Table of Contents

Categories

Recent Posts

STP Marketing คืออะไร พร้อมตัวอย่างการตลาดของแบรนด์ที่น่าสนใจ!

STP Marketing คืออะไร พร้อมตัวอย่างการตลาดของแบรนด์ที่น่าสนใจ!

Table of Contents

KEY TAKEAWAYS

  • STP Marketing คือเครื่องมือทางการตลาดที่เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางธุรกิจ ประกอบไปด้วย
    • Segmentation หรือการแบ่งส่วนตลาด คือการแบ่งประเภทลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อย เช่น พฤติกรรมในการซื้อ ข้อมูลสถานที่ ข้อมูลประชากร เป็นต้น
    • Targeting หรือการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการเข้าถึง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Size, Difference, Profitability, Reachability และ Benefits
    • Positioning หรือการกำหนดตำแหน่งของสินค้าหรือบริการ ที่เป็นการสร้างจุดยืนหรือคุณค่าของแบรนด์ที่โดดเด่นและแตกต่าง ทำให้ลูกค้าจดจำและสนใจแบรนด์ได้ในมุมมองที่เหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ
  • ตัวอย่างการทำ STP ของแบรนด์ดังที่น่าสนใจได้แก้ TESLA, NIKE, STARBUCKs, McDonald’s, Apple และ Coca-Cola ที่มีความแตกต่างกันตั้งแต่การแบ่งส่วนการตลาด การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญที่สุดคือการจัดวางตำแหน่งของแบรนด์

เมื่อเริ่มทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ คือ ความเข้าใจตลาดและลูกค้า ควรมีการวางแผน เข้าใจภาพรวมในการดำเนินแผนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้กลยุทธ์ STP Marketing นั้นจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม 

บทความนี้ได้นำข้อมูลที่ต้องรู้เกี่ยวกับ STP มาไว้ให้แล้ว ตั้งแต่การทำ STP Marketing พร้อมแนวทางการสร้างกลยุทธ์ STP Marketing อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงตัวอย่างการทำ STP ของแบรนด์ดังต่างๆ ทั่วโลก มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

การตลาด STP คืออะไร?

การตลาด STP คืออะไร?

การตลาด STP หรือ STP Marketing คือเครื่องมือทางการตลาดที่เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางธุรกิจ ช่วยธุรกิจในการทำความเข้าใจตัวแบรนด์และลูกค้า พร้อมต่อยอดการวางแผน การแข่งขัน เพื่อการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในตลาด โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

  • Segmentation หรือการแบ่งส่วนตลาด 
  • Targeting หรือการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย 
  • Positioning หรือ การกำหนดตำแหน่งของสินค้าหรือบริการ

นอกจากนี้ STP จะช่วยจำแนกลูกค้าที่เหมาะสมตามที่วางเป้าหมายไว้ ทำให้ใช้ต้นทุนในการทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม STP ยังมีวิธีสื่อสารต่อกลุ่มลูกค้า เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ และเน้นลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ทำความเข้าใจได้ดีว่าลูกค้าที่ต้องการคือใคร และจะเข้าถึงได้อย่างไร เพราะไม่มีกลุ่มลูกค้าที่ดีที่สุด มีแต่กลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการที่สุดเท่านั้น

โดยองค์ประกอบ 3 อย่าง Segmentation Targeting Positioning คืออะไร? แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง มาดูกัน

Segmentation การแบ่งส่วนตลาด

Segmentation หรือการแบ่งส่วนตลาด คือการแบ่งประเภทลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อย ช่วยให้ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ในการทำ STP Marketing เพราะช่วยให้ธุรกิจประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินการได้ละเอียดมากขึ้น 

นอกจากนี้ Segmentation ยังช่วยให้คาดเดาพฤติกรรม จัดสรรเวลา และทรัพยากรตามลำดับความสำคัญได้ แถมยังเลือกให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยจะแบ่งตามกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันในหลากหลายด้านธุรกิจ เช่น

  • Behavioral แบ่งตามพฤติกรรมในการซื้อ ความถี่ในการใช้บริการ หรือซื้อ รวมไปถึงสถานะของผู้ใช้ ช่วงเวลาและโอกาสในการซื้อต่างๆ เน้นข้อมูลการกระทำของลูกค้า 
  • Geographic แบ่งตามข้อมูลสถานที่ เช่น ประเทศ จังหวัด สภาพอากาศ หรือลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้น เป็นการแบ่งตามกลุ่มการตลาดที่ง่ายที่สุด เพราะแบ่งได้เลยตามท้องถิ่นที่อยู่อาศัย
  • Demographic แบ่งตามข้อมูลประชากร เช่น ช่วงอายุ เพศ อาชีพ รายได้ ศาสนา หรือสถานะทางครอบครัว 
  • Psychographic แบ่งตามหลักจิตวิทยาต่างๆ เช่น ไลฟ์สไตล์ ลักษณะนิสัย คุณค่าที่ยึดถือ สิ่งที่สนใจ ความเชื่อ ข้อมูลทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเฉพาะบุคคล จะมีความยากในการระบุมากกว่าเมื่อเทียบกับข้อมูลประเภทอื่น โดยอาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม หรือทำแบบสำรวจ เป็นต้น

ในการแบ่งส่วนตลาดจะช่วยทำให้ตลาดชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมีวิธีแบ่งกลุ่มที่น่าสนใจอยู่ คือ การคำนวณ RFM Metrics ซึ่งประกอบไปด้วย 

  • Recency เวลาล่าสุดที่ซื้อสินค้า 
  • Frequency ความถี่ในการซื้อสินค้า 
  • Monetary การซื้อสินค้าโดยรวม

เมื่อใช้ RFM Metrics ในการแบ่งส่วนตลาด จะมีลูกค้าที่มีค่า RFM แตกต่างกันไป และจะทำให้สามารถวางแผนการตลาดกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ เช่น ลูกค้าที่มีค่าความถี่ในการซื้อต่ำ ก็อาจจะต้องกระตุ้นทำกลยุทธ์ให้มีการซื้อที่เพิ่มขึ้น หรือลูกค้าที่มีค่า R ต่ำ หรือเวลาล่าสุดที่ซื้อห่างมานานพอสมควรแล้ว ก็อาจจะต้องมีการทักทาย และเรียกร้องความสนใจให้ลูกค้าให้กลับมาซื้ออีก อาจจะเริ่มจากการส่งอีเมล เป็นต้น 

หรือในการสร้าง Persona ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ก็ช่วยในการแบ่งส่วนตลาดได้ เช่น ลูกค้าเป็นใคร กลุ่มช่วงอายุเท่าไร ติดต่อผ่านช่องทางไหนเป็นหลัก พฤติกรรมการซื้อเป็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสำหรับการวางแผนการตลาดด้วยเช่นกัน

Targeting กลุ่มเป้าหมาย

เมื่อเราแบ่งกลุ่มลูกค้าออกมาแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือวางแผนว่าธุรกิจจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มใด หรือ การตั้งกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) จากที่ได้ทำการแบ่งกลุ่มไว้ในส่วนแรก เพราะเราไม่สามารถขายสินค้าให้กับทุกคนได้ จึงต้องแบ่งและเลือกกลุ่มที่ต้องการเป็นหลัก ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยยึดปัจจัย 5 ข้อนี้ คือ

  • Size ขนาดและความสามารถในการเติบโตของกลุ่มลูกค้า
  • Difference ความแตกต่าง หาความแตกต่างของกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม เพราะหากไม่ทำ อาจนำไปสู่การทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่จำเป็น
  • Profitability ความสามารถในการทำกำไร มูลค่าตลาดของกลุ่มลูกค้า ความสามารถในการจ่าย และระยะเวลาที่ลูกค้าจะสร้างกำไรให้กับแบรนด์
  • Reachability ความยากง่ายในการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอีกด้วย
  • Benefits ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน สามารถดึงดูดกลุ่มต่างๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์นมที่มาจากพืช โดยกลุ่ม A ต้องการผลิตภัณฑ์นมที่ปราศจากการทารุณกรรมสัตว์ และส่วนกลุ่ม B ต้องการผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ใช่นมวัว เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจาก 5 ปัจจัยนี้แล้ว ก็จะสามารถประเมินความสำคัญของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ว่าจะวาง STP Marketing ในลักษณะใดเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ตามที่วางไว้

Positioning การจัดวางตำแหน่งของแบรนด์หรือสินค้า

Positioning หรือการจัดวางตำแหน่งของแบรนด์หรือสินค้า คือ จุดยืนหรือคุณค่าที่แบรนด์นำเสนอต่อการรับรู้ของลูกค้า เนื่องจากการเข้าใจการรับรู้ของลูกค้าต่อแบรนด์ จะช่วยให้สามารถประเมินและจัดวางภาพรวมธุรกิจว่ามีจุดอ่อน และจุดแข็งอย่างไรบ้าง เมื่อมีลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้า หรือมาใช้บริการ ลูกค้าจะคิดถึงและคาดหวังอะไรบ้าง

หากวางตำแหน่งของแบรนด์ได้ดี และสามารถเติมช่องว่างที่ขาดอยู่ในตลาดได้ จะสร้างความแตกต่างทำให้แบรนด์โดดเด่นออกมาจากคู่แข่งรายอื่นๆ  ในตลาดได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นต้องหาสิ่งที่ทำให้แบรนด์โดดเด่นขึ้นมา โดยทำได้ดังนี้

  1. สร้างกราฟคุณลักษณะของสินค้า และการบริการของธุรกิจ
  2. นำแบรนด์ของคู่แข่งมาวางเทียบกันในกราฟ เพื่อดูว่าสินค้าและบริการอยู่ในตำแหน่งไหน
  3. ระบุว่าตรงไหนที่เป็นช่องโหว่ มีอะไรที่แตกต่างออกมาจากคู่แข่งได้บ้าง โดยสังเกตได้จาก คุณลักษณะและประโยชน์ของสินค้า ราคาสินค้า คุณภาพสินค้า เป็นต้น

โดยมีปัจจัย 3 อย่างในการวางตำแหน่งที่จะช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อคอยสังเกตเสมอว่าคู่แข่งไปอยู่ที่จุดไหนแล้ว ดังนี้

  • การวางตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ เพิ่มภาพลักษณ์ให้ตนเอง ความเป็นเจ้าของ
  • การวางตำแหน่งหน้าที่ การแก้ปัญหาและมอบประโยชน์ให้แก่ลูกค้า 
  • การวางตำแหน่งเชิงประสบการณ์ เน้นการเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลูกค้ามีต่อผลิตภัณฑ์ หรือต่อการบริการ
7 ขั้นตอนการสร้างกลยุทธ์ STP Marketing สำหรับธุรกิจ

7 ขั้นตอนการสร้างกลยุทธ์ STP Marketing สำหรับธุรกิจ

เมื่อได้ทำความรู้จักกับการทำ STP Marketing กันไปแล้ว มาดูตัวอย่างการทำ STP Marketing ที่น่าสนใจ ใช้ได้จริง เพื่อนำไปปรับให้เข้ากับธุรกิจที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ไปดูกัน

1. กำหนดตลาด

เนื่องจากตลาดทางธุรกิจนั้นกว้างขวางมาก นั่นเลยเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องกำหนดและแบ่งย่อยออกมา และกำหนดสิ่งที่ต้องการทำให้ชัดเจน เริ่มด้วยการวิเคราะห์ตลาด โดยทั่วไป จะมี 3 อย่างที่เริ่มวิเคราะห์ ได้แก่

  • TAM (Total Available Market) คือ ตลาดที่มีอยู่ทั้งหมด วิเคราะห์ตลาดที่ใหญ่ที่สุดว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหนของโอกาสในการสร้างรายได้
  • SAM (Serviceable Available Market) คือ ตลาดที่มีให้บริการ วิเคราะห์ว่าคุณเหมาะกับส่วนไหนของตลาด
  • SOM (Serviceable Obtainable Market) คือ ตลาดที่สามารถให้บริการได้ วิเคราะห์ว่าคุณสามารถเข้าถึงส่วนใดของตลาดได้บ้าง

2. สร้างกลุ่มคนที่แบ่งส่วนไว้

เมื่อกำหนดตลาดได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปในการทำ STP คือการแบ่งกลุ่มย่อย โดยใช้ตัวแปรต่างๆ ในการแบ่ง เช่น 

  • พฤติกรรม (Behavioral )
  • ภูมิศาสตร์ (Geographic )
  • ข้อมูลประชากร (Demographic )
  • จิตวิทยา (Psychographic)

โดยตัวแปรเหล่านี้จะช่วยให้เข้าถึงแง่มุมต่างๆ ของแต่ละกลุ่มคนได้ ว่าใครเหมาะกับบริการ หรือผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ และมีแนวโน้มที่จะซื้อได้มากที่สุด เพื่อให้ทำการตลาดที่เฉพาะเจาะจงได้ดีมากยิ่งขึ้น

3. สร้างโปรไฟล์กลุ่ม

ขั้นต่อมาของการทำ STP Marketing คือการสร้างโปรไฟล์กลุ่ม เป็นตัวช่วยให้คำนิยามสำหรับแต่ละกลุ่มได้ โดยในแต่ละโปรไฟล์ ควรมีข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น

  • พฤติกรรมต่างๆ
  • ข้อมูลส่วนตัว
  • ความชอบในแบรนด์
  • ลักษณะนิสัยการใช้จ่าย 
  • สถานภาพครอบครัว

เพื่อให้ธุรกิจของคุณมีความเข้าใจกับผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าในแต่ละกลุ่ม จะได้นำมาเปรียบเทียบเพื่อดูจุดประสงค์ด้านกลยุทธ์ต่อไปได้

4. ประเมินความน่าดึงดูดเชิงพาณิชย์

การทำความเข้าใจผู้บริโภค ช่วยให้ประเมินว่ากลุ่มใดที่สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างสูงสุดจากการลงทุน พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความอ่อนไหวต่อราคา ความภักดีต่อตัวแบรนด์ เป็นต้น

5. เลือกกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อได้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายมาแล้ว ตอนนี้ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจว่ากลุ่มใดที่เหมาะสมที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ โดยคำนึงถึงกลยุทธ์ของธุรกิจ ความน่าดึงดูด และการแข่งขันที่มีอยู่ร่วมด้วย

6. พัฒนากลยุทธ์การวางตำแหน่ง

เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ควรกำหนดวิธีการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงคู่แข่งรายอื่นๆ และเน้นชิงส่วนแบ่งการตลาดมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งสามารถอิงได้จากการประเมินความน่าดึงดูด และกลุ่มเป้าหมายก่อนหน้านี้ เพื่อพิจารณาว่ากลยุทธ์รูปแบบใดที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเฉพาะได้

7. เลือกส่วนประสมทางการตลาด

ขั้นตอนสุดท้าย คือการนำกลยุทธ์ไปใช้จริง ซึ่งจะต้องเลือกส่วนประสมทางการตลาดที่สนับสนุนการวางตำแหน่งและช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้ โดยส่วนประสมทางการตลาดจะประกอบไปด้วย 4P คือ 

  • Product หรือ ผลิตภัณฑ์ ให้คำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ความหลากหลาย คุณภาพ การออกแบบ บรรจุภัณฑ์ การบริการหรือความสะดวกในการใช้งาน
  • Price หรือ ราคา จะคำนึงถึงปัจจัยการกำหนดราคา ราคาเจาะตลาด หรือกลุ่มเป้าหมายมีความอ่อนไหวต่อราคาไหม
  • Place หรือ สถานที่ โดยจะคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ช่องทางการขายไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน หรือขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ 
  • Promotion หรือ การส่งเสริมการขาย โดยปัจจัยต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ โซเชียลมีเดีย การตลาดโดยอินฟลูเอนเซอร์ การสื่อสารทางการตลาด หรือการสื่อสารคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
ตัวอย่าง STP ของธุรกิจหรือแบรนด์ชั้นนำ

ตัวอย่าง STP ของธุรกิจหรือแบรนด์ชั้นนำ

เมื่อได้ทำความรู้จักกับการทำ STP กันไปแล้ว บทความนี้ยังได้นำ STP ของแบรนด์ดังต่างๆ ทั่วโลก มาใช้เป็นกรณีศึกษาการทำ STP analysis ของแบรนด์เหล่านั้น โดยจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น ไปดูกัน

ตัวอย่าง STP ของแบรนด์ TESLA

  • Segmentation ในการแบ่งส่วนการตลาดของ TESLA นั้น จะจัดประเภทบุคคลออกมา ตามช่วงอายุ ตามฐานะทางสังคม และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเลือกปรับใช้ส่วนประสมทางการตลาดที่เหมาะสมที่สุดกับกลุ่มลูกค้า
  • Targeting ของ TESLA จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมัน และเป้าหมายของ TESLA ก็เลือกจะให้คุณค่าสิ่งต่างๆ ตามการแบ่งส่วนการตลาด ซึ่งคือการยึดตลาดลูกค้าระดับกลางและระดับสูงที่ทุ่มเทให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้งานที่คุ้มค่าในระยะยาว
  • Positioning ของ TESLA นั้นจะเน้นขายเรื่องราวของการพัฒนาอยู่ตลอด และยังวางแผนให้มีรถยนต์ในราคาประหยัดขึ้น ซึ่งนี่เป็นความได้เปรียบของ TESLA ที่สามารถใช้เทคโนโลยีปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัว อาจจะมีปัญหาด้านทรัพยากรที่จำกัด เทคโนโลยีทันสมัยขึ้น ผู้ผลิตรายใหม่หลายรายก็พยายามเข้าสู่ตลาด

ตัวอย่าง STP ของแบรนด์ NIKE

  • Segmentation NIKE เป็นสินค้าที่ทุกคนต้องใช้งานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเพศไหน หรือกลุ่มอายุเท่าไร แต่แบรนด์จะตีตลาดให้แคบลงด้วยการเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าตามความต้องการทางด้านกีฬาผ่านเสื้อผ้า รองเท้าที่สวมใส่สบาย และอุปกรณ์กีฬาที่จำเป็น
  • Targeting NIKE ได้มุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการทางด้านอุปกรณ์ทางกีฬาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าสำหรับการวิ่ง เข้ายิม ซ้อมบอล ตีเทนนิส กอล์ฟ กรีฑา หรือแม้แต่การเล่นโยคะ นอกเหนือจากการจัดหารองเท้าที่มีคุณภาพแล้ว NIKE ยังมีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ตอบโจทย์กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับแฟชั่นด้วยเช่นกัน
  • Positioning NIKE ได้วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทำให้ดูเหมือนว่าใครๆ ก็สามารถเล่นกีฬากรีฑาได้เช่นกัน และมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีคุณภาพระดับพรีเมียม และยังสร้างความแข็งแกร่งในด้านแฟชั่นอีกด้วย Nike จึงได้สร้างความเชื่อมั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดทุกครั้งที่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์กีฬา

ตัวอย่าง STP ของแบรนด์ STARBUCKs

  • Segmentation STARBUCKs ใช้วิธีการแบ่งส่วนการตลาดออกเป็นส่วนย่อย ทั้งในส่วนข้อมูลประชากร และเชิงภูมิศาสตร์ โดย Starbucks จะสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน และเช่นเดียวกัน Starbucks มีร้านหลายแห่ง

    โดยในแต่ละร้านก็จะสะท้อนความชอบและรสนิยมของตลาดท้องถิ่น ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละประเภท เช่น กาแฟ ขนม เป็นต้น และ Starbucks เน้นกลุ่มที่สร้างผลกำไร ก็คือกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ Starbucks จะมุ่งเน้นไปที่พนักงานของสำนักงานที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง
  • Targeting STARBUCKs มุ่งเน้นไปที่กลุ่มพนักงานที่มีรายได้ปานกลาง ไปจนถึงรายได้สูง ที่กำลังมองหาสินค้าระดับพรีเมียม และยังมีสาขาที่หลากหลายกระจัดกระจายทั่วโลก แบรนด์จึงนำเสนออาหารท้องถิ่นที่แสดงถึงลักษณะทางวัฒนธรรมในหมู่ลูกค้า เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่เดินทางไปต่างประเทศ ต้องอยากไปลิ้มลองอาหารใน STARBUCKs ของแต่ละประเทศด้วยนั่นเอง
  • Positioning STARBUCKs เน้นกลยุทธ์ที่สร้างภาพลักษณ์ และรักษาภาพลักษณ์ให้กับลูกค้าภายในตลาด ลูกค้าสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ของคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ Starbucks ได้วางตำแหน่งไว้แบบที่ไม่เหมือนใคร

    โดยกลยุทธ์การวางตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับลูกค้า เพราะต้องให้มากกว่าที่ลูกค้าต้องการ เช่น มีบริการฟรี Wifi สถานที่สะดวกสบาย พักผ่อนได้อย่างสบายใจ บางที่มีบริการ Drive-Thru สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ต้องการเข้าไปนั่งในร้าน และ Starbucks ยังเป็นผู้ฟังด้านการออกแบบพลังงานและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ตัวอย่าง STP ของแบรนด์ McDonald’s

  • Segmentation McDonald’s ใช้กลยุทธ์การแบ่งส่วนตลาดหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย โดยเน้นกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว พร้อมทั้งปรับตัวตามเทรนด์สุขภาพเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
  • Targeting McDonald’s แบ่งกลุ่มเป้าหมายโดยเลือกบางส่วนของตลาดเป้าหมายเท่านั้น และจะมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ และอายุของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ จากนั้นจะปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และดึงดูดความต้องการได้ในเวลาเดียวกัน
  • Positioning McDonald’s ใช้กลยุทธ์การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์แบบยืดหยุ่น โดยปรับเปลี่ยนส่วนประสมทางการตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีนี้ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ฐานลูกค้าเดิม และยังดึงดูดความต้องการของกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ในเวลาเดียวกัน

ตัวอย่าง STP ของแบรนด์ Apple

  • Segmentation Apple ใช้กลยุทธ์การแบ่งส่วนตลาดที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ พัฒนาตามอายุ ไลฟ์สไตล์ และอาชีพของลูกค้าเป้าหมาย แบ่งส่วนตลาดตามภูมิศาสตร์ โดยการขยายสาขาทั่วโลก และการแบ่งส่วนตลาดตามพฤติกรรม โดยการพัฒนาการใช้งานสินค้าตามการใช้งานของกลุ่มลูกค้าเรื่อยๆ
  • Targeting Apple แบ่งกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับบน ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและนวัตกรรมมากกว่าราคา บริษัทวางตำแหน่งตัวเองเป็นแบรนด์พรีเมียมที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพสูง ด้วยฟังก์ชันและการออกแบบที่ล้ำสมัย กลยุทธ์นี้ช่วยให้แอปเปิลสามารถสร้างความภักดีต่อแบรนด์และรักษาส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Positioning Apple ใช้กลยุทธ์การวางตำแหน่งแบรนด์โดยมอบประสบการณ์ที่พิเศษและการนำเสนอนวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างเทคโนโลยีที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย ช่วยให้ Apple สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว

ตัวอย่าง STP ของแบรนด์ Coca-Cola

  • Segmentation Coca-Cola  ใช้กลยุทธ์การแบ่งส่วนตลาดโดยพิจารณาปัจจัยทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ จิตวิทยา และพฤติกรรม วิธีนี้ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
  • Targeting Coca-Cola แบ่งกลุ่มเป้าหมายโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสชาติ ความใส่ใจสุขภาพ หรือไลฟ์สไตล์
  • Positioning Coca-Cola ใช้กลยุทธ์การวางตำแหน่งแบรนด์ที่ให้ความสดชื่น สร้างความสุข และเชื่อมโยงกับช่วงเวลาที่ดีในชีวิต บริษัทนำเสนอตัวเองเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพสูง มีความหลากหลาย และมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

สรุป

STP Marketing คือเครื่องมือทางการตลาดที่เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Segmentation, Targeting และ Positioning โดยทั้งสามองค์ประกอบจะช่วยวางแผนดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้า หรือใช้บริการ และช่วยจำแนกลูกค้าที่เหมาะสมตามที่วางเป้าหมายไว้ ทำให้ใช้ต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการสร้าง STP Marketing สามารถทำได้ตามที่บทความนี้ได้กล่าวไปข้างต้น หรือศึกษาได้จากแบรนด์ต่างๆ ที่บทความนี้ได้นำมาวิเคราะห์ไว้ให้แล้ว เพื่อปรับให้เข้ากับธุรกิจต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ STP Marketing

การกำหนด Positioning ใน STP Marketing มีกี่แบบ?

การกำหนด Positioning ใน STP Marketing มีจุดยืน 3 อย่างหลักๆ คือ

  • จุดยืนด้านความแตกต่าง (Differentiation)
  • จุดยืนด้านอารมณ์ (Emotional)
  • จุดยืนด้านการใช้งาน (Functional

นอกจาก STP Marketing แล้วยังมีเครื่องมือตัวอื่นในการวิเคราะห์อีกหรือไม่?

Five Force Model, SWOT สามารถทำได้เหมือนกัน แต่จะเหมาะกับการดูภาพรวมธุรกิจมากกว่า แต่หากต้องการดูและเจาะลึกลงไปว่าแบรนด์และสินค้าควรมีกลยุทธ์อะไรในช่วงต่อไป STP ตอบโจทย์มากกว่า

STP Marketing สำคัญกับการตลาดออนไลน์อย่างไร?

STP Marketing ช่วยให้ธุรกิจสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างตรงกลุ่ม ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้มากยิ่งขึ้น และหากมีการทำคอนเทนต์ออนไลน์ที่เหมาะสม ก็จะยิ่งส่งเสริมการซื้อขายออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

Related Articles

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง