การวางแผนการตลาด ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะแผนการตลาดนั้นจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถค้นหากลยุทธ์ทางตลาดที่จะทำให้แบรนด์มีการเติบโตทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวได้ รวมถึงจะได้หาเครื่องมือและช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด
ในบทความนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักกับการวางแผนการตลาด พร้อมทั้งแนะนำการเขียนแผนการตลาดแบบมีกลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งเจ้าของธุรกิจ และผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
แผนการตลาด (Marketing Plan) คืออะไร
แผนการตลาด หรือ Marketing Plan คือ แผนการที่ถูกวางไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้ในการสร้างทิศทางในการทำการตลาดของธุรกิจในอนาคต รวมถึงบอกถึงภาพรวมและกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะต้องใช้ ช่วยให้ทีมการตลาดของแต่ละธุรกิจนั้นสามารถรู้ได้ว่าในแต่ละช่วงเวลานั้นจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องทำเมื่อไร และมีจุดประสงค์อะไร เพื่อให้ทีมได้ทำการดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้ในระยะเวลาที่กำหนด ให้มีการสรุปกลยุทธ์รวมถึงติดตามผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการประชาสัมพันธ์หรือการสร้างแคมเปญประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างโอกาสในการขายและเข้าถึงตลาดเป้าหมายได้ดีขึ้น ได้เห็นภาพรวมของการตลาดชัดเจนมากขึ้น
แผนการตลาดกับกลยุทธ์ทางการตลาด ต่างกันไหม?
สำหรับแผนการตลาดกับกลยุทธ์ทางการตลาดนั้นจะมีความแตกต่างกัน โดยแผนการตลาด คือ การวางแผนการตลาดที่จะระบุถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางธุรกิจจะทำเพื่อให้บรรลุไปถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ ทำให้แต่ละธุรกิจสามารถเห็นภาพรวมของการทำการตลาดได้ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว แต่ว่าแผนการตลาดนั้นจะไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร และเมื่อไร ทำให้ต้องใช้เวลาบวกกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างเยอะกว่า
ซึ่งในส่วนของกลยุทธ์ทางการตลาดนั้นจะมีการอธิบายแบบจำเพาะเจาะจงถึงการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละธุรกิจ ทำให้รู้ว่าในแต่ละขั้นตอนของการทำการตลาดนั้นจะต้องใช้กลยุทธ์อะไร อย่างไร และเมื่อไร ทำให้มุ่งเน้นไปเป้าหมายได้ตรงจุดมากกว่า และเห็นผลลัพธ์ทางการตลาดที่ชัดเจนกว่า แต่หากเจ้าของธุรกิจนั้นนำทั้งแผนการตลาดและกลยุทธ์ทางการตลาดมาปรับใช้เข้าด้วยกันได้ ก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน
10 ประเภทของแผนการตลาด
สำหรับแผนการตลาดที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจว่าจะนำแผนการตลาดประเภทไหนไปใช้กับการทำการตลาดของธุรกิจตัวเอง ดังนั้น เราจะไปทำความรู้จักกับ 10 ประเภทของแผนการตลาดที่นิยมใช้กันในปัจจุบันว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้
1. แผนการตลาดรายปี
แผนการตลาดรายปี เป็นแผนการตลาดที่มีการวางแผนให้เห็นภาพรวมของการทำการตลาดตลอดทั้งปี โดยแผนการตลาดประเภทนี้เป็นการวางแผนการตลาfที่มีความครอบคลุมมากกว่าแบบอื่นๆ ที่จะช่วยให้ทีมการตลาดรู้ว่าภายในปีนี้จะทำอะไรบ้าง ทำเมื่อไร และทำอย่างไร เพื่อที่จะได้ดำเนินการ ติดตามผลลัพธ์ รวมถึงจะได้มีการวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้ดีกว่าเดิม
2. แผนการตลาดแบบคอนเทนต์
แผนการตลาดแบบคอนเทนต์ เป็นแผนการตลาดที่มีการวางแผนถึงเนื้อหา แคมเปญ และกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแบรนด์ โดยจะเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่มีความสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้ และสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ และเพิ่มยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
3. แผนการตลาดทางโซเชียลมีเดีย
แผนการตลาดทางโซเชียลมีเดีย เป็นแผนการที่มีการวางแผนถึงการสร้างคอนเทนต์ การยิงโฆษณา หรือกลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Twitter, Youtube, Line หรือ TikTok เป็นต้น ทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ หรือข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์มากขึ้น จนเกิดความสนใจในการซื้อมากขึ้นตามไปด้วย
4. แผนการตลาดแบบใช้อินฟลูเอนเซอร์
แผนการตลาดแบบใช้อินฟลูเอนเซอร์ เป็นแผนการตลาดที่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ในการโฆษณา โปรโมท หรือรีวิวสินค้า และบริการของแต่ละธุรกิจ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ให้แก่ผู้ติดตามของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขาย และสามารถวัดผลลัพธ์จากโซเชียลมีเดียได้อีกด้วย
5. แผนการตลาดปล่อยสินค้าใหม่
แผนการตลาดปล่อยสินค้าใหม่ เป็นแผนการตลาดที่มีการวางแผนในการเปิดตัวสินค้าใหม่ว่าก่อนจะปล่อยสินค้าควรทำการตลาดอย่างไร ในช่วงที่เปิดตัวควรจะปล่อยสินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างไร ไปจนถึงหลังจากเปิดตัวแล้วจะทำอย่างไร เพื่อที่จะได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการจัดการทำโฆษณาในการโปรโมทสินค้าได้อย่างถูกต้อง จะได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้
6. แผนการตลาดแบบเสียเงิน
แผนการตลาดแบบเสียเงิน เป็นแผนการตลาดที่มีค่าใช้จ่ายในการทำการโฆษณา หรือโปรโมทสินค้าผ่านทางช่องทางการตลาดต่างๆ เรียกกันง่ายๆ ว่าจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณา เช่น การซื้อโฆษณาบน Google การโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ หรือโฆษณาผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube, Instagram, Twitter, TikTok หรือการซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้โฆษณาส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย และช่วยให้ผู้คนเห็นโฆษณาของเรามากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ด้วย
7. แผนการตลาดสำหรับการเติบโต
แผนการตลาดสำหรับการเติบโต เป็นแผนการตลาดที่มีการวางแผนมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของแบรนด์หรือธุรกิจโดยเฉพาะ โดยจะมีการวางแผนการตลาดที่จะระบุถึงวิธีการ แคมเปญ และกลยุทธ์ที่จะใช้การดำเนินการทำการตลาด เพื่อให้แบรนด์และธุรกิจมีการเติบโตขึ้นอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางออนไลน์หรือออฟไลน์
8. แผนการตลาดแบบพัฒนาการตลาด
แผนการตลาดแบบพัฒนาการตลาด เป็นแผนการตลาดที่มีการวางแผนพัฒนาการตลาด เช่น การเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ และกลุ่มลูกค้าเฉพาะได้รับรู้ถึงการมีสินค้าหรือบริการ รวมถึงโปรโมชัน ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ ทางธุรกิจ เช่น การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือสร้างความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
9. แผนการตลาดแบบพัฒนาสินค้าหรือบริการ
แผนการตลาดแบบพัฒนาการสินค้าหรือบริการ เป็นแผนการตลาดที่มีการคิดค้น ค้นคว้า ออกแบบ แก้ไข หรือปรับปรุงสินค้า และบริการออกมาให้ตอบโจทย์ หรือตรงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด รวมถึงมีการโปรโมท หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้า หรือบริการให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์มากขึ้น
10. แผนการตลาดแบบกระจายความเสี่ยง
แผนการตลาดแบบกระจายความเสี่ยง เป็นแผนการตลาดที่มีการวางแผนมุ่งเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ในการโปรโมท ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่แล้ว รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ไปยังฐานลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายได้จากทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า
เขียนแผนการตลาดให้เป๊ะ ต้องรู้ทุกองค์ประกอบ
สำหรับการเขียนแผนการตลาดนั้นจะไม่มีวิธีการเขียนแบบเฉพาะเจาะจง แต่ว่าจะเป็นการนำองค์ประกอบต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด เช่น กลุ่มเป้าหมาย คู่แข่ง ค่า KPI หรือกลยุทธ์ที่จะใช้ เป็นต้น เพื่อให้แต่ละธุรกิจนั้นมีแผนการตลาดที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยองค์ประกอบที่ควรรู้ไว้ก่อนทำการเขียนแผนการตลาด มีดังนี้
รู้จักพันธกิจ วิสัยทัศน์ ค่านิยมของบริษัทให้ดี
การรู้จักพันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมของบริษัทให้ดี เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถเขียนแผนการตลาดออกมาได้ดีและมีประสิทธิภาพ เพราะจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง รวมถึงสามารถวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคของธุรกิจได้ ทำให้เราเห็นภาพรวมและรู้ว่าธุรกิจเราอยู่ในจุดไหน เพื่อที่จะได้เลือกกลยุทธ์หรือวิธีการทำการตลาดไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง
ระบุกลุ่มเป้าหมาย
การระบุหรือการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถทำแผนการตลาดได้อย่างชัดเจนและตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยเราจะต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร กลุ่มลูกค้าแบบไหน อายุเท่าไร เพศอะไร รายได้เท่าไร มีความสนใจแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบอะไร และส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าของเรานั้นเล่นโซเชียลมีเดียในช่องทางไหนบ้าง เพื่อที่จะได้วางแผนในการเข้าหาลูกค้าได้อย่างถูกต้อง สามารถทำคอนเทนต์ที่ช่วยดึงดูดใจลูกค้าให้มาซื้อสินค้าได้
ศึกษาตลาดและคู่แข่ง
การศึกษาตลาดและคู่แข่ง เป็นองค์ประกอบที่ทุกธุรกิจจะต้องทำ เพราะแต่ละสินค้าหรือบริการนั้น ไม่ได้มีเราเป็นผู้จำหน่ายหรือให้บริการเจ้าเดียวอย่างแน่นอน โดยการศึกษาตลาดและคู่แข่งนั้นจะต้องทำการศึกษาว่าตลาดต้องการอะไร มีความต้องการสินค้าหรือบริการของเรามากน้อยแค่ไหน รวมถึงคู่แข่งของเรามีใครบ้าง จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่งมีอะไรบ้าง รวมถึงคู่แข่งใช้กลยุทธ์อะไร เพื่อให้เรานั้นสามารถวางแผนเอาชนะคู่แข่งด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น
กำหนดค่า KPI
การกำหนดค่า KPI เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถวางแผนการตลาดได้สอดคล้องกับธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้สามารถวัดผลลัพธ์ได้ว่ากลยุทธ์ที่ใช้นั้นเห็นผลหรือไม่ รวมถึงยังเป็นตัวกระตุ้นให้เราพยายามที่จะทำการตลาดให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย
กำหนดกลยุทธ์และวิธีดำเนินการ
การกำหนดกลยุทธ์หรือวิธีดำเนินการ เป็นสิ่งที่นักการตลาดควรทำเป็นอย่างมาก เพราะว่ากลยุทธ์ที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งในบางกลยุทธ์ก็อาจจะไม่เหมาะสมกับธุรกิจของเรา ดังนั้นการวิเคราะห์หากลยุทธ์และกำหนดกลยุทธ์ที่จะใช้ จะทำให้เราสามารถโฟกัสได้ว่ากำลังใช้กลยุทธ์อะไร วิธีไหน จะได้นำมาใช้ให้ถูกจังหวะ ใช้ให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย นำปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด
กำหนดงบประมาณ
การกำหนดงบประมาณ เป็นสิ่งที่จะต้องทำก่อนการเริ่มวางแผนการตลาด หรือการเลือกกลยุทธ์ เพราะว่างบประมาณที่มีนั้นจะต้องเพียงพอกับแผนการตลาดที่วางไว้ หรือถ้าหากงบประมาณไม่พอก็ต้องปรับเปลี่ยนแผนใหม่ให้เหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางแผน หรือกำหนดไว้
สรุปผู้มีส่วมร่วมและรับผิดชอบ
การสรุปผู้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ทีมการตลาดจะต้องทำทุกครั้ง โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละคนหรือแต่ละทีมมีหน้าที่ทำอะไร มีความรับผิดชอบส่วนไหน เช่น A รับผิดชอบคอนเทนต์ B รับผิดชอบการวัดผลลัพธ์ หรือ C รับผิดชอบการดูแลช่องทางโซเชียลมีเดีย เป็นต้น เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ตรงตามแผนการตลาดที่วางไว้มากที่สุด
ปรับแผนได้ตลอด
การปรับแผนได้ตลอด เป็นสิ่งที่จะต้องมีในทุกการเขียนแผนการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแผนการตลาดตัวอย่างหรือแผนการตลาดจริง เพราะว่าในปัจจุบันนั้นกระแสต่างๆ ค่อนข้างที่จะมาไวและไปไว อาจส่งผลให้กลยุทธ์ที่ได้วางแผนไว้นั้นไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด จะต้องมีการปรับให้ตามทันกระแส เพื่อให้แบรนด์ดูมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งยังสามารถสร้างคอนเทนต์ที่เป็นกระแสให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลา
สรุป
การวางแผนการตลาด คือ การวางแผนที่จะใช้ในการทำตลาดของธุรกิจในอนาคต เพื่อบอกถึงภาพรวมและกลยุทธ์ที่จะใช้ในการทำการตลาด โดยประเภทของแผนการตลาดนั้นก็มีให้เลือกหลากหลายประเภท เช่น แผนการตลาดระยะยาว แผนการตลาดแบบคอนเทนต์ หรือแผนการตลาดแบบใช้อินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทนั้นก็จะมีวิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ด้วยการใช้องค์ประกอบที่ได้นำมาฝากในบทความนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการเขียนแผนการตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจ และเพื่อให้ได้แผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้ทำการตลาดได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
เราได้รวบรวมคำถามต่างๆ เกี่ยวกับแผนการตลาด มาตอบคำถามเพื่อคลายความสงสัย จะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการตลาดให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
เทมเพลตแผนการตลาดคืออะไร?
เทมเพลตแผนการตลาดคือเทเพลตที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างแผนการตลาดได้ โดยในเทมเพลตแผนการตลาดจะมีองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมดและภาษาที่จำเป็น หลายๆ ภาษา พร้อมส่วนที่เว้นว่างไว้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแทรกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง ใส่ลงไปในส่วนว่างเพื่อสร้างแผนการตลาดเป็นของตนเองแทน
4Cs ของแผนการตลาดมีอะไรบ้าง?
เทมเพลตแผนการตลาดคือเทเพลตที่สามารถนำมาใช้เพื่อ
4Cs ของแผนการตลาดมีดังนี้
- Customer (ลูกค้า): สิ่งสำคัญที่สำคัญที่สุดในกลยุทธ์ทางการตลาด คือต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร
- Cost (ต้นทุน): รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตลาด การขายสินค้าและบริการของแบรนด์
- Convenience (ความสะดวกสบาย): ประสบการณ์การชอปปิง ซื้อสินค้าของลูกค้าต้องเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- Communication (การสื่อสาร): รวมการปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค จุดที่ดีที่สุดของแบรนด์คือโอกาสที่จะมีการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม
อะไรคือส่วนที่สำคัญที่สุดของแผนการตลาด?
ส่วนที่สำคัญที่สุดของแผนการตลาดคือลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเข้าใจถึงความต้องการของพวกเขา แผนการตลาดทั้งหมดต้องมีจุดประสงค์ เพื่อให้บริษัทใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหาทางตอบโจทย์ความต้องการให้กับลูกค้าได้ด้วย