ถ้าอยากสร้างข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจต้องเรียนรู้กลยุทธ์ SWOT Analysis หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้นักธุรกิจสามารถสร้างข้อได้เปรียบในแข่งขันทางธุรกิจ โดย SWOT Analysis คือ เครื่องมือในการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคามของธุรกิจทั้งในแง่ของปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและเข้าใจว่าตอนนี้ธุรกิจที่คุณกำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นอย่างไร? และควรจะดำเนินต่อไปอนาคตได้อย่างไร
โดย SWOT Analysis คือเครื่องมือสำคัญที่ทุกองค์กรต้องใช้ หากผู้ประกอบการคนไหนไม่เคยนำเอาเจ้าเครื่องมือนี้มาวิเคราะห์เพื่อหาข้อได้เปรียบในการแข่งขัน จะทำให้เราไม่สามารถมองเห็นปัญหาและข้อได้เปรียบของธุรกิจได้อย่างรอบด้าน ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาเรียนรู้การใช้งาน SWOT Analysis อย่างลึกซึ้ง โดยมาดูกันว่าเราจะสามารถใช้ SWOT Analysis ได้อย่างไรบ้าง
SWOT Analysis คืออะไร?
SWOT Analysis คือหนึ่งในครื่องมือที่สำคัญ ที่ช่วยวิเคราะห์ความสามารถ และสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของบริษัท โดยวิเคราะห์ 4 ปัจจัยสำคัญทางธุรกิจที่มีผลต่อการก้าวหน้าของธุรกิจ ได้แก่ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม โดยนำปัจจัยที่ได้มาประเมินสภาวะการตลาด เพื่อกำหนดทิศทางที่บริษัทควรดำเนินต่อไปในอนาคต
โดย SWOT เป็นชื่อย่อมาจากคำว่า STRENGTH- WEAKNESS- OPPORTUNITIES- THREATS ซึ่งกลยุทธ์นี้ถูกคิดค้นโดย Albert Humphrey จาก Stanford Research Institute โดยมีเป้าหมายให้องค์กรหรือธุรกิจรู้ Position ของตัวเอง เพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงให้เข้ากับสภาวการณ์ทางการตลาดในปัจจุบัน รวมถึงสามารถลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ
SWOT Analysis มีอะไรบ้าง?
โดยสำหรับปัจจัยภายในที่สามารถควบคุมได้ ประกอบด้วย Strengths (จุดแข็ง) และ Weakness (จุดอ่อน) อาทิ บุคลากร ทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กร เป็นต้น
Strength
จุดแข็ง (Strength) คือ การวิเคราะห์ข้อได้เปรียบหรือความสามารถในการผลิตสินค้า และบริการที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดเดียวกัน โดยเราต้องวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ทำให้องค์กรมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน อาทิ เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่โดยเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะ โดยแบรนด์อื่นไม่มีเทคโนโลยีตัวดังกล่าว จนไปถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรโดยเฉพาะ เป็นต้น
Weakness
จุดอ่อน (Weakness) คือ การวิเคราะห์ถึงข้อด้อยขององค์กร หรือการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คู่แข่งสามารถทำได้ดีกว่า อาทิ ความสามารถของพนักงาน ปริมาณในการผลิต งบประมาณ รวมถึงทรัพยากรที่องค์กรไม่มีหรือขาดแคลน จนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานยังไม่เพียงพอ ทำให้คู่แข่งขันสามารถทำได้ดีกว่า
ปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบด้วย Opportunities (โอกาส) และ Threats (ภัยคุกคาม) โดยเราสามารถใช้ปัจจัยแวดล้อมนี้วิเคราะห์ถึงโอกาสในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงยังสามารถป้องกันอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนี้
Opportunities
โอกาส (Opportunities) คือ การวิเคราะห์เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายนอก หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ แต่กลับส่งผลดีต่อการดำเนินการทางธุรกิจภายในจนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้ธุรกิจ E-commerce และธุรกิจ Food Delivery เติบโตขึ้นมา ทำให้ผู้ประกอบการสร้างกำไรจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างก้าวกระโดด
Threats
ภัยคุกคาม (Threats) หรือจะเรียกว่าความเสี่ยง และอุปสรรคก็ได้ คือ การวิเคราะห์เหตุการณ์หรือสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้สินค้าที่นำเข้าจากรัสเซียถูกแบน รวมถึงการเข้ามาของสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ทำให้คนดูละครช่องสามลดลง ซึ่งผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากสภาวการณ์ภายนอกต้องหาวิธีปกป้อง ปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้
SWOT Analysis สำคัญและมีประโยชน์ต่อแบรนด์หรือธุรกิจอย่างไร
เครื่องมือในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่าง Swot Analysis คือสิ่งที่หลายๆ ธุรกิจให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนทางที่ช่วยให้การดำเนินการทางธุรกิจสามารถเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีแบบแผน แม้ว่าหลายๆ องค์กรจะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองนั้นรู้จักกับธุรกิจของตนเองดีแล้ว แต่ SWOT เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเราได้อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างหนทางใหม่ให้กับธุรกิจ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาและขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยการทำ Swot Analysis ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือให้ทุกคนในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกขององค์กรเพราะในแต่ละสายงานจะมีข้อได้เปรียบ ข้อด้อย โอกาส และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเห็นภาพกว้างขององค์กรได้อย่างชัดเจน และทำให้การทำ Swot Analysis มีมิติ และ Touch on Point ได้มากขึ้น
นอกจากนี้การทำ Swot Analysis คือสิ่งที่สำคัญและใช้ประโยชน์ได้จริง อีกทั้งช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน เช่น
- สามารถจัดการปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ง่ายขึ้น
- สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับการดำเนินงานทางธุรกิจ
- พัฒนากลยุทธ์ขององค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
- ช่วยรับมือ ป้องกัน และจัดการอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ
- เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของตนเองอย่างลึกซึ้ง
- สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ
ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT Analysis
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเข้าใจแล้วว่าSwot Analysis คืออะไร และมีหลักการในการทำงานอย่างไร? แต่อาจจะไม่ทราบถึงวิธีการนำไปใช้ที่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงขอยกตัวอย่างการทำ Swot Analysis โดยมีตัวอย่างจาก 2 บริษัทชั้นนำของโลก ดังนี้
Apple’s SWOT Analysis
ข้อดีของการนำ Swot Analysis ของ Apple มาเป็นตัวอย่าง จะช่วยให้ทุกคนมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอะไร หรือสิ่งใด? ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทยักษ์ใหญ่ติดอันดับโลก
จุดแข็ง Strength:
- กินส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดใหญ่ โดย Apple นับว่าเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนตัวจริงเพราะในปี 2565 นี้ Apple สามารถสร้างยอดขายอุปกรณ์ทั้งหมดของไปได้มากกว่า 1.8 พันล้านเครื่องเลยทีเดียว
- เทคโนโลยีขั้นสูง ปัจจัยที่ทำให้ Apple นำหน้าคู่แข่งมาตลอดคือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นในการดึงดูดลูกค้าที่อยู่ทุกมุมของโลกมาซื้ออุปกรณ์ของ Apple
- อุปกรณ์หลากหลายชนิด Apple มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่ตลอด ซึ่งนับเป็นการกระจายการลงทุน โดยการเติมช่องว่างทางการตลาดและทำให้ Apple สามารถสร้างกำไรได้หลายช่องทางจากการผลิตอุปกรณ์ประเภทต่างๆ
- เพิ่มบริการเสริม อย่าง AppleCare, Apple Card, และ Apple TV+ ที่ทำให้ Apple สามารถสร้างรายได้เกือบ 19% การบริการเสริมดังกล่าว
- การออกแบบที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง นั่นคือความเรียบง่ายที่มีระดับและทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เลือกใช้ Apple
- ลูกค้ามีความภักดีต่อแบรนด์สินค้า เป็นความโดดเด่นของ Apple เลยทีเดียวที่มีลูกค้าที่เชื่อมั่นและภักดีต่อแบรนด์เป็นจำนวนมาก โดยผู้ใช้ Apple ยังเป็นผู้ใช้ Apple เสมอ ซึ่งยากที่จะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น
จุดอ่อน Weakness:
- โฆษณาและกิจกรรมทางการตลาดน้อย โดย Apple เป็นบริษัทที่ใช้งบโฆษณาและดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในโลกดิจิทัลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น เป็นโอกาสให้แบรนด์สร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้นจากการโฆษณาที่มากกว่า
- การออกแบบที่ซ้ำซากจำเจ โดยตั้งแต่ไอโฟนรุ่นแรกผลิตจนมาถึงปัจจุบัน ไอโฟนไม่เคยปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวเองเลย โดยเปลี่ยนแค่ขนาด ความหนา และปุ่มโฮม ซึ่งไม่มีลูกเล่นอื่นที่ดึงดูดให้คนซื้อมากขึ้น
- ราคาแพง โดยราคาของ Apple หลายคนมองว่ามีราคาที่สูงเกินจริง เมื่อเทียบกับศักยภาพที่มี จึงมีผู้ใช้จำนวนมากหนีไปซบแบรนด์คู่แข่งที่มีราคาต่ำกว่าแต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน
- ใช้ได้เฉพาะซอตฟ์แวร์ของ Apple เท่านั้น อุปกรณ์ทั้งหมดของ Apple ไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์ของเจ้าอื่นได้เลย หากผู้ใช้ Apple จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่รองรับซอฟต์แวร์ของ Apple
โอกาส Opportunities:
- การพัฒนา AI การพัฒนา AI หรือปัญญาประดิษฐ์ของ Apple จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ทั้งหมด และสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในอนาคต
- ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่เพียงส่งผลดีต่อส่งแวดล้อม ยังช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาของคนทั้งโลกอีกด้วย
- สร้างโลกเสมือนจริง ทุกวันนี้โลก Metaverse กำลังบูมเป็นอย่างมาก ถ้า Apple สามารถนำประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวมาใช้ได้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก
- พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ปัจจุบันมีอุปกรณ์อัจฉริยะเกิดขึ้นทุกวัน หาก Apple พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างอุปกรณ์อัจฉริยะชิ้นใหม่เกิดขึ้นบนโลกได้ ก็สามารถขยายฐานลูกค้าออกไปได้กว้างกว่าที่มีอยู่
- โลกาภิวัฒน์ แน่นอนทุกวันนี้โลกของเราเป็นโลกไร้พรมแดนแล้ว Apple สามารถสร้างโอกาสให้ตัวเองได้การโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้อยู่กับคนที่อยู่อีกฝากของโลก จึงเป็นการสร้างลูกค้าและปูเส้นทางให้ Apple ขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศอื่นๆ ได้
ภัยคุกคาม Threats:
- สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกหลากหลายแห่ง อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ Apple ต้องถอนตัวออกจากประเทศสงครามทำให้รายได้ลดลง และไม่สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศดังกล่าวได้ในขณะนี้
- ภาษีศุลกากร โดยสหรัฐฯ มีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าอะไหล่จากจีนที่สูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท และทำให้ Apple ต้องขึ้นราคาอุปกรณ์ทั้งหมด
- การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทั้ง Google, Huawei และ Samsung ทำให้ Apple ต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลายากลำบากในการรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน
เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ Apple ต้องพัฒนาตัวเองให้เร็ว ถ้าช้าหรือล้าสมัย อาจทำให้ Apple รักษาตำแหน่งผู้นำไว้ไม่ได้
Tesla’s SWOT Analysis
อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องนำมาวิเคราะห์ Swot Analysis คือ Tesla’s SWOT Analysis อีกหนึ่งบริษัทชั้นนำของโลกที่นำทัพโดยอีลอน มัสก์ มาดูเบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทนี้กัน
จุดแข็ง Strength:
- ผู้บุกเบิกการใช้พลังงานหมุนเวียนในยนตรกรรม ชื่อของเทสลาคือผู้บุกเบิกยานยนต์ประเภทไฟฟ้า และมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนมาใช้ค่อนข้างโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์
- การร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของโลก อย่าง Southeast APDA, Yes Energy ทำให้เทสลาสามารถขยายความพยายามในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบการแข่งขันในตลาดโลก
- นวัตกรรมขั้นสูง การออกแบบของเทสลาเป็นการผสมผสานความสามารถทางวิศวกรรมและการออกแบบเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานอย่างสูงสุด
- ภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง เทสลาเป็นบริษัทที่มีภาพลักษณ์ในการนำพลังงานสะอาดมาใช้ เป็นความหวังใหม่ของมวลมนุษย์ที่มีต่อแหล่งพลังงานใหม่ที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น
จุดอ่อน Weakness:
- หาซื้อได้ยาก เพราะเทสลาเป็นบริษัทที่อยู่ในช่วงการขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศต่างๆ ทำให้บางประเทศไม่สามารถหาซื้อรถยนต์เทสลาได้
- ราคาแพง สำหรับรถยนต์ของเทสลาเป็นสินค้าที่มีราคาแพง อยู่ในตลาดบนจึงเป็นไปได้ยากที่จะจับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำ
- CEO ดังกว่าแบรนด์ ปัญหาอย่างหนึ่งของเทสลาคือ Elon Musk เนื่องจาก Elon Musk กลายเป็นภาพจำและความเชื่ิอมั่นของผู้คนจนทำให้เทสลาไม่อาจเปลี่ยนมือใช้คนอื่นในการบริหารงานแทนได้
โอกาส Opportunities:
- เทคโนโลยีไร้คนขับ เทคโนโลยีนี้ของเทสลามีชื่อเสียงในเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากที่สุด ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการใช้งานมากเป็นอันดับหนึ่ง
- รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระแสในปัจจุบันผู้คนหันมาใช้ความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
- เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ เทสลามีการวางแผนนำแบตเตอรี่มาใช้ภายในองค์กร จะทำให้เทสลาสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ และช่วยสร้างงานในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลก
ภัยคุกคาม Threats:
- การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ในตอนนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งให้ความสนใจในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน อาทิ BMW และ Volkswagen จึงกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเทสลาที่ต้องเชือดเฉือนกันในอุตสาหกรรมนี้
- เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ แรงกดดันทางแข่งขันทำให้อุตสาหกรรมนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งสามารถสร้างข้อได้เปรียบเหนือเทสลาได้ในอนาคต
โครงสร้างพื้นฐานของหลายๆ ประเทศไม่เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้า โดยอย่างในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ สถานที่สำหรับเติมรถยนต์ไฟฟ้ามีค่อนข้างจำกัด ทำให้เทสลาไม่สามารถขยายตลาดได้ดีมากเท่าที่ควร
ข้อจำกัดของ SWOT Analysis
แม้ว่า Swot Analysis คือเครื่องมือที่นิยมใช้กันในโลกของธุรกิจ แต่แน่ใจใช่มั้ยว่าเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แน่นอนว่าไม่ ! เพราะ Swot Analysis นั้นครอบคลุมเฉพาะประเด็นที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส หรือ ภัยคุกคามเท่านั้น แต่ไม่สามารถจัดการปัจจัยที่มีความคลุมเครือได้ ตัวอย่างเช่นตำแหน่งที่ตั้งของบริษัทอาจเป็นได้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งได้ โดยอาจมีทำเลดี แต่ค่าที่แพง ดังนั้น Swot Analysis จึงเป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่มีความซับซ้อนได้
อีกทั้งยังไม่สามารถเลือกแนวทางที่ดีที่สุดหรือลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาได้อีกด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์ด้วย Swot Analysis คือสิ่งที่นำเอาปัจจัยทั้งสี่ด้านมาวิเคราะห์โดยให้น้ำหนักเท่ากันหมด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถทราบได้ว่าปัญหาใดควรที่จะแก้หรือป้องกันเป็นอย่างแรก และไม่มีแนวทางหรือทิศทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง
เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อจำกัดในการทำ Swot Analysis แล้ว นับว่า Swot Analysis ก็ยังเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองเห็นภาพรวมของบริษัทได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในเรื่องใดๆ ก็ตาม การที่รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจนั้นย่อมเรื่องที่ดี นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ องค์กรเลือกใช้ SWOT Analysis เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ว่าภาพรวมของเรานั้นมีจุดไหนที่สามารถแข่งขันได้ และส่วนไหนที่ต้องเตรียมรับมือและระมัดระวังเป็นพิเศษ และทำให้การวางแผนและกลยุทธ์ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น หากวันนี้คุณยังไม่ได้ทำ SWOT Analysis เราจึงขอแนะนำให้เริ่มทำเพราะนี่คือสิ่งที่ช่วยให้หลายๆ ธุรกิจ หลายองค์กรก้าวข้ามปัญหาต่างๆ มาแล้วมากมาย
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
ทำไมต้องทำ SWOT Analysis?
เพื่อให้เห็นภาพรวมของธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการประเมินแบรนด์และองค์กรไปในตัวว่ากำลังขาดสิ่งไหน หรือสิ่งไหนที่เราทำได้ดีกว่า เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาพัฒนาภาพรวม เพื่อให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันได้
SWOT Analysis ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
SWOT Analysis ประกอบด้วยองค์ประกอบใหญ่ 2 ส่วนคือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจัยภายในเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือ จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) ส่วนปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือ โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats)
SWOT analysis ควรใช้เมื่อไหร่?
- เมื่อมีการขยายตลาดใหม่
- เมื่อต้องการไอเดียหรือแนวคิดทางธุรกิจใหม่
- การหาโอกาสในการลงทุน หรือหากเป็นในเชิงการทำ SEO ก็จะใช้เมื่อเราทำหรือออกแบบเว็บไซต์ใหม่ เพื่อที่จะดูว่าคนที่เข้าชมเว็บเราเป็นใคร ควรใช้คีย์เวิร์ดแบบไหน และโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่งควรไปในทิศทางไหน และนำมาวางแผนการทำ SEO นั่นเอง