Seasonal marketing เป็นการตลาดที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้าบางอย่างมักจะขายได้ปริมาณมาก หากถึงช่วงเทศกาล บางแบรนด์จึงมีการจัดทำโปรโมชั่นเพื่อทำการตลาด ในการกระตุ้นยอดขายมากขึ้น มาดูกันว่า Seasonal marketing คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีเทคนิคการทำอย่างไร
ทำความรู้จัก Seasonal Marketing คืออะไร
เจ้าของแบรนด์ต้องรู้ไว้กับการตลาดที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้สูงตลอดปีกับการจัด Seasonal Marketing หรือเรียกง่ายๆ คือ การตลาดตามเทศกาลต่างๆ นั่นเอง ซึ่งในแต่ละเดือนก็จะมีวันเทศกาลสำคัญกระจายกันครบทั้งปีอย่างแน่นอน ดังนั้นแต่ละแบรนด์สินค้าใหญ่ๆ จะเน้นทำโปรโมชั่นดีๆ หรือบริการและสินค้าพิเศษในช่วงเทศกาลกันอย่างรวดเร็ว เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการเพิ่มยอดขายจากช่วงเวลาพิเศษเหล่านี้
สำหรับคำว่าการตลาดตามเทศกาลนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่วันเทศกาลสำคัญตามปฏิทินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น วันคริสต์มาส วันวาเลนไทน์ วันฮาโลวีน วันแม่ วันพ่อ วันสงกรานต์ หรืออื่นๆ ในวันหยุดพิเศษเท่านั้น แต่ยังมีวันสำคัญยิบย่อยส่วนตัวด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น วันเกิด วันเปิดเทอม – ปิดเทอม วันครบรอบ และอื่น ๆ อีกมากมายก็สามารถนำมาทำเทคนิค Seasonal Marketing ได้ทุกอย่าง
กลยุทธ์ Seasonal Marketing มีความสำคัญอย่างไร
การทำการตลาดแบบ Seasonal Marketing ถือว่าเป็นเทคนิคด้านการตลาดที่ช่วยเพิ่มยอดขายและความน่าสนใจอื่นๆ ให้กับแบรนด์สูงขึ้นอย่างมาก แต่จะมีข้อดีหลักๆ ที่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องเลือกทำการตลาดตามเทศกาลแบบนี้มีอะไรบ้าง ต้องมาดูกัน
ยอดขายเพิ่มขึ้น ทำยอดขายรวมสูงสุดได้ตลอดทั้งปี
การทำ Seasonal Marketing สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายช่วงเทศกาลสำคัญในหน้าปฏิทิน หรือวันพิเศษต่างๆ สำหรับลูกค้าได้สูงสุดตลอดทุกเดือน ทำให้มียอดเฉลี่ยกำไรของทางแบรนด์ค่อนข้างชัดเจนและสม่ำเสมอมากกว่าการจัดโปรโมชั่นในช่วงวันหรือเวลาปกติหลายเท่า
ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์
สำหรับการทำการตลาดเกี่ยวกับเทศกาลแบบนี้ ทางแบรนด์เองก็จะได้รับภาพลักษณ์ที่ดีต่อลูกค้าทุกกลุ่ม เพราะทุกการจัดโปรโมชั่นหรือทำคอนเทนต์เกี่ยวกับกระแสวันสำคัญต่างๆ ทั้งวันสำคัญเฉพาะบุคคลหรือวันที่เป็นเทศกาลสำคัญใหญ่ๆ ก็ตาม จะทำให้สินค้าของแบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และดูเป็นแบรนด์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง สามารถไว้วางใจได้จริงนั่นเอง ยิ่งเกาะกระแสได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีต่อแบรนด์มากเท่านั้น
สร้างการรับรู้ให้แบรนด์ (Brand Awareness)
เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่ต่อยอดมาจากเรื่องการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้น่าเชื่อถือ ส่วนทางด้านลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ก็จะได้เห็นเอกลักษณ์ของทางแบรนด์ชัดเจนมากขึ้นจากการเกาะกระแสเทคนิคการตลาดตามฤดูกาล หรือการส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลพิเศษและวันสำคัญต่างๆ ทั้งหมด รวมถึงการสร้างโปรโมชั่นดีๆ จากคอนเทนต์ที่เป็นประเด็นร้อนในตอนนั้น เทคนิคเหล่านี้จะช่วยเพิ่มยอดการเข้าถึงของลูกค้าใหม่ๆ ได้เยอะขึ้น เสมือนเป็นการประกาศแบรนด์ให้คนใหม่ๆ ได้รู้จักผ่านโปรโมชั่นพิเศษแบบนี้ได้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ทุกรูปแบบที่ทุกคนจะได้รู้จักกับสินค้าหรือรายการโปรโมชั่นพิเศษของแบรนด์นั้นอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
สร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้า
การทำเทคนิคการตลาดตามฤดูกาลด้วยวิธีการแบบ Seasonal คือ การที่แบรนด์จะต้องสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า และทางทีมการตลาดของแบรนด์ต้องมีการวางแผนดำเนินงานต่างๆ ไว้แบบระยะยาว เพื่อกระตุ้นความตื่นเต้นและความสนใจให้กับลูกค้าทุกคนได้ตั้งตารอรายการโปรโมชั่นพิเศษ หรือรายการสินค้าและบริการพิเศษจากทางแบรนด์ในเทศกาลสำคัญที่กำลังจะมาถึง
เปลี่ยนใจคนที่กำลังสนใจให้กลายมาเป็นลูกค้า
การทำการตลาดตามช่วงฤดูกาลแบบนี้ สามารถกระตุ้นการตัดสินใจซื้อและปิดยอดขายได้ง่ายกว่าการจัดโปรโมชั่นแบบปกติหลายเท่า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าออนไลน์ที่ติดตามข่าวสารของแบรนด์นี้อยู่แล้วแต่ยังไม่เคยซื้อสินค้าและบริการใดๆ มาก่อน จะตัดสินใจเลือกซื้อในช่วงเวลาโปรโมชั่นพิเศษระยะสั้นๆ ตามช่วงเทศกาลได้ทันที เพราะลูกค้าหลายๆ คนก็ตั้งตารอโปรโมชั่นหรือสินค้าพิเศษตามเทศกาลเท่านั้นก็มีค่อนข้างเยอะมากเช่นกัน ส่วนด้านลูกค้าใหม่ที่เห็นสื่อโฆษณาผ่านตาของโปรโมชั่นจากทางแบรนด์ ก็จะได้รับความสนใจเข้ามาติดตามข่าวสารกันไว้เยอะขึ้น รวมถึง การตัดสินใจกดซื้อสินค้าเพราะคอนเทนต์คุณภาพโดนใจช่วงวันพิเศษก็ส่งผลด้วยเช่นกัน
เทคนิคการทำ Seasonal Marketing ให้ยอดขายปัง
การตลาดตามฤดูกาลหรือเทคนิคกลยุทธ์ในช่วงเทศกาลพิเศษทุกวันนี้จะเน้นไปด้านการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น ควบคู่กับเทคนิคด้านการตลาดทั่วไปของแต่ละธุรกิจ ดังนั้น กลยุทธ์ที่ควรคำนึงก่อนทำการใช้เทคนิค Seasonal Marketing ในการเพิ่มยอดขาย คือ เทคนิค 4P ได้แก่
1. Product
การเลือกสินค้าให้น่าสนใจและเหมาะสมกับช่วงฤดูกาลต่างๆ หรือเป็นสินค้าพิเศษในช่วงเทศกาลวันสำคัญนั้น จะช่วยเพิ่มข้อดีต่อแบรนด์เองในการใช้เทคนิคการตลาดแบบนี้ได้มากขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มความสนใจและความต้องการกับลูกค้าได้เยอะขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างการเลือกสินค้า เช่น
- สินค้าช่วงฤดูร้อน ในการคัดเลือกสินค้าวางขายช่วงฤดูร้อน อากาศร้อน หรือช่วงซัมเมอร์ที่เป็นฤดูกาลออกเที่ยวทะเลนั้น แนะนำให้เลือกเป็นสินค้าอุปโภค บริโภคที่พร้อมใช้งานทันที ได้แก่ สินค้าประเภทสกินแคร์บำรุงผิวและกันแดด ของหวานและเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น ชุดแฟชั่นทะเลหรือแฟชั่นที่เข้ากับการแต่งตัวรับลมร้อน และอื่น ๆ เป็นต้น
- สินค้าช่วงฤดูฝน หากพูดถึงฤดูฝน สินค้าที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ อุปกรณ์สำหรับการเดินทางช่วงฝนตก เช่น ร่ม รองเท้าบูตสำหรับลุยน้ำ ยากันยุง ยากันแมลงหรือสัตว์ร้ายที่มากับน้ำท่วม อุปกรณ์ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากผลกระทบของน้ำฝน เป็นต้น
- สินค้าช่วงฤดูหนาว สินค้าสำหรับการขายในฤดูหนาวต้องดูจากพื้นที่ในการจำหน่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งแบรนด์ที่เปิดขายในภาคเหนือ และเขตที่มีอากาศหนาวจะต้องไม่พลาดในการหาแฟชั่นเสื้อกันหนาว อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่นต่างๆ ตั้งแต่ ผ้าห่ม ผ้านวม ชุดที่นอน ไปจนถึง สกินแคร์ฤดูหนาวเพื่อป้องกันผิวแห้ง เป็นต้น
- สินค้าเทศกาลสำคัญ หรือ วันพิเศษอื่น ๆ สำหรับสินค้าที่ขาดไม่ได้ในช่วงเวลาพิเศษทุกๆ เดือน คือ สินค้าประเภทของขวัญ ของที่ระลึก ของประดับตกแต่ง โดยมีธีมที่เหมาะกับเทศกาลหรือวันนั้นๆ เช่น คริสต์มาส วาเลนไทน์ วันครบรอบต่างๆ ของฝากถึงคนสำคัญ และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้น
2. Price
การตั้งราคาสินค้าตามเทคนิคการตลาดฤดูกาลพิเศษแบบนี้ สามารถวิเคราะห์จากพฤติกรรมภาพรวมของลูกค้าได้เลย เช่น การจัดโปรโมชั่นในช่วงกลางเดือน เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์และให้ตอบโจทย์กับงบประมาณการใช้จ่ายของลูกค้าที่เริ่มใช้จ่ายเงินเดือนกันไปเกินครึ่งแล้ว ส่วนในช่วงปลายเดือน จนถึงต้นเดือนใหม่ สามารถตั้งราคาเต็มหรือจัดโปรโมชั่นพิเศษเพิ่มยอดขายสูงๆ ได้เลยทันที เพราะเป็นช่วงเวลาที่เงินเดือนออกกัน รวมถึงการตั้งราคาสินค้าช่วงเทศกาลใหญ่ๆ ที่ลูกค้าพร้อมจ่ายทันที
3. Place
การเลือกสถานที่ขายสินค้าหรือบริการของแบรนด์ตามกลยุทธ์การตลาดแบบ Seasonal Marketing นั้น สามารถวางสถานที่หลักเป็นห้างสรรพสินค้า หรือช่องทาง Market place ออนไลน์ได้เลยทันที เพราะง่ายต่อการเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกช่วงเวลา และทุกฤดูกาลทั้งหมด แถมยังเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น ส่วนสถานที่ปลีกย่อยอื่นๆ สามารถเลือกตามฤดูกาลและเทศกาลได้ เช่น ฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่มีการจัดงานต่างๆ ส่งท้ายปีกันมากมาย เหมาะกับการออกบูธกลางแจ้ง และการเข้าออกบูธตามอีเวนต์พิเศษแต่ละงานอย่างมาก เป็นต้น ยิ่งออกบูธได้มาก ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์เป็นที่ติดตา ติดตลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน
4. Promotion
การจัดโปรโมชันจะต้องดูความต้องการของทางแบรนด์และทางลูกค้าให้สอดคล้องกันเพื่อหาจุดกึ่งกลางในการจัดรายการออกมา เช่น ถ้าหากเป็นเทศกาลสำคัญที่ลูกค้าต้องการซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นของขวัญ ของฝากใดๆ ก็ตาม พร้อมกับทางแบรนด์ก็ต้องการเคลียร์สต็อกสินค้าประเภทนั้นๆ แล้วด้วยเช่นกัน ก็สามารถจัดโปรโมชันลดแหลกแจกแถมได้ตามรายการสินค้าประจำเทศกาลหรือวันสำคัญได้เลย เป็นต้น หรือ หากทางแบรนด์ต้องการเน้นยอดขายและเพิ่มกำไรมากขึ้น อาจจัดโปรโมชั่นตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อนมีโปรโมชั่นเครื่องปรับอากาศลดราคาพิเศษ แต่ต้องเพิ่มบริการเสริมของการติดตั้งดูแลรักษา หรือการประกันสินค้าควบคู่กับโปรนี้ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของทั้งสองฝ่าย
ตัวอย่างธุรกิจที่ทำการตลาดแบบ Seasonal Marketing
ธุรกิจหรือแบรนด์ดังๆ ส่วนมากเลือกที่จะทำการตลาดแบบ seasonal marketing เนื่องจากสร้างผลประกอบการให้ธุรกิจเป็นกอบเป็นกำในแต่ละเทศกาล โดยตัวอย่างแบรนด์ที่มีการทำการตลาดแบบนี้ เช่น
แมคโดนัลด์ ประเทศไทย
แมคโดนัลด์ในไทยได้ประสบความสำเร็จด้านการทำแคมเปญทางการตลาดที่ใช้กลยุทธ์ Seasonal Marketing ผ่านเทศกาลวันแม่ โดยทางแบรนด์นี้ได้มีการทำสื่อโฆษณาภาพยนตร์สุดประทับใจออกมาโปรโมทในธีม “Ask mom วันแม่ปีนี้…ลองถามแม่ดู” ซึ่งในสื่อคอนเทนต์ใหญ่นี้มีการแทรกการส่งเสริมการขายสินค้าและโปรโมชั่นพิเศษที่ลดราคาพิเศษ หรือแถมฟรีรายการสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย พร้อมกับได้เน้นโปรโมทแบรนด์มากขึ้นเช่นกัน เป็นการเน้นการตลาดผ่านสื่อโฆษณาฟอร์มยักษ์ที่ทันสมัยและเนื้อหาครบ ส่งเสริมตั้งแต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไปจนถึงการกระตุ้นความต้องการซื้อของกลุ่มลูกค้าในเทศกาลพิเศษได้สูงมาก นอกจากนี้ แมคโดนัลด์ในไทยยังมีการจัดโปรโมชั่นวันเกิดให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิก เพื่อรับส่วนลดพิเศษหรือแลกรับสินค้าฟรีอีกด้วย นี่ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำการตลาดแบบตามฤดูกาลเช่นกัน
Foodpanda
ทางแบรนด์เดลิเวอรีอย่าง Foodpanda ก็มีการทำการตลาดด้วยกลยุทธ์ Seasonal Marketing ผ่านการทำคอนเทนต์บทความต้อนรับฤดูฝนในหัวข้อ “รวมเช็คลิสต์ 8 ไอเทมหน้าฝน” โดยเนื้อหาบทความจะพูดถึงปัญหาช่วงฤดูฝนที่ทุกคนต้องเจอกันเป็นประจำ พร้อมกับวิธีการแก้ไขรับมือปัญหายุ่งยากเหล่านี้ผ่านสินค้าต่างๆ ที่มีวางขายบน Pandamart รวมถึงโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะช่วงฤดูฝนที่สั่งซื้อได้ทุกที่ มีส่วนลดมากมาย จัดส่งตรงถึงมือลูกค้าตลอดทุกช่วงเวลาอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าทาง Foodpanda มีจุดประสงค์ในการเพิ่มยอดขายและเคลียร์สินค้าในสต็อกได้อย่างชัดเจนและตรงจุดทุกความต้องการของลูกค้าอีกด้วย
Heineken
แบรนด์เครื่องดื่มที่มีแคมเปญทันสมัยอยู่เสมอกับทาง Heineken ยังคงรุกทำการตลาดแบบ Seasonal Marketing ได้อลังการเช่นเคย ซึ่งล่าสุดมีการเจาะทำการตลาดที่เน้น Product & Place (สินค้า และ สถานที่) เป็นปัจจัยหลักของแคมเปญแล้วเรียบร้อย เพราะทาง Heineken ได้เปิดหน้าร้าน Flagship store และ Pop – up store เพื่อจัดจำหน่ายสินค้า Premium ประเภทแฟชั่น เครื่องแต่งกาย ที่เป็นการออกแบบเอกลักษณ์สินค้าให้กลายเป็นแบรนด์ Heineken โดยเฉพาะ พร้อมกระจายไปยัง 12 จังหวัดทั่วไทย เป็นกลยุทธ์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี มียอดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความชื่นชอบสะสมสินค้าพิเศษจากทางแบรนด์นี้ได้ด้วยการซื้อที่หน้าร้านค้าได้เลย ไม่ต้องสะสมยอดการเปิดขวดเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป
สรุป
การทำการตลาดแบบ Seasonal Marketing คือ การวิเคราะห์กลยุทธ์ในการขายสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในทันที เพื่อเพิ่มยอดขายได้ต่อเนื่องและทำกำไรได้มากขึ้นกว่าการทำโปรโมชั่นปกติ เพราะการตลาดแบบนี้จะเน้นเรื่องการให้ความสำคัญและคุณค่าไปยังช่วงเวลาพิเศษ วันเวลาที่มีระยะเวลาจำกัดสั้นๆ ทำให้โปรโมชันดีๆ หรือสินค้าต่างๆ ได้รับความสนใจและมีการตัดสินใจซื้อจากลูกค้าได้ง่ายมาก ส่วนวิธีการทำกลยุทธ์แบบการตลาดตามฤดูกาลนี้ สามารถทำผ่านการประชาสัมพันธ์ด้วยสร้างสื่อคอนเทนต์ออนไลน์ช่องทางต่างๆ หรือการจัดแคมเปญในเทศกาลงานอีเว้นท์ใดๆ ก็ได้ทั้งหมด สามารถวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าหรือแผนการตลาดด้วยเทคนิค Seasonal Marketing เบื้องต้นได้เลยทุกขั้นตอน เพียงแค่เน้นระยะเวลาที่มีจำกัดและต้องเป็นวัน เวลา ที่มีความสำคัญทางฤดูกาล หรือเทศกาลเป็นหลัก
FAQ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Seasonal Marketing
Minimice ได้ยกคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำการตลาดแบบ Seasonal Marketing มาฝากกัน ไปดูกันเลย
การตลาดแบบ Seasonal Marketing มีข้อเสียอย่างไร?
ข้อเสียหลักที่เห็นได้ชัดของการตลาดแบบนี้ คือ ระยะเวลาในการจัดโปรโมชันที่น้อยมาก แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าค่อนข้างยาวนาน เพื่อเป็นการกระตุ้นความต้องการของลูกค้าให้ทั่วถึง และต้องเน้นความแปลกใหม่ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป็นหลัก จึงอาจต้องมีทุนสำหรับกลยุทธ์นี้ค่อนข้างเยอะกว่าการจัดโปรโมชันทั่วไปหลายเท่า แถมยังต้องแข่งขันพร้อมกับคู่แข่งอีกมากมายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ส่วนลดตามฤดูกาล (Seasonal Discount) คืออะไร?
การจัดโปรโมชันลดราคาในช่วงเวลาพิเศษ เทศกาลสำคัญ หรือการขายสินค้าตามฤดูกาลแบบลดราคาพิเศษ ซึ่งทางแบรนด์จะจัดหาสินค้าให้เข้าจัดฤดูกาลหรือเทศกาลนั้นๆ แล้วมาขายในราคาพิเศษ เพราะจะทำให้ยอดการขายสินค้าพุ่งสูงมากจากความต้องการของลูกค้าที่ตรงจุดอย่างแท้จริง ส่วนกำไรหลักจะไปถัวเฉลี่ยกับสินค้านอกฤดูกาลที่ตั้งกำไรสูงกว่าต้นทุนและรายการสินค้าโปรโมชั่นไว้แล้วเรียบร้อยนั่นเอง
การตลาดนอกฤดูกาล (Unseasonal Marketing) คืออะไร?
เป็นการขายสินค้าหลักของแบรนด์ โดยไม่ต้องรอช่วงเวลาพิเศษหรือเทศกาลพิเศษก็สามารถวางขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งการขายแบบนี้จะเน้นเรื่องการสร้างตัวตนของแบรนด์ให้น่าสนใจและอาศัยความจงรักภักดีต่อแบรนด์เป็นหลัก ส่วนโปรโมชันที่เห็นได้นอกฤดูกาลจะเป็นโปรโมชันทั่วไปที่สามารถตั้งระยะเวลาเมื่อไร นานแค่ไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับแบรนด์จะวางแผนด้านการตลาดหลัก