ในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนในปัจจุบัน เห็นได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างพากันพัฒนาแชตบอต AI และหุ่นยนต์ประดิษฐ์ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน และพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น!
หนึ่งใน AI ที่กำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่พูดถึงคือ Generative AI ที่ถึงแม้จะเป็นตัวช่วยในการทำงานด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดี แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงว่ายังมีผู้ใช้มากมายที่นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ และแอบอ้างความเป็นเจ้าของบางอย่าง ทำให้หลายๆ คนจึงออกมาต่อต้านและมองว่าเจ้า AI ตัวนี้คือภัยร้ายที่ให้โทษมากกว่าคุณ
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ Generative AI ให้แน่ชัดว่ามันคืออะไร มีประเภทใดบ้าง สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไร พร้อมเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียให้ได้เห็น ไปดูกัน
ทำความรู้จัก Generative AI คืออะไร?
Generative AI คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างเนื้อหาใหม่ที่หลากหลายแบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถสร้างเนื้อหาทุกอย่างได้เองในแบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความช่วยเหลือจากมนุษย์ โดยเนื้อหาที่ Generative AI สร้างขึ้นก็สามารถอยู่ในหลายรูปแบบทั้งข้อความ รูปภาพ เพลง หรือแม้แต่วิดีโอ
จริงๆ แล้ว Generative AI ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนขยายของ Machine Learning ซึ่งออกแบบให้สามารถคาดการณ์และจัดหมวดหมู่ของข้อมูลโดยวิเคราะห์จากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี โมเดลของ Generative AI ก็ออกแบบมาให้นำข้อมูลและโครงสร้างเดิมมาสร้างเนื้อหาใหม่ได้ด้วย หลายๆ อุตสาหกรรมจึงเริ่มนำ Generative AI ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการตลาด การทำธุรกิจ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการเขียนโคด เพื่อให้การทำงานง่ายและเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
ไขข้อข้องใจ generative AI ต่างจาก AI อย่างไร
AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือที่รู้จักกันในชื่อของปัญญาประดิษฐ์ นี่คือชุดของอัลกอริทึม ซึ่งเป็นลักษณะของตัว “แก้ปัญหา” ที่สามารถอธิบายเป็นขั้นตอนได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาได้โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์แนะนำวิธีการ
ส่วน Generative AI เป็นลักษณะของตัว “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model ซึ่งช่วยให้สร้างผลลัพธ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการสร้างคำตอบจากการป้อนคำสั่ง การสร้างงานกราฟิก หรือแม้แต่การสร้างเสียงดนตรี เป็นต้น
Generative AI ทำงานอย่างไร?
หลักการทำงานหลักๆ คือ Generative AI นั้นทำงานได้ด้วยโครงข่ายประสาทเทียม โดยมีการอ้างอิงข้อมูลจากโครงข่ายต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาได้สมจริงมากที่สุด ซึ่งโครงข่ายประสาทเทียมที่ Generative AI มักใช้ข้อมูลมาอ้างอิงนั้นก็ได้ข้อมูลมาสมองมนุษย์อีกที นี่จึงเป็นเหตุผลที่การสร้างงานของ Generative AI จะคล้ายคลึงการทำงานของมนุษย์เป็นอย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับการสร้างข้อมูลเกี่ยวกับสถิติ Generative AI ก็จะอ้างอิงข้อมูลจากแบบจำลองสถิติ (Statistical models) ด้วย นอกจากนี้ Generative AI ยังประกอบไปด้วยโครงข่าย GAN (Generative Adversarial Network) ซึ่งช่วยให้ Generative AI สามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีความสมจริง และสามารถสร้างผลงานออกมาได้เองโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกได้ว่า เรียนรู้ได้แบบไม่มีผู้กำหนด (Unsupervised Learning)
กล่าวง่ายๆ ก็คือ หลักการสร้างผลลัพธ์ของ Generative AI จะเริ่มต้นที่การเรียนรู้ คิด และจดจำสิ่งต่างๆ จากข้อมูลต่างๆ ที่อ้างอิงมา จากนั้นก็ใช้ข้อมูลเหล่านั้นสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น การสร้างภาพและวิดีโอโดยใช้การอ้างอิงจากโมเดล Deep Learning หรือแม้แต่การสร้างข้อความโดยใช้ข้อมูลอ้างอิงจากโมเดลด้านภาษา (Natural Language Processing หรือ NLP) เพื่อให้สามารถสร้างข้อความใหม่ขึ้นมาได้แบบอัตโนมัติ เป็นต้น
Generative AI มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เมื่อเห็นกันไปแล้วว่า Generative AI มีหลักการทำงานอย่างไร ต่อไปก็ถึงเวลาที่จะมารู้กันแล้วว่า Generative AI มีประเภทใดบ้าง
1. ประเภทข้อความ (Text Generation)
Generative AI แบบข้อความ (Text Generation) คือ Generative AI รูปแบบหนึ่งที่สามารถทำความเข้าใจคำสั่งและสร้างบทสนทนาโต้ตอบเพื่อให้คำตอบออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและให้ประโยชน์กับผู้ถาม โดยมากการใช้ Generative AI แบบข้อความนี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหาข้อมูลเพื่อมาสร้างงานเช่น การทำงานคอนเทนต์ (Content Marketing) การทำงานขาย การเขียนอีเมลโต้ตอบกับลูกค้า หรือแม้แต่การทำ SEO เพื่อเพิ่มให้เว็บไซต์ติดอันดับในหน้าค้นหา
โดยตัวอย่าง Generative AI แบบข้อความที่กำลังเป็นที่นิยมก็คือ ChatGPT จากบริษัทไมโครซอฟต์ และ Bard AI ที่ผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google ซึ่งทั้งสองคือแชตบอต AI ที่ผู้ใช้มักเข้าไปแชตโต้ตอบเพื่อสอบถามข้อมูล ซึ่งความโดดเด่นของแชตบอตทั้งสองก็อยู่ที่การใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างคำตอบที่ครอบคลุมข้อมูลได้มากที่สุด ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนในหลายอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง
2. แบบโคด (Code Generation)
Generative AI ยังมีประเภทที่ช่วยเขียนโคดด้วย โดยหลักการทำงานของ Generative AI ประเภทนี้จะเขียนโคดโดยอ้างอิงจากระบบประมวลผล Large Language Model (LLM) ซึ่งการทำงานก็จะคล้ายๆ กับ Generative AI แบบข้อความคือ ถ้าคุณต้องการเขียนโคดแบบใด มีความต้องการแบบไหน ก็สามารถป้อนคำสั่งที่เรียกว่า Prompt เข้าไปในโปรแกรม Generative AI จากนั้น Generative AI ก็จะสร้างโคดในแบบที่ต้องการขึ้นมาให้ Generative AI ประเภทนี้จึงเหมาะกับนักเขียนโคดมือใหม่ที่ต้องการตัวช่วยเพื่อให้การเขียนโคดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ประเภทรูปภาพ (Image Generation)
Generative AI ประเภทรูปภาพสามารถสร้างภาพได้จากการป้อนคำสั่ง คีย์เวิร์ด หรือข้อความที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่อยู่ในสายงานดีไซน์แต่ไม่สามารถทำกราฟิกได้ เพราะ Generative AI ตัวนี้นอกจากจะสร้างภาพออกมาตามคำสั่งได้แล้ว ยังมีฟีเจอร์สำคัญต่างๆ ที่ช่วยปรับมุมมอง ขนาด หรือแม้แต่จัดแต่งภาพตามความต้องการได้ด้วย
4. ประเภทเสียง (Speech Generation)
Generative AI รูปแบบเสียง คือการที่ซอฟต์แวร์สร้างเสียงมนุษย์ขึ้นมาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีของการเขียนตัวอักษรสั่งการลงไป การเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ของระบบ หรือแม้แต่การเปลี่ยนจากข้อความเป็นเสียง ซึ่ง Generative AI รูปแบบนี้ถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมมาก ไม่ว่าจะเป็นงานด้านบริการ การสื่อสาร การโฆษณา และที่สำคัญในวงการเพลง ก็เริ่มมีการนำไปใช้เพื่อสร้างเสียงดนตรีอัตโนมัติอีกด้วย
5. ประเภทวิดีโอและ 3D (Video & 3D Generation)
Generative AI ยังพัฒนามาถึงจุดที่สร้างวิดีโอและ 3D ได้ด้วย โดย Generative AI รูปแบบนี้จะมีหลักการทำงานคล้ายกับรูปแบบการสร้างรูปภาพ กล่าวคือ ซอฟต์แวร์จะมีฟีเจอร์ที่ช่วยสร้างและแปลงวิดีโอรวมถึง 3D โดยเน้นการคาดคะเนเฟรมวิดีโอแล้วสร้างเฟรมถัดไปขึ้นมาให้อัตโนมัติ และในส่วนของ 3D นั้น ก็สามารถใช้ AI สร้าง 3D ขึ้นมาได้จากการป้อนคำสั่งข้อความเข้าไป ซึ่งช่วยให้การทำวิดีโอและ 3D ของเหล่านักตัดต่อประหยัดเวลาและสะดวกมากขึ้นด้วย
Generative AI กับการนำไปใช้ในทางธุรกิจ
Generative AI ถือเป็นความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจอย่างมากในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพ การประหยัดเวลาเพื่อให้งานถูกส่งออกมาอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ สำหรับทำการตลาดเพื่อให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด
สร้างไอเดียในการทำคอนเทนต์ให้สดใหม่
ประโยชน์ทางธุรกิจอย่างแรกก็คือ Generative AI นำมาใช้หาไอเดียสร้างคอนเทนต์ได้ ยิ่งในยุคนี้คอนเทนต์คือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ การใช้ Generative AI มาช่วยก็จะทำให้ได้ไอเดียที่สดใหม่และสร้างสรรค์มากกว่าเดิม โดย Generative AI ทำได้ตั้งแต่การมอบไอเดียตามหัวข้อที่คุณสนใจ รวบรวมข้อมูลที่จำเป็น พร้อมกันนั้น ยังสามารถปรับปรุงหรือให้คำแนะนำเพื่อให้คอนเทนต์โดดเด่นมากกว่าเดิมได้ด้วย ปัจจุบัน การให้ Generative AI ช่วยแนะนำไอเดียก็ไม่ได้มีแค่รูปแบบเนื้อหาหรือบทความเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปภาพและวิดีโอด้วย
ส่งเสริมการขาย
งานขายถือเป็นงานสำคัญอีกอย่างหากต้องการเติบโตทางธุรกิจ โดย Generative AI ก็นำมาช่วยส่งเสริมการขายตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการที่ทีมขายอาจให้ Generative AI ช่วยเขียนอีเมลโต้ตอบกับลูกค้า ใช้ Generative AI ปรับแต่งแผนการขายเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าของเรามากที่สุด นอกจากนี้ บางครั้งทีมขายอาจใช้ Generative AI วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำการตลาดแบบ Personalized Marketing ได้ด้วย
ดูแลลูกค้าได้อัตโนมัติ
Generative AI ช่วยอำนวยความสะดวกในส่วนของงานบริการลูกค้าได้เช่นกัน โดยหากทำธุรกิจออนไลน์ก็อาจใช้ระบบ AI แชตบอตตั้งโปรแกรมตอบแชตอัตโนมัติเพื่อให้แบรนด์สามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้ 24 ชั่วโมง การนำ Generative AI มาใช้ตรงนี้นอกจากจะตอบโจทย์ด้านความรวดเร็วและสะดวกสบายสำหรับลูกค้าแล้ว ยังเป็นการที่แบรนด์จะประหยัดทรัพยากรบุคคล ไม่จำเป็นต้องจ้างแอดมินมาสแตนด์บายตอบคำถามลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากการที่ Generative AI จะสามารถสร้างสรรค์ผลผลิตได้มากมายไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ รูปภาพ วิดีโอ แล้ว Generative AI ยังใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขอไอเดียจากแชตบอต AI เพื่อทำโมเดลธุรกิจ หรือถ้าอยากสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาสัก 1 แอป แต่เขียนโคดไม่เป็น ก็สามารถให้ AI ช่วยเขียนโคดสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาได้
รักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลสำคัญ
แม้ Generative AI ให้ผลลัพธ์จากการอ้างอิงข้อมูลที่มีอยู่ แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลนั้นๆ จะไปละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือล่วงลับข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเผยแพร่ เนื่องจากเครื่องมือ Generative AI นั้นสามารถสร้างข้อมูลสังเคราะห์จากข้อมูลจริงได้ ภายใต้เทรนโมเดล AI และ Private AI ที่สามารถปกปิดและไม่ระบุ PII ภายในชุดข้อมูล ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลใครแต่อย่างใด
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของ Generative AI
แม้ Generative AI จะให้ประโยชน์ต่อการทำธุรกิจมากมาย แต่เจ้าตัวนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะมีการทำงานที่สมบูรณ์แบบเสมอไป ดังนั้น Minimice เลยขอรวบรวมข้อดี-ข้อเสียของ Generative AI ที่ควรรู้มาไว้ข้างล่างนี้
ข้อดี
ข้อดีของ Generative AI มีดังนี้
- สร้างข้อมูลใหม่ได้อย่างรวดเร็ว – ด้วยระบบของ Generative AI จึงทำให้สามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว ช่วยทั้งประหยัดเวลาการทำงาน ทำให้มนุษย์สามารถนำเวลาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
- สร้างไอเดียและผลิตภัณฑ์ใหม่ – การใช้ Generative AI ยังมีข้อดีด้านการรวบรวมไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Generative AI ในแง่การสร้างบล็อก รูปภาพ หรือแม้แต่วิดีโอ
- ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย – การใช้ Generative AI ช่วยทำงาน ยังช่วยประหยัดงบได้อีกด้วย เพราะผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมานั่งจ่ายค่าแรงพนักงาน หรือค่าสร้างสรรค์ไอเดียเพิ่มเติม เพียงลงทุนกับ Generative AI ก็สามารถใช้งานได้ตลอดแล้ว
ข้อเสีย
ข้อเสียของ Generative AI ที่เห็นชัดๆ เช่น
- แย่งงานมนุษย์ – หาก Generative AI พัฒนาจนฉลาดมากพอที่จะสร้างผลงานทุกอย่างด้วยตนเอง ก็มีแนวโน้มที่บางสายงาน มนุษย์จะถูกแย่งงานหรือลดความสำคัญลงได้
- ข้อมูลจาก AI อาจมีอคติ – เนื่องด้วย Generative AI บางโปรแกรมอาจอ้างอิงข้อมูลจากมนุษย์จึงอาจทำให้การสร้างผลลัพธ์ออกมามีอคติของมนุษย์เจือปนออกมาได้
- ความปลอดภัย – Generative AI บางโปรแกรมหากวางระบบมาไม่ดี ก็อาจทำให้มีช่องโหว่ให้สามารถถูก Hack โดย Hacker ได้
- ง่ายต่อการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูก – เมื่อการสร้างผลงานง่าย ก็มีโอกาสได้ง่ายที่ผู้ใช้หลายๆ คนจะนำ AI ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกกฎหมายและผิดศีลธรรม
สรุป
Generative AI คือตัวช่วยทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการทำการตลาด การวางกลยุทธ์ หรือแม้แต่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดี สำหรับใครที่กังวลว่าจะโดน Generative AI แย่งงานหรือไม่ ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะในอนาคตอันใกล้ Generative AI จะยังไม่สามารถเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์โดยตรงได้แน่นอน เนื่องจากงานบางประเภทยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความละเอียดอ่อนที่หาได้จากมนุษย์เท่านั้น ดังนั้น แนวโน้มการใช้ Generative AI ในอนาคตจึงเป็นลักษณะของการใช้เป็นตัวช่วย เพื่อเพิ่มโอกาส และอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้นมากกว่า
FAQ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Generative AI
ในที่นี้ เพื่อตอบทุกข้อสงสัยของผู้อ่านเกี่ยวกับ Generative AI Minimice รวบรวมคำถามที่พบบ่อยมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง ไปดูพร้อมกันข้างล่างนี้
ข้อมูลที่ได้จาก Generative AI ถูกต้องไหม จะรู้ได้ยังไง
ด้วยความที่ Generative AI ดึงข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่มีใบอนุญาต ได้รับการตรวจสอบ และมีเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน ไม่ใช่ดึงข้อมูลใดๆ ที่มีในที่สาธารณะอย่างไม่ได้รับการตรวจสอบมา ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า Generative AI จะมอบข้อมูลที่ถูกต้องกว่า แต่แม้ Generative AI จะดึงข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แต่ข้อมูลก็มีการอัปเดตและเปลี่ยนไปทุกวัน ดังนั้น ผู้ใช้ก็จำเป็นต้องตรวจสอบก่อนข้อมูลก่อนใช้ทุกครั้งเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
Generative AI ปลอดภัยกับธุรกิจไหม
ขึ้นอยู่กับตัวนโยบายของ Generative AI แต่ละโปรแกรม รวมถึงวิธีการนำส่งและอ้างอิงข้อมูล หากคุณต้องการให้ข้อมูลปลอดภัย ก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า Generative AI ที่ใช้มีระบบป้องกันความปลอดภัยในเรื่องนี้หรือไม่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างปลอดภัยได้มากขึ้น
ตัวอย่าง Generative AI ที่เป็นที่นิยม
ตัวอย่าง Generative AI ที่กำลังเป็นที่นิยมตอนนี้ก็มีมากมาย
- ประเภทข้อความก็มีทั้ง ChatGPT จากบริษัทไมโครซอฟต์, Bard AI จาก Google, Ernie Bot จากบริษัท Baidu ฯลฯ
- ประเภทสร้างรูปภาพก็เช่น Dall-E
- ประเภทสร้างดนตรี เพลง เช่น Amper
- ประเภทสร้างโคด เช่น Codex, Copilot