค่า แก่การเผยแพร่” โดยบุคคลที่บรรยาย หรือพูดคุยในหัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้ พวกเขาทำเช่นนั้นเพราะไอเดียของพวกเขามีคุณค่า และสมควรได้รับการแบ่งปัน
Burger King
Burger King เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1954 โดยเพื่อนร่วมรุ่น 2 คนที่จบมาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ได้มีการรวมเงินกันเพื่อซื้อกิจการที่ชื่อว่า “Insta-burger King” มารีแบรนด์ใหม่ และได้เปิดตัวเมนูใหม่ของแบรนด์ที่ชื่อว่า Whopper เพื่อแข่งขันกับ Mcdonald มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุค 70s จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง Burger King ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการนำเอาเรื่องราวจุดเริ่มต้นของแบรนด์มาเล่าต่อในรูปแบบของ Storytelling โดยมีจุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยนของธุรกิจ รวมถึงเป้าหมาย และการแข่งขันที่ชัดเจน
Go Pro
การนำเสนอเรื่องราวแบบ Storytelling ของ Go Pro คือ การนำเสนอคุณสมบัติของ Go Pro ว่าเป็นกล้องขนาดเล็ก พกพาง่าย สามารถถ่ายภาพ และถ่ายวิดีโอออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อดี คือ สามารถแชร์รูปภาพ และวิดีโอที่ถ่ายจาก Go Pro เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ความสนุกให้ผู้อื่นได้รับรู้อย่างง่ายดาย โดยประโยชน์ของการแบ่งปันเรื่องราวที่มีความหมายดีๆ ในชีวิตเราให้แก่คนอื่น คือ การทำให้ชีวิตมีความหมายมากกว่าการอยู่คนเดียว
สรุป
Storytelling คือ การถ่ายทอดเรื่องราวที่มีคุณค่า และมีความหมายผ่านสื่อกลางต่างๆ ที่ทางแบรนด์ต้องการนำเสนอ เพื่อให้ลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายเกิดอารมณ์ร่วม เกิดความเข้าใจ และสนใจในสินค้า หรือบริการของแบรนด์ได้ดีมากขึ้น โดยการเล่าเรื่องแบบ Storytelling ควรทำตามขั้นตอนขั้นตอนต่างๆ ที่แนะนำไป เพื่อใช้ในการสร้าง Storytelling Content ให้เรื่องเล่าเหล่านั้นออกมาดี มีความเชื่อมโยง และส่งตรงถึงผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ให้ได้มากที่สุด
คำถามเกี่ยวกับ Storytelling (Q&A)
เราได้รวบรวมคำถาม หรือข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับ Storytelling มาตอบเพื่อคลายข้อสงสัย ให้คุณได้เข้าใจเกี่ยวกับ Storytelling มากขึ้น
Storytelling ทำงานร่วมกับ SEO อย่างไร
SEO มีความสำคัญอย่างมากต่อเนื้อหาที่มีรูปแบบยาว การเล่าเรื่อง Storytelling โดยเน้นไปที่คุณภาพของเนื้อหา สามารถทำให้อัลกอริทึมของ Google ตรวจสอบ และนำเนื้อหามาจัดอันดับได้
วิธีทำ Storytelling ทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ
สำหรับใครที่ยังไม่มีประสบการณ์ สามารถนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้กับการทำ Storytelling ได้
- สร้างขอบเขตเนื้อหา การสร้างขอบเขตของเนื้อหาที่ชัดเจนจะช่วยให้กำหนดฉาก แนวคิด และการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้
- เล่าเรื่องที่เป็นความจริง หรือกล่าวอีกนัย คือ ควรเล่าเรื่องออกมาให้มีความสมจริง
- สร้างเรื่องราวให้มีความชัดเจน การเล่าเรื่องทางธุรกิจควรมีความชัดเจน กระชับ และไม่ควรซับซ้อนมากเกินไป เพื่อเป็นการกระตุ้นการตัดสินใจ
- ความสอดคล้องกันของสไตล์กับเนื้อหา แบรนด์ หรือธุรกิจสามารถสร้าง Storytelling และเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นเดียวกันได้ แต่ควรมีสไตล์ใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่นำเสนอ
- สร้างความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ลูกค้า และผู้มีโอกาสเป็นลูกค้ารู้สึกเห็นใจตัวละคร หรือประเด็นที่ใช้ในการเล่าเรื่องของแบรนด์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างลูกค้า กับแบรนด์ได้อย่างแท้จริง
Storytelling มีข้อดีอย่างไร
เรื่องราวที่ดีมักมีความน่าจดจำมากกว่าข้อเท็จจริง ตัวเลข หรือตรรกะ เช่น หากคุณเป็นนักการตลาด เนื้อหา Storytelling อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกภักดีต่อแบรนด์ แม้ผู้ชมที่ตอนแรกยังไม่ใช่ลูกค้า แต่ในภายหลังได้กลายมาเป็นผู้ที่สนใจในตัวแบรนด์ กระทั่งตัดสินใจซื้อสินค้า หรือใช้บริการของทางแบรนด์ในที่สุด