การทำการตลาดสามารถมีได้หลากหลายกลยุทธ์ แต่ละธุรกิจก็พยายามสร้างตัวตนและส่งสินค้าหรือบริการของตนเองให้ครองใจลูกค้าให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การตลาดในรูปแบบที่จำเจก็อาจสร้างความเบื่อหน่ายให้กับลูกค้าจนลดโอกาส และความสนใจ จนไม่สามารถขยับขยายฐานลูกค้าได้ บ่อยครั้งที่การตลาดบางอย่างไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้าได้ จึงเกิดเป็น Personalized marketing ขึ้นเพื่อเจาะเฉพาะความต้องการรายบุคคลที่แบรนด์ชั้นนำอย่าง Netflix หรือ Spotify นำมาใช้ และช่วยเพิ่มโอกาสความสนใจให้กับลูกค้าจากการนำเสนอสินค้าหรือบริการอย่างตรงจุดมากขึ้น
ทำความรู้จักกับ Personalized Marketing คืออะไร?
ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับ Personalized marketing กันก่อน Personalized marketing คือ การตลาดเฉพาะบุคคลในการนำเสนอสินค้า บริการ หรือโปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายอื่นๆ ที่เจาะจงและพิเศษเฉพาะลูกค้าแบบคนต่อคน ซึ่งการตลาดแบบ Personalized marketing มีตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อย่าง Spotify ที่จะนำเสนอเพลงที่ลูกค้าอาจจะชอบ หรือ Netflix ที่นำเสนอหนังหรือซีรีส์แนวที่ลูกค้าชอบโดยพิจารณาจากข้อมูลการใช้งานแบบรายบุคคล การตลาดแบบ Personalized marketing จึงทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกพิเศษและมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบในสินค้า บริการหรือโปรโมชั่นที่ทางแบรนด์นำเสนอได้มากขึ้น
เพิ่มประสิทธิภาพอีกขั้นด้วย Hyper-Personalized Marketing
นอกเหนือจาก Personalized marketing ยังมีขั้นกว่าของการทำการตลาดอย่าง Hyper-Personalized marketing ที่เป็นการนำเสนอสินค้า บริการและการขายเฉพาะบุคคล โดย Hyper-Personalized marketing จะเป็นการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการคาดคะเนความต้องการของลูกค้าจนสามารถวางแผนการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้า
Hyper-Personalized Marketing ดีกว่ายังไง
การทำการตลาดด้วย Personalized marketing เป็นที่นิยมสำหรับการทำธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการตอบสนองความต้องการที่ตรงจุด ทำให้สานต่อความต้องการของลูกค้า และทำให้ลูกค้ามีการใช้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องได้ ในขณะที่ Personalized marketing นั้นต้องเก็บตัวอย่างจากลูกค้า แต่ Hyper-Personalized marketing นั้นสามารถเก็บภาพรวมจากข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และคาดการณ์พฤติกรรมของลูกค้าจึงสามารถคาดเดา และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้าจึงให้ความพิเศษที่รวดเร็วและมากกว่า
Segmentation, Customization, และ Personalization กับการตลาดที่แตกต่างกัน
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการทำการตลาดนั้นมีหลากหลายรูปแบบ โดยกลยุทธ์ที่พยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าอาจแบ่งได้เป็น Segmentation, Customization และ Personalization
- การตลาดแบบ Segmentation คือ การจำแนกความต้องการของลูกค้าออกเป็นกลุ่มจากข้อมูลที่มี เพื่อให้สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้
- การตลาดแบบ Customization คือ การปรับแต่งการตลาดตามกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงด้วยข้อมูลที่มี
- การตลาดแบบ Personalization คือ การรับรู้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า จากนั้นจึงทำการตลาดที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้น
4 ประเภทของ Personalized Marketing
ในการทำการตลาดแบบ Personalized marketing สามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ได้ดังนี้
1. Segmentation
Segmentation เป็นการตลาดที่ทำโดยแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มอย่างละเอียดให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าแบบ Personalization ได้มากที่สุด มีข้อดีคือช่วยในการปรับแต่งการตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดี แต่มีข้อจำกัดด้านการใช้งบประมาณที่สูงเพราะความละเอียดของกลุ่มลูกค้าที่ทำการศึกษา และอาจไม่คุ้มทุนได้
2. 1-to-1 Personalization
การทำการตลาดประเภท 1-to-1 Personalization จะเก็บข้อมูลของลูกค้าแบบรายบุคคลทั้งการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ด้วยการรวบรวมข้อมูลจาก Martech เป็นตัวช่วยให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้แบบเรียลไทม์จึงทำให้วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้แบบรายบุคคลและทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงได้
3. Personalized Content Marketing
Personalized Content Marketing เป็นการส่งคอนเทนต์ไปหาลูกค้าแบบส่วนตัวตามข้อมูลความชอบและความสนใจของลูกค้า เช่น ทาง Line เพื่อให้เกิดแรงจูงใจจากลูกค้าอย่างตรงจุด
4. Personalized Email Marketing
Personalized Email Marketing เป็นการทำการตลาดที่อาศัยความจำเป็นของการติดต่อสื่อสารผ่านทาง Email เข้าช่วย จึงทำให้การตลาดที่ส่ง Email หาลูกค้าโดยตรง สามารถสร้างความพิเศษได้ เช่นการเอ่ยชื่อลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจงใน Email หรือการส่งการอวยพรวันเกิด จะทำให้เกิดความน่าจดจำและความใส่ใจได้
Personalized Marketing สำคัญอย่างไร
การทำ Personalized Marketing เป็นที่นิยมในการทำการตลาดและเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนการตลาด เพราะการทำ Personalized Marketing มีความสำคัญกับการตลาด ดังนี้
- มีความแม่นยำและรวดเร็วจากการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และวางแผนการทำการตลาด
- ทำให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น เมื่อทำการตลาดจึงสามารถวางแผนเพื่อนำเสนอสินค้า บริการและโปรโมชั่นในการขายที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้โดยตรง
- มีความสะดวกสบาย ส่งต่อข้อมูลไปหาลูกค้าได้ในเวลาอันสั้น ส่งผลต่อการขยายธุรกิจและประสิทธิภาพในการทำการตลาดได้รวดเร็วขึ้น
Personalized Marketing ตัวอย่างความสำเร็จด้านการตลาดยุคใหม่
ตัวอย่างแบรนด์ที่เห็นถึงการเติบโตได้อย่างชัดเจนหลังจากทำการตลาดแบบ Personalized Marketing คือ Netflix, Spotify และ Shopee
- Netflix เป็นธุรกิจสตรีมมิงที่โด่งดังและได้รับความสนใจมาก จากฟังก์ชันการแนะนำภาพยนตร์ ซีรีส์หรือรายการที่ผู้ใช้อาจสนใจขึ้นในหน้าแรก เป็นการดึงดูดให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด
- Spotify เป็นธุรกิจสตรีมมิงเพลงที่นอกจากการสร้างเพลย์ลิสต์ส่วนตัวได้แล้ว ยังมีการแนะนำเพลงที่อ้างอิงจากข้อมูลเพลงที่ลูกค้าเลือกฟัง ช่วยให้คาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้าและสร้างความประทับใจจากการเพิ่มความน่าดึงดูดให้ลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังสามารถส่งต่อเพลย์ลิสต์หรือเพลงที่ชอบไปยังโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพื่อเป็นการทำการตลาดไปในตัวอีกด้วย
- Shopee เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าที่มีข้อมูลการค้นหาจากลูกค้าแนะนำเสนอสินค้าที่ใกล้เคียงกันออกมาจึงสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะบุคคลที่ส่งตรงถึงลูกค้า ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้นด้วย
มาเริ่มทำ Personalized Marketing
เมื่อเห็นถึงประโยชน์และความสำเร็จในการทำการตลาดด้วย Personalized Marketing แล้ว หลายคนจึงอยากริเริ่มทำธุรกิจที่ใช้การตลาดแบบนี้ ซึ่งวิธีในการทำการตลาดด้วย Personalized Marketing ก็สามารถเริ่มได้ไม่ยากด้วยขั้นตอนต่างๆ คือ
1. เริ่มเก็บข้อมูล
ขั้นแรกคือการเก็บข้อมูล เพื่อให้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า โดยอาจใช้อัลกอริทึมช่วยเก็บ หรือให้ลูกค้ากรอกข้อมูลเพิ่มเติมในหน้าเข้าแอปพลิเคชัน หรือตามแบบสอบถามเพื่อช่วยจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้น
2. เริ่มทำ Personalized Persona
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะต้องเริ่มทำ Personalized Persona คือการนำข้อมูลที่ได้รับมาจำแนกเฉพาะบุคคลเพื่อให้รู้ถึงความต้องการ ความชอบ พฤติกรรมในการเลือกซื้อ หรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากสินค้าและบริการ
3. เริ่มทำ Content
เมื่อวิเคราะห์ได้ความต้องการของลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจงแล้ว จากนั้นให้เริ่มทำคอนเทนต์ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการโดยเน้นไปที่การตอบสนองต่อความต้องการ ความชอบ หรือพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มเป้าหมายให้ดึงดูดความสนใจให้ตรงใจเพื่อให้เข้ามาเป็นลูกค้า
4. ทดสอบและวัดผล
ขั้นตอนสุดท้ายคือการทดสอบและวัดผล เมื่อมีการใช้คอนเทนต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจะต้องมีการจัดเก็บผลลัพธ์ที่ได้ว่าตอบโจทย์ลูกค้ามากแค่ไหนเพื่อที่จะวิเคราะห์ว่าต้องมีการแก้ไขปรับปรุงหรือทำคอนเทนต์แบบใดจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด
ข้อควรระวังของ Personalized Marketing ที่ไม่ควรมองข้าม
เนื่องจากการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing คือการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าที่ละเอียดอ่อนและเฉพาะเจาะจงซึ่งหลายครั้งที่ลูกค้าอาจไม่ยินยอมให้ใช้ข้อมูลดังกล่าวนั้น การทำธุรกิจด้วยการตลาดแบบ Personalized Marketing จึงมีข้อควรระวังคือให้ความโปร่งใสกับลูกค้าโดยต้องได้รับความยินยอมในการใช้ข้อมูลจากลูกค้าก่อนเพื่อป้องกันอันตรายและข้อถกเถียงในเรื่องของความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
สรุป
การทำ Personalized Marketing คือการนำข้อมูลของลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมาวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อ แนวโน้มความต้องการและโจทย์ที่ลูกค้าต้องการแบบรายบุคคล จากนั้นนำมาทำการตลาดเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงลูกค้าจึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้น หลายธุรกิจจึงนิยมทำการตลาดแบบ Personalized marketing เพราะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะนำเสนอสินค้า บริการหรือโปรโมชั่นต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและเพิ่มโอกาสที่จะได้รับเลือก อย่างไรก็ตาม ในการใช้ข้อมูลของลูกค้าควรที่จะแสดงความโปร่งใสและได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อนจึงจะปลอดภัยต่อทั้งธุรกิจและลูกค้า
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing มากขึ้น บทความนี้จึงขอรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหรือคำถามที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing เพื่อให้เข้าใจกันได้มากขึ้น
แบบไหนที่เรียกว่า Personalized Marketing
การทำ Personalized marketing มีหลักสำคัญอยู่ที่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจง จึงอาจกล่าวได้ว่าการทำคอนเทนต์ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุดและส่งหาลูกค้าโดยตรงคือการทำการตลาดแบบ Personalized marketing เช่นการส่ง E-mail หรือการส่งข้อความที่พิเศษเฉพาะลูกค้า
ทำไม Personalized Marketing ถึงมีความสำคัญ
ความสำคัญของ Personalized marketing ต่อการทำการตลาดคือการทำให้ธุรกิจได้เชื่อมต่อหาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างตอบโจทย์เพราะได้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง จึงมีความละเอียดและสร้างโอกาสที่จะให้สินค้า บริการ หรือโปรโมชั่นที่ลูกค้าต้องการได้มากขึ้น ทำให้การทำการตลาดแบบ Personalized marketing มีความสำคัญต่อการเข้าถึงลูกค้าได้
Personalized Marketing มีประสิทธิภาพแค่ไหน
ประสิทธิภาพของการทำการตลาดแบบ Personalized marketing คือการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างแบรนด์และลูกค้า เนื่องจากยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งทำให้แบรนด์สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มาก จึงยิ่งทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้า บริการและชื่นชอบในโปรโมชั่นของแบรนด์นั้นมีมาก จึงถือเป็นการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูง ให้ผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องและสามารถสร้างโอกาสและขยายฐานลูกค้าประจำที่ให้ความไว้วางใจต่อแบรนด์ได้ดี