กลายเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง และเหล่านักการตลาดให้ความสำคัญอย่างล้นหลามเกี่ยวกับ Keyword Match Type การตั้งค่าคำหลักในการค้นหาคีย์เวิร์ดของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้บริการ Google Ads ซึ่งแน่นอนว่าจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เหล่านักธุรกิจ และนักการตลาดจำเป็นต้องอัปเดตเทรนด์เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
โดยในบทความนี้ เราจะพามารู้จัก Keyword Match Type ทั้งหมด 5 รูปแบบ ได้แก่ Broad Match, Broad Match Modifier (ไม่ได้ใช้แล้ว), Phrase Match, Exact Match และ Negative Match โดยจะมีรายละเอียด และรูปแบบการใช้งานเป็นอย่างไรนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็น Beginner ที่เริ่มต้นเรียนรู้จากศูนย์ หรือ Intermediat ที่พอมีความรู้เรื่อง Google Ads มาบ้างแล้ว ก็สามารถติดตามอีกหนึ่งเรื่องราวน่ารู้ของ Google Ads กันได้ในบทความชิ้นนี้เลย
Keyword Match Type คืออะไร มีกี่ประเภท?
Keyword Match Type คือ ชื่อเรียกประเภทของการประกอบสร้างคีย์เวิร์ดด้วยสัญลักษณ์แบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาสู่หน้าเว็บไซต์ หรือสื่อที่ทางแบรนด์ต้องการ โดยมีค่าบริการตามค่าคลิก หรือ ที่เรียกกันแบบติดปากว่า CPC (Cost Per Click)
สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกใช้คีย์เวิร์ดนั้น ต้องใช้งานได้จริง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้การทำแคมเปญแต่ละ Ads เป็นไปตามสิ่งที่แบรนด์คาดหวังได้ ซึ่งทาง Minimice ก็ได้ทำการสรุปรูปแบบการประกอบสร้างคีย์เวิร์ดสำหรับการทำโฆษณาบน Google ไว้ให้แล้ว เพื่อให้นักยิงแอดทั้งมือเก่าและมือใหม่ที่ต้องการปรับเพิ่มทักษะได้มาทำความรู้จักกัน ดังนี้
1. Broad Match
Broad Match คือ รูปแบบการทำ Keyword Match Type แบบกว้างๆ โดยระบบจะทำการค้นหาคำที่คุณได้ทำการซื้อเอาไว้ และทำการแนะนำคำที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเป็นตัวเลือก ไม่เพียงเท่านั้น ยังแสดงผลคำที่สะกดผิดหรือคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องด้วย Broad Match จะมีค่าใช้จ่ายต่อคลิกค่อนข้างสูง เพราะจะมีการแสดงผลของ Ads จำนวนมาก เนื่องจากเป็นการนำเสนอตัวเลือกคีย์เวิร์ดแบบไม่เจาะจง และไม่มีการใช้สัญลักษณ์เพิ่มเติม
ตัวอย่าง
คุณเลือกใช้คีย์เวิร์ด เสื้อผ้าผู้ชาย
อาจจะได้ผลลัพธ์ของคนที่ค้นหาคำว่า เสื้อหนัง, เสื้อผ้าผู้หญิง, เสื้อผ้าแบรนด์เนม, เสื้อผ้ามือสอง หรือ เสื้อผ้าราคาประหยัด เป็นต้น โดยจะมีการโฟกัสกับคีย์เวิร์ดบางคำเป็นหลักเท่านั้น
ข้อดีของการใช้ Broad Match
- เพิ่มการเข้าถึงของแบรนด์ได้กว้างขวางมากเป็นพิเศษ
- เพิ่มจำนวนผู้สนใจ และสร้างผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ค่อนข้างดี
- มีโอกาสได้พบกับคีย์เวิร์ดอื่นๆ ที่น่าสนใจผ่านการใช้งานรูปแบบนี้
ข้อเสียของการใช้ Broad Match
- ไม่ได้มีการรับประกันว่าคนที่คลิก หรือเข้ามาเยี่ยมเว็บไซต์จะเป็นกลุ่มเป้าหมายเนื่องจากคำกว้างมาก
- ค่าใช้จ่ายผู้เยี่ยมชมต่อคลิกสูงมาก เนื่องจากเป็นการนำเสนอแบบโยนหินถามทาง
2. Broad Match Modifier (ไม่ได้ใช้แล้ว)
Broad Match Modifier (BMM) เป็นรูปแบบที่มีความนิยมสูง เนื่องจากรูปแบบในการเลือกคีย์เวิร์ดที่ยืดหยุ่น ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากกว่า และถูกจุดได้ดีกว่ารูปแบบแรก มีการใส่ สัญลักษณ์ + ระหว่างคำที่ต้องการ หรือคุณจะพัฒนาคีย์เวิร์ดรูปแบบแรกให้เป็น Broad Match Modifier ก็สามารถทำได้ใน Excel ด้วยสูตรนี้ =”+”&substitute
ตัวอย่าง
+ผัก +ออแกนิค, +ผักปลอดสารพิษ
ผู้คนจะพบเห็นโฆษณาของคุณได้ หากทำการกรอกคำค้นหาที่เกี่ยวข้องอย่าง ผักออแกนิค หรือ วิธีดูผักปลอดสารพิษ เป็นต้น
ข้อดีของการใช้ Broad Match Modifier (BMM)
- ทำให้แบรนด์สามารถโฆษณาได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายดียิ่งขึ้น
- ได้โอกาสในการพบเห็นคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
ข้อเสียของการใช้ Broad Match Modifier (BMM)
- มีโอกาสที่จะโดนโยงเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดแปลกๆ ที่ไม่เกี่ยวกับแบรนด์ อย่างไรก็ดีรูปแบบ Broad Match Modifier นี้ไม่มีการเปิดให้ใช้บริการอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน
3. Phrase Match
อีกหนึ่งรูปแบบที่มีคะแนนความนิยมในการใช้บริการสูงนั้นก็คือ Phrase Match เนื่องจากรูปแบบนี้มีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังทำให้ทางแบรนด์เองได้จับเทรนด์ตลาด และรู้ถึงคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ได้อีกด้วย มีการใช้ สัญลักษณ์ “” ในการกำหนดคีย์เวิร์ด
ตัวอย่าง
“ที่ดินราคาถูก”
ผู้คนสามารถค้นหาโฆษณาของคุณได้ หากทำการค้นหาคำที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ที่ดินราคาถูกแถวอยุธยา, รีวิวที่ดินราคาถูก หรือ วิธีการตรวจสอบที่ดินราคาถูก และดี เป็นต้น แต่หากถูกค้นหาด้วยคำที่มีการวางสลับตำแหน่งผิดหรือไม่ใช่วลีรูปแบบนั้นตรงตัว จะก็ค้นหาไม่เจอ เช่น ที่ดินตรงไหนราคาถูก
ข้อดีของการใช้ Phrase Match
- สามารถควบคุมคีย์เวิร์ดได้ง่ายดายมากกว่ารูปแบบ Broad Match Modifier
- เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
- มีค่าใช้จ่าย CPC ที่ถูกกว่า
ข้อเสียของการใช้ Phrase Match
- แม้จะเป็นรูปแบบที่พบคีย์เวิร์ดที่ค่อนข้างตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ยังมีพบว่ามีหลุดจากกลุ่มเป้าหมายไปอยู่บ้าง
4. Exact Match
หากจะพูดถึงคีย์เวิร์ดที่จะเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่ดีที่สุด เห็นทีตัวเลือกเดียวที่เหมาะสมคือ Exact Match และมีการใช้ สัญลักษณ์ [ ] ครอบคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานต้องการ แต่อย่างไรก็ดีในเมื่อไม่นานมานี้ทาง Google ได้ทำการปรับ Machine Learning และทำให้ลักษณะการหาผลลัพธ์ของคีย์เวิร์ดกลุ่มนี้สามารถกว้างขึ้นกว่าเดิม
ตัวอย่าง
[รองเท้าส้นสูง]
กลุ่มลูกค้าที่สามารถเห็นโฆษณาสินค้าจากทางแบรนด์ได้ สามารถค้นหาคำได้ค่อนข้างหลากหลาย แต่ครอบคลุมอย่าง รองเท้าส้นสูงขายดี, รองเท้าส้นสูง2022 หรือ รองเท้าส้นสูงแบรนด์เนม เป็นต้น ด้วย
ข้อดีของการใช้ Exact Match
- เข้าหากลุ่มเป้าหมายได้อย่างประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากคีย์เวิร์ดตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ
ข้อเสียของการใช้ Exact Match
- ถึงแม้รูปแบบนี้จะทำให้ผู้ใช้งานได้มีโอกาสพบคีย์เวิร์ดที่ตรงกับความต้องการจริงๆ แต่อาจจะทำให้มองไม่เห็นคำอื่นๆ ที่คนใช้ค้นหาจริงๆ ด้วย
5. Negative Match
รูปแบบของคีย์เวิร์ดประเภทนี้จะแตกต่างจากทุกรูปแบบก่อนหน้า หากมีการใช้ Negative Match จะทำให้ชุดคีย์เวิร์ดที่กำหนด ไม่ปรากฏในแคมเปญ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงโฆษณาได้อย่างถูกจุด และถูกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการแบ่งแยกย่อยตามหมวด Broad Match, Broad Match Modifer, Phrase Match และ Exact Match
- Broad Match Negative ไม่แนะนำให้มีการใช้รูปแบบนี้ เนื่องจากคีย์เวิร์ดที่ใช้อาจจะไม่ปรากฏในหน้าโฆษณาได้เลย ส่วนมากแล้วหลายแบรนด์จะเลือกใช้ร่วมกับคำที่ไม่ตรงกับการค้นหาของแบรนด์ หรือสิ่งที่อยากหลีกเลี่ยงตั้งแต่แรก เช่น กลุ่มคำหยาบ และคำสแลง ไปตลอดจนคำที่อาจส่งผลเสีย หรือสร้างความสับสนให้กับธุรกิจ เป็นต้น
- Broad Match Modifier Negative ยังคงเป็นอีกทางเลือกที่อาจจะไม่ส่งผลดีกับแบรนด์เท่าที่ควร เนื่องจากฟังก์ชันที่มีการกำหนดขอบเขตที่กว้างเกินไป ทำให้โฆษณาของแบรนด์อาจจะไม่ปรากฏกับกลุ่มเป้าหมายได้ แต่จะมีการใช้รูปแบบนี้จริงๆ เมื่อมีคีย์เวิร์ดที่ไม่เกี่ยวข้อง จนทำให้การเข้าหากลุ่มเป้าหมายผิดเพี้ยน ตัวอย่างการใช้ +ผัก +สารพิษ เมื่อลูกค้าค้นหาเกี่ยวกับคำว่า ผักปลอดสารพิษ จะทำให้ไม่เจอกับโฆษณาแบรนด์ของคุณ แต่อาจเจอ ผักที่มีสารพิษ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผิดพลาดในการเข้าถึงค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องรู้คีย์เวิร์ดที่ต้องการเลี่ยงจริงๆ จะเป็นการดีที่สุด
- Phrase Match Negative รูปแบบที่ใช้งานได้จริง และทำให้โฆษณาของผู้ใช้บริการเข้าหาลูกค้าได้ตามต้องการ เนื่องจากรูปแบบของ Phrase Match Negative จะมีความยืดหยุ่นของคีย์เวิร์ดที่กำลังดี ไม่กว้าง หรือแคบจนเกินไป ตัวอย่าง Negative Keyword คือ “รองเท้าส้นสูงสีแดง” ระบบจะแสดง รองเท้าผู้ชาย, รองเท้าเด็ก และ รองเท้าผ้าใบ เป็นโฆษณาของผู้ใช้บริการแทน
- Exact Match Negative จากนโยบายของ Google Ads จะมีการเรียกเก็บเงินเมื่อมีคนคลิกเว็บไซต์ (CPC) เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเป้าหมายมาคลิก การใช้ Negative Keyword อาจถือเป็นตัวช่วยหนึ่งที่มีประโยชน์ในการคัดกรองลูกค้า ส่งผลให้เราไม่ต้องเสียเงินไปกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และทำให้สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่จะมาสร้างรายได้ให้กับเราได้จริงๆ
แต่รูปแบบที่มีผู้ใช้งานเลือกใช้กับ Negative Match มากที่สุด คงจะต้องยกให้กับรูปแบบ Exact Match Negative เนื่องจากนี่เป็นรูปแบบที่ปลอดภัยมากที่สุด เพราะทำหน้าที่ในการนำเสนอ Ads ได้ตรงความต้องการของแบรนด์สูงสุด ตัวอย่าง Negative Keyword ว่า “รองเท้าผ้าใบผู้ชาย” กลุ่มเป้าหมายที่ค้นหาคำว่า รองเท้าผ้าใบผู้ชาย จะไม่เจอคำนี้เลย อย่างไรก็ดีหากกลุ่มเป้าหมายค้นหา รองเท้าผ้าใบผู้ชายราคาเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะยังเจอ Ads แต่ก็ถือว่ามีความโดดเด่นในการเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่ดีที่สุดในบรรดา 4 รูปแบบที่มีการกล่าวถึง
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Exact Match Negative ยังมีความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองจากการ CPC ของคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากตัดวงตรของผู้เยี่ยมชมที่ไม่ใช่ตลาดของแบรนด์ไปได้มาก แบรนด์ที่มีงบจำกัด และอยากได้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายจริงๆ รูปแบบ Exact Match Negative จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด
Keyword Planner และ Google Trend ตัวช่วยในการค้นหา Keyword
คาดว่าผู้อ่านหลายคนจะสังเกตได้แล้วว่าเรื่องของคีย์เวิร์ดถือว่าเป็นตัวแปรในการเปลี่ยนเกมของแบรนด์ที่กำลังต้องการสร้างการเข้าถึงแบรนด์ของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี แล้วจะทำอย่างไรให้คุณได้พบกับคีย์เวิร์ดที่จะเป็นประโยชน์ของแบรนด์ ในเนื้อหาส่วนนี้จะพาทุกคนไปรู้จักแบบเจาะลึกกับ 2 เครื่องมือในการค้นหาคีย์เวิร์ดที่เป็นประโยชน์ และมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายได้แก่ Keyword Planner และ Google Trend ถ้าพร้อมกันแล้วไปติดตามกันต่อได้เลย
Keyword Planner
Google Keyword Planner เป็นเครื่องมือจะช่วยให้คุณได้พบกับคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจ เพื่อใช้ในการทำ Ads, การทำคอนเทนต์ หรือแม้แต่การทำ Keyword Research ในส่วนของ SEO ก็จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดตัวช่วย เนื่องจากตัวแปรอย่างคีย์เวิร์ดสามารถผลักดันอันดับในการค้นหาของเว็บไซต์ได้ดี และยังขยายการพบเห็นของแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมายเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีข้อมูลโดยประมาณของราคา Bid รวมถึงยังช่วยประเมินจำนวนคู่แข่ง และราคา Bid ที่คู่แข่งเสนอมาอีกด้วย เครื่องมือนี้จึงเป็นที่นิยมในการค้นหาคีย์เวิร์ด พร้อมกับการตรวจสอบราคา Bid และวิเคราะห์จำนวนคู่แข่งทางการตลาด
Google Trend
Google Trend เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในเครือ Google ที่เหล่า SEO Specialist รู้จักกันดี เช่นเดียวกับ Google Keyword Planner หรือ ก็คือ Keyword Planner ที่เราเพิ่งพูดถึงไปเมื่อครู่ โดย Google Trend จะทำให้คุณสามารถตรวจสอบความนิยมของคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์คุณได้ เพราะเจ้าเครื่องมือตัวนี้สามารถใช้ศึกษาพฤติกรรมการค้นหา “คำ” หรือ “ความสนใจ” ของคนในโลกออนไลน์ได้ เพราะ Search Engine ของ Google ระบบจะทำการจัดเก็บข้อมูลการค้นหาไว้หมด
นับได้ว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถทำให้แบรนด์ต่อยอดการเข้าถึงจากการใช้คีย์เวิร์ดที่ถูกที่ ถูกเวลา โดยคุณสามารถที่จะตรวจสอบความนิยมของคีย์เวิร์ดได้เพิ่มเติมจากเครื่องมือนี้ ไม่ว่าจะเป็นความนิยมระดับจังหวัด, ระดับประเทศ หรือระดับโลก ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ต้องทำความรู้จักกันไว้ เพื่อไม่ให้พลาดกับโอกาสในการเข้าถึงคีย์เวิร์ดที่เหล่าลูกค้าเลือกใช้นั่นเอง
Update 2023 “Broad Match Modifier (BMM)” ไม่ใช้แล้วนะ
จากภาพรวมของ Keyword Match Type รูปแบบต่างๆ ที่คุณได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นกันไปในเนื้อหาก่อนหน้า เราเองก็ต้องขอกระซิบเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาทาง Google Ads มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของ Keyword Match Type ให้เหลือเพียงแค่ Exact, Broad, Phrase และ Negative เท่านั้น โดยจะนำ Broad Match Modifier มารวมไว้กับ Phrase เนื่องจาก AI ของ Google มีการพัฒนา และสามารถเข้าใจ User ได้ดีมากขึ้นนั้นเอง
ความน่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การนำ Broad Match Modifier กับ Phrase มาผสานเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้รูปแบบในการทำงานของ Keyword Match Type นี้เกิดความยืดหยุ่น และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมกับขจัดคำขยะที่ไม่จำเป็นในการเข้าถึงอีกด้วย นั้นหมายความว่าการเลือกใช้งานรูปแบบนี้จะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น และยังมีระบบในการกรองคำในเบื้องต้นอีกด้วย
ไม่ว่ากลุ่มเป้าหมายจะมีการวางคำสลับ หรือวางคีย์เวิร์ดสลับกันไปมา ที่ในแต่ก่อนอาจจะทำให้โฆษณาไม่สามารถไปปรากฏในการค้นหาคำแบบนั้นได้ แต่ไม่ใช่อีกแล้วสำหรับรูปแบบใหม่ที่ทาง Google มีการอัปเดตใหม่ในเวอร์ชัน 2021 นี้ ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2021 ที่ผ่านมาทำให้มีรูปแบบที่เหลือคือ Exact, Broad, Phrase และ Negative แต่ตัวเลือกที่เหมาะกับการทำ Ads ในการทำธุรกิจที่เหล่านักการตลาดต่างเลือกใช้กันคือ Exact กับ Phrase
สรุป
รูปแบบในการใช้งาน Keyword Match type ของ Google Ads มีหลากหลายรูปแบบ เมื่อคุณได้เข้าใจกลไก และผลลัพธ์ของแต่ละประเภทแล้ว การเลือกใช้ให้เหมาะกับแต่ละธุรกิจจึงมีความสำคัญ และเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของแบรนด์ได้ดีเลยทีเดียว การก้าวเข้ามาทำความรู้จัก และเริ่มลองใช้งานเครื่องมือในการทำ Ads เหล่านี้ยังคงเป็นตัวช่วยหลักที่จะผลักดันแบรนด์ให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดดในโลกที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ หากนัก bid ท่านใดที่อ่านมาจนจบแล้ว ก็ลองเลือกไปปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจและความต้องการกันนะ!
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
Keyword Match Type คืออะไร?
Keyword Matching Option เป็นรูปแบบที่ Google Ads นำมาใช้เพื่อที่คนที่ต้องการทำการโฆษณาผ่าน Google จะได้มีการวางแผนจัดการกับกลุ่ม keywords ที่ตนเองต้องการได้เพื่อราคาคลิกต่อคำที่ถูกลง ปัจจุบันใช้อยู่ 3 แบบ คือ Broad, Phrase และ Exact
Negative Match คืออะไร
Negative คือกลุ่ม keyword ที่เราไม่ต้องการให้โฆษณาของเรานั้นแสดงขึ้นมา เนื่องจากไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ หรือเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์ จะมีการแบ่งประเภทย่อยไปอีกเช่นเดียวกัน
ทำไม Broad Match Modifier (BMM) ถึงไม่ใช้แล้ว
เนื่องจาก Google จะทำการรวม Broad Match Modifier กับ Phrase เข้าด้วยกัน เนื่องจากในปัจจุบัน AI มีความฉลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้มากกว่าเดิม เพื่อให้ได้ผลการค้นหาที่ตรงกับความต้องการผู้ใช้ที่สุด