ด้วยโลกปัจจุบัน “ข้อมูล” เป็นสิ่งสำคัญที่เรียกได้ว่าธุรกิจใดไม่ทำการตลาดแบบ Data-Driven Marketing อาจตามคู่แข่งไม่ทัน และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตลาดยุค 5.0 จึงต้องนำข้อมูล (Data) ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาวางแผนการตลาดให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำความเข้าใจลูกค้า และพัฒนาวิธีทำการตลาดสำหรับสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้สดใหม่ ตรงใจผู้ซื้ออยู่เสมอ
บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยดาตาว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร สำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ และช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้มากแค่ไหนกัน
Data-Driven Marketing คืออะไร? รู้จักกันหรือยัง
Data-Driven Marketing คือ การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล กล่าวคือ การนำข้อมูลที่พบจากสื่อโซเชียลต่าง ๆ หรือตามแพลตฟอร์ม มาวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึก ศึกษา ทำความเข้าใจลูกค้า และสามารถคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
Data-Driven Marketing จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดแนวใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำการตลาดของธุรกิจได้อย่าง Insighful ทำให้การตัดสินใจและการวางแผนขององค์กรหรือธุรกิจมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
4 ประเภทของข้อมูลใน Data-Driven Marketing
เมื่อรู้แล้วว่า Data-Driven Marketing คืออะไร สิ่งที่ไม่รู้ไม่ได้เลยก็คือประเภทของข้อมูล ข้อมูลที่ว่าก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ Zero-Party Data, First-Party Data, Second-Party Data และ Third-Party Data
1. ข้อมูลที่ไม่มีฝ่าย (Zero-Party Data)
ข้อมูลที่ไม่มีฝ่าย (Zero-Party Data) คือ ข้อมูลที่เราได้จากลูกค้ามาโดยตรง อย่างเช่น การเก็บข้อมูลจาก Preferences ของลูกค้า ว่ามีความต้องการ หรือชอบอะไร ผ่านการทำโพล แบบสำรวจ การถามคำถามต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ความเชื่อใจจากลูกค้า เมื่อลูกค้าให้ความไว้วางใจและยินดีตอบคำถามเพื่อให้ทางแบนรด์ได้นำข้อมูลของตนไปใช้เพื่อพัฒนาการบริการที่ตรงใจผู้บริโภคแล้ว ทางแบรนด์ก็จะต้องนำเสนอบริการที่ใช่ ตามที่ลูกค้าต้องการให้ได้ด้วย
2. ข้อมูลของบุคคลที่หนึ่ง (First-Party Data)
ข้อมูลของบุคคลที่หนึ่ง (First-Party Data) เป็นข้อมูลลูกค้าที่จัดเก็บผ่านแพล็ตฟอร์มมาเก็ตติ้งต่าง ๆ ของธุรกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ การซื้อ อีเมล์ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลแบบ “ยินยอม” ข้อมูลดังกล่าวจึงมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ ประโยชน์ของข้อมูลของบุคคลที่หนึ่งคือความสามารถในการ Personalize แผนการตลาดให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าได้นั่นเอง
3. ข้อมูลของบุคคลที่สอง (Second-Party Data)
ข้อมูลของบุคคลที่สอง (Second-Party Data) คือการจับมือกันระหว่างบริษัทของเราและบริษัทอื่น ๆ เพื่อแชร์ข้อมูลของบุคคลที่ 1 (First-Party Data) ผลที่ได้ก็คือความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือที่สูงขึ้น รวมถึงได้ข้อมูลที่มีความหลากหลาย และลึกมากขึ้น ส่งผลให้การทำการตลาดแบบรู้ใจ (Personalized Marketing) มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม
4. ข้อมูลของบุคคลที่สาม (Third-Party Data)
ข้อมูลของบุคคลที่สาม (Third-Party Data) เป็นข้อมูลไม่โดยตรง หมายความว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากแหล่งอื่นๆ อย่างเช่น Google, Adobe หรือ Oracle เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างที่จะหลากหลาย ทำให้ตรวจสอบได้ยากว่าข้อมูลเหล่านี้ได้รับการยินยอมมาหรือไม่ ข้อมูลที่จัดอยู่ในกลุ่มข้อมูลของบุคคลที่สาม ประกอบไปด้วย กิจกรรมบนเว็บไซต์ (ผ่าน Cookies) ข้อมูลประชากร (รายได้, อายุ, การศึกษา, อาชีพ ฯลฯ ) และการตอบคำถามในแบบสำรวจ
ข้อมูลประเภทนี้เป็นข้อมูลโดยกว้าง มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวบางอย่างที่อาจไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว ข้อมูลของบุคคลที่สามจึงเหมาะกับคนที่เริ่มดู Data และต้องการหาแนวทางในขั้นต้นเพื่อสื่อสารกับลูกค้า แต่ด้วยนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกจำกัด และไม่สามารถเชื่อถือและพึ่งพาได้ร้อยเปอร์เซนต์
ทำไมเราต้องใช้ Data-Driven Marketing กับแบรนด์ของเรา
Data-Driven Marketing เป็นแผนการตลาดยุคใหม่ที่ถ้าคุณไม่เริ่มต้นนำมาใช้กับธุรกิจก็อาจจะตามหลังคู่แข่งไปหลายก้าว ถ้าอยากทำการตลาดให้ตรงใจกับสังคมที่กำลังดำเนินหน้าสู่ยุค 5.0 Data-Driven Marketing จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่มาทดแทนการตลาดแบบเดิม ๆ ที่อาจจะปรับตัวไม่ทันเทรนด์ใหม่ ๆ อีกต่อไป ช่วยให้คุณสร้างคอนเทนต์ที่ตรงใจ และมีการตัดสินใจทางการตลาดที่ดีขึ้นอีกหลายเท่า
ประโยชน์ต่อธุรกิจ
ช่วยให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บเงินจากผลิตภัณฑ์ได้สะดวก ซึ่งสามารถข้ามข้อจำกัดด้านเวลาที่เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้อย่างมากมาย โดยสำหรับการซื้อขายข้ามภูมิภาค ต่างสถานที่ เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อ และเป็นแพลตฟอร์มที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่องทางการขายอื่นๆ จึงทำให้ E-marketplace สามารถให้ความไว้วางใจได้มากขึ้น สร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ เพราะการวางจำหน่าย ราคา และสต็อกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด
สร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า
Data-Driven Marketing ช่วยให้คุณสามารถทำข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคมาสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับพวกเขาได้ อย่าคิดว่าประสบการณ์ของผู้บริโภคเป็นเรื่องเล็กน้อยเลยเชียว เพราะผู้ใช้มากกว่าครึ่ง “เลือก” ที่จะซื้อสินค้าและบริการจากเว็บไซต์อื่น ๆ หากพวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี
ผลิตเนื้อหาที่ตรงใจลูกค้าได้
การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลทำให้ทีมการตลาดสามารถ เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกว่า เนื้อหา ภาพ หรือข้อความโฆษณาแบบใดที่จะถูกใจลูกค้ามากที่สุด ส่งผลให้เกิดการผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ และโฆษณาที่เกี่ยวข้อง ออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากดูโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งหากไม่สามารถผลิตคอนเทนต์ที่โดนใจได้อาจทำให้เกิดความน่ารำคาญ และเป็นการไล่ลูกค้าทางอ้อมได้เลย
รู้แนวทางปรับคอนเทนต์ตามลักษณะของลูกค้า
จากผลสำรวจพบว่า 74% ของลูกค้าไม่พึงพอใจเมื่อพบเห็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้อง และกว่า 79% ถึงขั้นตัดสินใจไม่ใช้บริการจากแบรนด์ จนกว่าทางแบรนด์จะปรับเปลี่ยนให้ตรงกับลักษณะส่วนบุคคล และความต้องการของลูกค้า เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า นักการตลาดอย่างเราจะต้องโฟกัสไปที่การปรับเปลี่ยนให้ตรงกับลักษณะของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่งข้อมูลของลูกค้านี่เองที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ เพราะจะทำให้เห็นมุมมองแบบองค์รวมของกลุ่มเป้าหมาย แถมยังชี้ให้เห็น Pain Point ของว่าที่ลูกค้าได้อีกด้วย หากทำสำเร็จจะช่วยกระตุ้นผลตอบแทนให้กับธุรกิจกว่า 5-8 เท่าเลยทีเดียว
หาช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับการโปรโมต
ข้อมูล (Data) ไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้ความชอบ หรือความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้แบรนด์สามารถเลือกช่องทางที่ดีที่สุดในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งในปัจจุบัน และอนาคตได้
การตัดสินใจที่ดีกว่าด้วยข้อมูล
การนำแผนการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมาใช้ ช่วยให้นักการตลาดสามารถตัดสินใจได้ดีกว่า เพราะว่าการตัดสินใจมีข้อมูลที่เป็นรูปธรรม และเป็นการใช้กรณีศึกษาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้นำเอาแต่ทฤษฎีมาใช้ แต่พึงระลึกไว้ว่า Data-Driven Marketing ไม่ได้พิจารณาในแง่ของอารมณ์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ดังนั้น หน้าที่ของนักการตลาดจึงจะต้องประเมินทั้งในแง่เหตุผลและอารมณ์ร่วมด้วย
ปัจจัยที่ธุรกิจต้องรู้ก่อนเลือกใช้ E-Marketplace
เมื่อมีข้อมูล (Data) แล้วแต่ยังไม่มีกลยุทธ์ที่ดี ข้อมูลที่อยู่ในมืออาจไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ ลองมาดูขั้นตอนการทำ Data-Driven Marketing ขอบอกว่าไม่ยาก เรามี 6 กลยุทธ์เด็ด ใช้ได้จริงมาแนะนำ
1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
การตั้งเป้าที่ชัดเจนเป็นกลยุทธ์ขั้นตั้นที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ การวางแพลนที่มีเป้าหมายคลุมเครือ ย่อมทำให้แผนการตลาดดูจะสั่นคลอนตามไปด้วย เพราะฉะนั้น การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนก็เหมือนกับเสาหลักที่มีความแข็งแรง และมองเส้นชัยได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป้าหมายนี้เองที่จะเป็นตัวช่วยนำพาธุรกิจไปข้างหน้า และประเมินได้ว่าการทำตามแผนนั้นส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ขนาดไหน โดยเป้าหมายที่ดีประกอบไปด้วย 5 อย่าง เรียกง่าย ๆ ว่า “SMART”
- Specific (เจาะจง) – เป้าหมายควรมีความชัดเจน
- Measurable (วัดได้) – สามารถวัด และประเมินได้ว่าธุรกิจมีความก้าวหน้าตามที่วางแผนไว้มากน้อยเพียงใด
- Achievable (ทำให้สำเร็จได้) – เป้าหมายควรมีความเป็นไปได้ ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่เกินจริง
- Relevant (เกี่ยวข้อง) – เป้าหมายต้องสนับสนุนวัตถุประสงค์ของธุรกิจ
- Time-bound (กำหนดเวลาชัดเจน) – มีขอบเขตเวลาในการทำตามเป้าหมายที่ชัดเจน
2. เข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
การสื่อสารกับอีกฝ่ายโดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในบุคคลนั้น อาจจะทำให้การสื่อสารไม่บรรลุเป้าประสงค์ ในทำนองเดียวกันกับการทำธุรกิจ การเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนจะช่วยให้การทำการตลาดง่ายขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว หากลูกค้าพบว่าโฆษณาที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ การตัดสินใจซื้อบริการก็ลดลง แต่แน่นอนว่า เราไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ ดังนั้นจึงต้องจำกัดกลุ่มเป้าหมายลงมา ให้เป็นกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ที่น่าจะมีความสนใจในสินค้าหรือบริการของเรา
แล้วจะพิจารณากลุ่มเป้าหมายได้จากอะไร
- Demographics (ข้อมูลประชากร)
เช่น อายุ รายได้ สถานภาพแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงความสนใจ ค่านิยม และความคิดเห็นของลูกค้าได้ - Motivations (แรงจูงใจ)
ค้นพบเป้าหมายของลูกค้าว่าเป็นเช่นไร ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ว่าจะต้องทำการตลาดแบบใดถึงจะตรงใจพวกเขา - Behaviors (พฤติกรรม)
ถ้าอยากจะเห็นภาพชัดเจนว่าแคมเปญเกี่ยวข้องกับลูกค้าหรือไม่ อย่างไร ต้องศึกษาพฤติกรรมของพวกเขา เช่น ดูว่ามีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์แบบใด ก่อนหน้านี้จับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าประเภทใด
3. จัดเรียงข้อมูลให้ถูกต้อง
ข้อมูลที่ใช่ก็คือข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความเกี่ยวข้อง ซึ่งในขั้นแรกอาจจะเริ่มเก็บข้อมูลจากลูกค้าที่เคยใช้บริการ เช่น ข้อมูลกิจกรรมที่พวกเขาทำบนเว็บไซต์ การสื่อสารผ่านลูกค้าสัมพันธ์ ประวัติการขาย และการตอบแบบสอบถาม ข้อมูลทั้งหมดนี้เรียกว่า ข้อมูลของบุคคลที่หนึ่ง (First-Party Data) โดยสามารถหาข้อลูเพิ่มเติมจากข้อมูลของบุคคลที่สาม (Third-Party Data) และข้อมูลของบุคคลที่สอง (Second-party data) ในกรณีที่รู้สึกว่าข้อมูลไม่เพียงพอ
ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการก็สามารถนำมาจัดเรียงใน DMP (Data Management Platform) จากนั้นวางเป้าหมาย ว่าต้องการให้ลูกค้าเหล่านี้ทำอะไร เช่น ต้องการให้พวกเขาซื้อสินค้า หรือ เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และวางแผนการตลาดเพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้ทำในสิ่งที่คุณได้วางแผนเอาไว้
4. เลือกช่องทางการตลาดของคุณ
การเลือกช่องทางการตลาดเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ ข้อมูลที่ได้มาจะเป็นตัวชี้ว่าลูกค้ามักจะรวมตัวกันอยู่ที่แพล็ตฟอร์มใดมากที่สุด และพวกเขามักจะทำอะไรกันบนสื่อโซเชียลมีเดียเหล่านั้น การศึกษาพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยที่ยอดเยี่ยมในการเริ่มต้น และวางแผนกลยุทธ์ในขั้นต่อไป
นอกจากตัวผู้บริโภคแล้ว การศึกษาข้อดี-ข้อเสียของช่องทางการทำการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การเข้าใจผู้บริโภค ดังนั้น จึงควรพิจารณาทั้งสองอย่าง เพื่อการวางกลยุทธ์ที่แยบยล
5. ให้บริการเนื้อหาที่เหมาะสม
ในขั้นตอนนี้ก็มาถึงขั้นตอนการสร้างเนื้อหา คอนเทนต์ที่เหมาะสม และส่งออกไปยังช่องทางต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายที่สอดคล้องกันก็คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าทำในสิ่งที่วางแผนเอาไว้ เช่น ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ ซึ่งก็มีรายละเอียดแยกออกไปอีกว่า เนื้อหาที่จะนำเสนอนั้นจะต้องประกอบด้วยอะไร ซึ่งสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาก็มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่
- Audience (ผู้ชม) – ต้องรู้ว่าผู้ชมสนใจอะไร การตอบสนองต่อเนื้อหาแต่ละประเภทเป็นเช่นไร
- Goals (เป้าหมาย) – จุดประสงค์หรือเป้าหมายอาจส่งผลต่อแคมเปญที่ผลิตออกไป
- Channels (ช่องทางการตลาด) – ช่องทางการตลาดที่เลือกใช้ส่งผลต่อเนื้อหาที่จะทำให้แคมเปญได้รับความสนใจ ซึ่งตรงนี้การใช้ประโยชน์จากดาตาในการวิเคราะห์ทำให้เข้าใจว่า แพล็ตฟอร์มแต่ละประเภทเหมาะกับการโฆษณาแบบใด ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
- Customer Journey (เส้นทางของผู้บริโภค) – บางครั้งสิ่งที่สื่อไปยังผู้บริโภคอาจจะต้องมีการปรับให้เข้ากับลักษณะบุคคล และเส้นทางการบริโภคของพวกเขา ซึ่งการให้บริการเนื้อหาที่เหมาะสมก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกค้าขาจรกลายเป็นลูกค้าประจำ
6. ติดตามแคมเปญของคุณ
กลยุทธ์การตลาดแบบ Data-Driven จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคอยติดตามผลแคมเปญ ทำให้รู้ว่าแคมเปญที่ทำไปนั้นมีจุดไหนที่เวิร์และจุดไหนที่ไม่เวิร์ค
ตัวอย่างของแบรนด์ที่ใช้ Data-Driven Marketing ได้น่าประทับใจ
คงพอรู้จักกับ Data-Driven Marketing กันไประดับหนึ่งแล้ว นอกจากการเรียนรู้ทฤษฎี และวิธีต่าง ๆ ในการดึงข้อมูลมาใช้พัฒนาธุรกิจ หากยังไม่ได้ลองลงมือทำก็คงยังไม่เห็นภาพจริง ๆ เราจึงมีตัวอย่างของแบรนด์ชั้นนำที่ได้มีการนำการตลาดแบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมาใช้ และประสบความสำเร็จ จะมีแบรนด์อะไรบ้างนั้น ไปติดตามต่อได้เลย
การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล: Spotify Wrapped
Spotify Wrapped แคมเปญที่หลายๆ คนคงเห็นผ่านๆ ตากันมาบ้าง (ในกรณีที่คุณไม่ได้ใช้งาน Spotify) แต่ใครที่เป็นผู้ใช้ Spotify อยู่แล้ว คุณก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้อย่างแน่นอน ซึ่งแคมเปญนี้ให้ผู้ใช้ได้เห็นข้อมูลเชิงลึกว่ามีรสนิยมในการฟังเพลงแบบไหน ฟังเพลงจากศิลปินคนไหนมากที่สุด และฟังไปทั้งหมดกี่นาที
แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่แชร์ข้อมูลการฟังเพลงของตัวเองลงตามสื่อโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook และ Instagram ทำให้เกิดกิจกรรม และปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้อย่างล้นหลาม รวมถึงคนที่ไม่ได้ใช้ Spotify ก็อาจเกิดความสนใจในตัวแบรนด์มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ Spotify ทำได้ดีก็คือการนำเสนอเนื้อหาตามลักษณะบุคคลที่ไม่ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าถูกล่วงเกินข้อมูลส่วนตัว
การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์: Rocks Box
Rocks Box เป็นแบรนด์ให้เช่าเครื่องประดับที่ประสบความสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์ Personalisation ที่อาศัยการรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก
Rocks Box เชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูล ที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่รู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว และข้อมูลเหล่านี้ที่ Rocks Box จัดเก็บก็เป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งานอีกด้วย กลยุทธ์ในการจัดเก็บข้อมูลก็มาจากการทำแบบสอบถาม ซึ่งแบบสำรวจนี้เองที่ Rocks Box จะนำมาจัดกลุ่มลูกค้าตามรสนิยมเครื่องประดับ
ลูกค้ายังสามารถกดถูกใจผลิตภัณฑ์สำหรับการซื้อในอนาคตอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้าสามารถให้ฟีดแบ็คถึงผลิตภัณฑ์ที่ตนเองได้รับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย เพราะ Rocks Box สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบให้ตรงใจลูกค้า และทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อผลิตภัณฑ์กับ Rocks Box ซ้ำได้อีกด้วย
การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยแอป: Revolut 8.0 Upgrade
Revolut เป็นธนาคารดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง สามารถดึงดูดผู้ใช้ใหม่ ๆ ให้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีการอัพเดตระบบในปี 2021 ที่เรียกว่า Revolut 8.0 ซึ่งมีฟังก์ชันที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนหน้าโฮมเองได้ ส่งผลให้การใช้งานเหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน และเกิดความรวดเร็วในการใช้งานแอปพลิเคชัน Revolut 8.0 ผสมผสานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และ AI มาใช้เพื่อจัดการข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า และบริการให้เกี่ยวข้องกับตัวผู้ใช้งาน
ความท้าทายที่นักการตลาดต้องเจอเมื่อทำ Data-Driven Marketing
Data-Driven Marketing เป็นการทำการตลาดยุคใหม่ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ก็มีความท้าทายที่นักการตลาดจะต้องเจอ มาดูกันว่าความท้าทายเหล่านั้นคืออะไร
การค้นหาและเก็บรักษาข้อมูลคุณภาพสูง
ข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการทำ Data-Driven Marketing จะต้องเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันสมัย และมีความถูกต้อง และข้อมูลเหล่านี้จะต้องถูกรักษาและได้รับการอัพเดท นั่นหมายความข้อมูลจะต้องเท่าทันเวลา และมีความเกี่ยวข้อง รวมถึงต้องเป็นข้อมูลที่ไม่ซ้ำ และขัดแย้งกันเอง เพราะจะทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้
การกำหนดเป้าหมายแบบแบ่งกลุ่ม
การตลาดแบบเดิม ๆ คือการส่งข้อความ หรือโฆษณาออกไปสู่ประชาชนจำนวนมาก และหวังว่ามันจะไปตรงใจกับใครสักคนหนึ่ง วิธีเป็นวิธีที่เสียเวลา และได้ผลตอบรับที่ไม่ดีนัก แต่ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนมาทำการตลาดแบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูลก็ตาม ความท้าทายในเรื่องข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค และการส่งข้อความไปยังผู้บริโภคได้ถูกที่ถูกเวลา ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
ข้อมูลแบบ Silos
Data silo มักเกิดในบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และมีการจัดเก็บข้อมูลแยกกันออกไปแต่ละแผนก หากไม่มีการวางแผนที่ดี ข้อมูลที่มีก็จะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะถูกจัดเก็บคนละที่ คนละเวลา ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง และข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ การจัดการข้อมูลที่ถูกต้องคือบริษัทต้องมีเครื่องมือในการจัดการข้อมูลเพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทุกคนในทีมจะต้องเข้าถึงข้อมูลได้ ไม่อย่างนั้น ประสิทธิภาพในการทำ Data-Driven Marketing ก็จะลดลง
การใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์
ในยุคดิจิทัล ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และตลอดเวลา ข้อมูลแบบเรียลไทม์ จะช่วยให้นักการตลาดสามารถเข้าใจ และเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าได้ถูกที่ ถูกเวลา แต่ไม่ใช่ว่าจะมาเก็บข้อมูลเรียลไทม์เพียงอย่างเดียว แต่เก็บแล้วต้องนำมาใช้ให้เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าอย่างทันท่วงที
การสร้างการเชื่อมต่อที่มีความหมาย
บางทีการจัดการกับข้อมูลจำนวนมาก อาจทำให้คุณจมไปกับการวิเคราะห์ข้อมูล จนลืมนึกถึงการเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกค้า การที่ลูกค้าตอบสนองต่อข้อความ ในอีกนัยหนึ่งคือ ความคาดหวังที่ต้องการให้แบรนด์ใส่ใจในความต้องการ รวมถึงต้องการให้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขา ดังนั้น จึงควรใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจบุคคลจริง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลนั้นด้วย
การใช้ข้อมูลในแพลตฟอร์มที่เหมาะสม
แพล็ตฟอร์มสำหรับการจัดการข้อมูลมีมากมายให้เลือกใช้ เพราะแพล็ตฟอร์มที่ดีจะช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้น แพล็ตฟอร์มที่ดีจะต้องช่วยให้คุณสามารถกำหนดเป้าหมาย จัดแบ่งข้อมูลเป็นส่วน ๆ จัดการกับข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และแม่นยำ
สรุป
จะเห็นได้ว่า Data-Driven Marketing เป็นการตลาดแนวใหม่ที่นำเอาข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของคุณให้ก้าวไปข้างหน้า เข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถทำการตลาดได้อย่างตรงจุด และตามทันคู่แข่งอยู่เสมอ เพราะในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แผนการตลาดแบบเดิมอาจได้ผลไม่ดีนัก Data-Driven Marketing จึงเป็นการตลาดยุคใหม่ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
Data-Driven Marketing คืออะไร?
Data-Driven Marketing คือ การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยการนำข้อมูลข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ประเภทของข้อมูลใน Data-Driven Marketing
ประเภทของข้อมูลใน Data-Driven Marketing มี 4 ประเภท คือ
- ข้อมูลที่ไม่มีฝ่าย (Zero-Party Data)
- ข้อมูลของบุคคลที่หนึ่ง (First-Party Data)
- ข้อมูลของบุคคลที่สอง (Second-Party Data)
- ข้อมูลของบุคคลที่สาม (Third-Party Data)
ความท้าทายที่นักการตลาดต้องเจอเมื่อทำ Data-Driven Marketing
- การค้นหาและเก็บรักษาข้อมูลคุณภาพสูง
- การกำหนดเป้าหมายแบบแบ่งกลุ่ม
- การพังทลายของไซโลข้อมูล
- การใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์
- การสร้างการเชื่อมต่อที่มีความหมาย
- การใช้ข้อมูลในแพลตฟอร์มที่เหมาะสม