ในการทำโฆษณานั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญคือการสื่อสารข้อความที่ต้องการเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เกิดความสนใจในสินค้าหรือบริการ การทำกลยุทธ์ทางการตลาดหนึ่งที่ได้รับความนิยมและไม่ควรมองข้ามคือการทำกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย Copywrite ผู้ขายจึงต้องให้ความใส่ใจกับการคิดคำโฆษณาเพื่อดึงความสนใจจากลูกค้า การทำ Copywrite เพื่อการตลาดจึงต้องการ Copywriter ที่มีความเหมาะสมและสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างตอบโจทย์ การเป็น Copywriter จะต้องอาศัยทักษะอะไรหรือทำอะไรได้บ้างนั้น บทความนี้มีคำตอบ
Copywriting คืออะไร
Copywriting คือการเขียนคำโฆษณาเพื่อสื่อสารกับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงดูด โน้มน้าว ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจในสินค้าหรือบริการนั้น โดยการทำกลยุทธ์ทางการตลาดอย่าง Copywrite จะต้องอาศัย Copywriter ซึ่ง Copywriter คือผู้ที่คิดค้น เขียน หรือเรียบเรียงคำเพื่อทำการสื่อสารและโฆษณาให้กับสินค้าและบริการ การทำกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการใช้ Copywrite นั้นไม่เพียงแต่อยู่ในรูปแบบการเขียนบทความเท่านั้น แต่ยังสามารถอยู่บนป้าย สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์หรือที่สำคัญมากๆ ในยุคนี้คือบนการตลาดออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ในรูปแบบของสโลแกน คำติดหู หรือประโยคที่ต้องการให้เกิดการแพร่หลายในกลุ่มเป้าหมายด้วย
Copywriter และ Content writer ต่างกันอย่างไร แบบไหนที่ตอบโจทย์
เมื่อพูดถึงการโฆษณาด้วยการสื่อสารผ่านการคิดและเขียนตัวอักษรแล้ว หลายคนก็อาจคุ้นหูกับตำแหน่ง Content Writer ด้วยเช่นกัน แต่การเป็น Content Writer และ Copywriter นั้นแม้จะมีจุดมุ่งหมายที่การสื่อสารข้อความสู่ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายเช่นเดียวกันแต่อาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว จึงจะขออธิบายความแตกต่างของการเป็น Content Writer และ Copywriter
Copywriter คือ ผู้ที่เขียนและคิดคำโฆษณาสู่กลุ่มเป้าหมาย โดย
- เน้นการใช้คำหรือประโยคที่สั้น กระชับและเข้าใจง่าย
- เน้นการส่งเสริมคำโฆษณาให้ตรงประเด็นกับสินค้าและบริการ
- กระตุ้นความต้องการและความสนใจของลูกค้า
- พบเห็นได้ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา สื่อโทรทัศน์และบนสื่อออนไลน์อย่างแบนเนอร์แบบต่างๆ
Content Writer คือผู้ที่เขียนและคิดนำเสนอที่เนื้อหา โดย
- เน้นที่การเขียนบทความยาว ใช้ภาษาที่น่าติดตาม
- เน้นการเล่าเรื่อง การสร้างความเข้าใจ การเพิ่มความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย
- พบเห็นได้ทั้งการเขียนบทความ เขียนข่าวหรือการเขียนบล็อก
Copywriting มีประโยชน์อย่างไร
การทำกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการใช้ Copywrite นั้นมีประโยชน์ต่อแบรนด์ได้อย่างหลากหลาย อันดับแรกคือการสร้างความตระหนักถึงสินค้าและบริการจากกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าที่อาจให้ความสนใจกับสินค้าและบริการ ทำให้เพิ่มความรู้จักแก่สินค้าและบริการของแบรนด์ เช่น การได้ยินประโยคจากการทำ Copywrite แล้วเกิดความสนใจหรือทำให้ได้รู้จักกับแบรนด์เป็นครั้งแรก
ต่อมา Copywrite ยังช่วยสานต่อความสนใจของลูกค้าได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องการออกสินค้าหรือบริการใหม่ การสร้างคำโฆษณา สโลแกนหรือการวางคำบนสื่อออนไลน์จะช่วยเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าเก่าได้รับรู้ถึงสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เกิดการติดกระแสได้ยาวนาน เพิ่มฐานลูกค้าใหม่
นอกจากนี้ ยังช่วยให้สินค้าและบริการเกิดความแพร่หลายได้ง่ายจากการติดกระแสสังคมเหล่านั้น เพราะคำจาก Copywrite จะช่วยเพิ่มภาพจำหรือเป็นภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ หากสามารถทำให้ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายจำได้ง่าย จะช่วยต่อยอดให้เกิดการขยับขยายฐานลูกค้าและเกิดความน่าจดจำอย่างต่อเนื่องได้ การทำกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย Copywrite จะมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในยุคของสังคมออนไลน์ที่เกิดการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
Copywriting มีความสำคัญอย่างไรต่อแบรนด์และธุรกิจ
เนื่องจากความรวดเร็วของกระแสสังคมที่เกิดขึ้นและหายไป การทำสินค้าหรือการบริการให้เกิดการจดจำและได้รับความสนใจจึงเป็นโจทย์ที่การทำธุรกิจจะต้องหาคำตอบและให้ความสำคัญ เพื่อให้สินค้าและการบริการสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ รวมถึงต้องมีความโดดเด่นด้วยภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ การทำ Copywrite มีความสำคัญที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจนี้โดดเด่นขึ้นมาได้
Copywrite สามารถวางภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำได้ง่ายเมื่อใช้ประโยคสั้น ๆ หรือคำที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็นและเกิดการติดหูขึ้น เมื่อกล่าวถึงประโยคเหล่านี้จะต้องนึกถึงแบรนด์นี้เท่านั้น จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญต่อการสร้างความจดจำต่อแบรนด์ เมื่อแบรนด์เป็นที่จดจำได้ การที่จะต่อยอดธุรกิจและดึงความสนใจให้อยู่อย่างต่อเนื่องจึงต้องสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอยู่เสมอ การสื่อสารผ่านการตลาดด้วย Copywrite จึงเป็นการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าด้วยความรวดเร็วให้ทันกระแสสังคมต่าง ๆ ได้
อยากเป็น Copywriter ต้องมีสกิลอะไรบ้าง
เนื่องจากการเขียน Copywrite เป็นสิ่งที่ทำเพื่อให้กลยุทธ์ทางการตลาดได้ผล จึงต้องมีการเขียน Copywrite ที่ดี ผู้เขียนจะต้องมีทักษะการเขียนและการคิดค้นคำเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้ได้ โดยควรมีทักษะดังนี้
- วิเคราะห์ผู้รับสาร ในการเขียนนั้นเป้าหมายหลักอยู่ที่การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็นการวิเคราะห์และทำความรู้จักกับผู้ที่ต้องการให้รับสารที่จะสื่อ ว่ามีความสนใจหรือจะถูกดึงดูดได้อย่างไร จึงจะนำมากำหนดโทนในการเขียนและคิดค้นคำเพื่อการโฆษณา หรือนำมากำหนดทิศทางของการทำการตลาดได้ตรงจุดที่ต้องการ รวมทั้งให้ได้ประสิทธิภาพที่มากขึ้น
- การเขียนกระตุ้นอารมณ์ เนื่องจากการตลาดที่ดีจะต้องสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้กับแบรนด์ การเขียน Copywrite ที่มีประสิทธิภาพจะต้องกระตุ้นให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์ร่วม มีความสนใจและอยากติดตามสารที่แบรนด์ต้องการสื่อ เช่น อาจสร้างการมีส่วนร่วมได้โดยใช้การคลิกลิงก์หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม ไปจนถึงการสร้างคำถามชวนคิดให้กับกลุ่มเป้าหมายในสารของสินค้าและบริการของแบรนด์ ก็จะเป็นการกระตุ้นอารมณ์ให้แบรนด์เกิดความน่าจดจำและทำให้เกิดความสนใจได้ง่ายขึ้น
- เข้าใจ Pain Point ของลูกค้า ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับ Pain Point หรือจุดที่ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายมองเห็นเป็นปัญหาหรือโจทย์ที่ต้องแก้ไข ในการขายสินค้าหรือบริการนั้น การเข้าถึงความต้องการของลูกค้าคือส่วนที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกใช้บริการของลูกค้า หากศึกษา Pain Point และเข้าใจปัญหานั้น แล้วทำการโฆษณาไปยังการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดก็จะเพิ่มโอกาสทางการขายได้มากขึ้น
Copywrite มีวิธีเริ่มต้นเขียนอย่างไร
หากอยากลองเริ่มเขียนงาน Copywrite เพื่อทำการตลาดให้แก่แบรนด์นั้น อันที่จริงแล้วสามารถฝึกฝนได้จากวิธีเริ่มต้นเขียน Copywrite ดังนี้
- ทำความเข้าใจสินค้าและบริการของตนเองให้ชัดเจน จะต้องรู้จักทั้งจุดเด่น จุดด้อย ส่วนที่ต้องการยกขึ้นให้โดดเด่นและแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ สร้างจุดแข็งที่ทำให้สินค้าและบริการของแบรนด์นั้นมีประโยชน์หรือจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
- ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของสินค้าและบริการ อาจเน้นย้ำที่การกระตุ้นว่าทำไมจึงไม่ควรพลาดสินค้าหรือบริการจากแบรนด์
- กำหนดระยะเวลาในการซื้อสินค้าหรือบริการเพื่อกระตุ้นความต้องการของกลุ่มเป้าหมายด้วยความอยากรีบจับจองเป็นเจ้าของ
- แสดงความพิเศษของสินค้า เช่น จำนวนจำกัดหรือเฉพาะเทศกาล
ตัวอย่างการเขียน Copywrite
ในการเขียน Copywrite นั้นเป็นการเขียนและคิดคำเพื่อทำการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและโฆษณาเพื่อเกิดความสนใจ การเขียนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของพื้นที่สื่อโฆษณาแทบทุกประเภทของทุกแบรนด์ ตัวอย่างการใช้ Copywrite ในการทำการตลาดที่คุ้นหูกันดี เช่น
- หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-11
- แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร
- คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท
- จะกัดกี่สีก็ไม่มีดราม่า ด้วยเทรซาเม่
- ซอลท์ส เค็มแต่ดี
สรุป
การเขียน Copywriting แปลว่า การเขียนและคิดคำเพื่อสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้า มีประโยชน์ต่อการทำการโฆษณาแบรนด์และธุรกิจเพราะสามารถสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ กระตุ้นความสนใจของลูกค้าให้มีความอยากติดตามหรือต้องการสินค้าและบริการ ไปจนถึงสร้างความตระหนักและติดตามแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การทำการตลาดด้วยการเขียน Copywrite ยังสามารถเพิ่มการต่อยอดให้กับธุรกิจได้จากความแพร่หลายของการกระจายความน่าจดจำของสินค้า เกิดการขยับขยายฐานลูกค้าได้อย่างกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การตลาดบนโลกออนไลน์สามารถเกิดการส่งต่อบนกระแสสังคมได้อย่างรวดเร็ว การเขียน Copywrite ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำการโฆษณาบนสื่อแทบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์หรือตามป้ายแบนเนอร์ต่าง ๆ จึงต้องทำให้ความใส่ใจกับการเขียนและการคิดสารของสินค้าและบริการนั้นด้วย หากอยากเริ่มเขียน Copywrite เพื่อทำการโฆษณาแบรนด์จึงต้องทำความเข้าใจสินค้าและบริการทั้งจุดเด่น จุดด้อยเพื่อชูจุดแข็งของแบรนด์ให้มีความโดดเด่น เน้นการเข้าถึงลูกค้าอย่างตรงประเด็นว่าทำไมสินค้าของแบรนด์จึงเป็นที่ต้องการและไม่ควรพลาด สร้างภาพจำและภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ เน้นไปที่ความพิเศษของสินค้าและบริการเพื่อกระตุ้นความอยากจับจองเป็นเจ้าของ
หากมีความเข้าใจในสินค้าและกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีแล้ว การเขียน Copywrite ก็จะเป็นเครื่องมืออีกหนึ่งอย่างที่ช่วยนำมาต่อยอดทางการตลาดให้กับธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความน่าจดจำและฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นให้กับแบรนด์ รวมถึงเป็นหนทางที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงด้วย
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
รวมคำถามต่างๆ เกี่ยวกับ Copywrite ที่อาจเป็นประโยชน์กับใครหลายคนที่อยากรู้จักกับ Copywrite ให้มากขึ้น
กรอบของ Copywriting คืออะไร?
Copywriting คือการเขียนคำโฆษณาให้มีความสร้างสรรค์ เป็นศิลปะในการสร้างเนื้อหาที่สามารถโน้มน้าวใจได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตัวอย่างเช่น การสร้างแคมเปญเพื่อโฆษณาลงโซเชียลมีเดีย โน้มน้าวใจลูกค้าให้ซื้อผลิตภัณฑ์อาบน้ำตัวใหม่
Copywriting ต่างกับ Copyediting อย่างไร?
Copywriting คือการสร้างเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเขียนคำโฆษณาที่เป็นลายลักษณ์อักษรต้นฉบับ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือบริการ ในขณะที่ Copyediting คือการแก้ไขคำโฆษณา เน้นที่การตรวจทานและปรับปรุงข้อความที่มีอยู่เพื่อความชัดเจน ความถูกต้อง ไวยากรณ์ เครื่องหมายวรรคตอน และรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วคำโฆษณาจะปราศจากข้อผิดพลาดและมีความสอดคล้องกัน
อยากเป็น Copywriter เริ่มต้นอย่างไร?
ผู้ที่เริ่มต้นอยากทำ Copywrite สามารถทำได้โดยศึกษาพื้นฐานของการตลาด การโฆษณา และจิตวิทยามนุษย์ รวมไปถึงฝึกฝนการเขียนคำโฆษณาประเภทต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างพอร์ตโฟลิโอเพื่อขอคำติชมจาก Copywriter ที่มีประสบการณ์ หรือไม่ก็รับประสบการณ์จริงผ่านการฝึกงานหรือการทำงานอิสระ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะไปเรื่อย ๆ