KEY TAKEAWAYS
- CMS คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการข้อมูลบนเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่การแก้ไข การออกแบบ และการลบข้อมูล จึงช่วยลดทรัพยากรในการจัดการเว็บไซต์ได้ ทั้งต้นทุนด้านเวลา ทรัพยากรมนุษย์ และต้นทุนในการสร้าง และการดูแลเว็บไซต์
- ฟังก์ชันที่น่าสนใจของ CMS เช่น การสร้าง และแก้ไขเนื้อหา การติดตามการทำงานได้ มีระบบดูแลผู้ใช้ ปลอดภัย รองรับได้หลายภาษา เชื่อมต่อได้หลายช่องทาง สามารถประมวลผลได้แบบเรียลไทม์ แถมระบบยังมีความยืดหยุ่น
- CMS ที่ได้รับความนิยมก็มีหลากหลายแบบ และแบ่งได้ 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ CMS แบบทั่วไป และ CMS สาย E-commerce ซึ่งสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของธุรกิจได้เลย เพราะแต่ละรูปแบบก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป
การทำเว็บไซต์ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทุกองค์กร บางองค์กรอาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างเว็บไซต์ให้มีรูปลักษณ์ที่ดูดี ใช้งานง่าย แต่บางองค์กรที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งหรือบุคคลทั่วไป อาจทำการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งการสร้างเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด หากเรามีซอฟต์แวร์ดีๆ ก็จะทำให้การทำเว็บไซต์กลายเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว
ซอฟต์แวร์ที่เราจะพูดถึงกันวันนี้คือ CMS ย่อมาจาก Content Management System ระบบหลังบ้านที่ทำให้การทำเว็บสะดวกขึ้น เป็นซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้เพื่อบริหาร และสร้างเว็บไซต์แบบสำเร็จรูป โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมมาก่อน ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาได้ ไปเรียนรู้แบบเจาะลึกกันดีกว่าว่า CMS คืออะไร มีการทำงานอย่างไร ทำไมถึงมีความสำคัญกับการทำเว็บไซต์ รวมถึงข้อดี และข้อเสียของระบบนี้อย่างละเอียด
ทำความรู้จัก CMS คืออะไร
CMS คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการข้อมูลบนเว็บไซต์แบบสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้าง จัดการ ปรับแต่งเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข การจัดรูปแบบ การออกแบบ และการลบข้อมูลบนเว็บไซต์ ช่วยให้สะดวกสบายในการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยลดทรัพยากรในการพัฒนา และการจัดการ ทั้งระยะเวลา และทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงประหยัดต้นทุนในการสร้าง และการดูแลเว็บไซต์อีกด้วย
โดยส่วนใหญ่มักจะนำภาษาสคริปต์ (Script Lanquages) มาใช้เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้ในรูปแบบอัตโนมัติ เช่น PHP, Perl, ASP หรือ Python เป็นต้น
CMS มีโดดเด่นด้วยการทำงานในส่วนของ Administration Panel หรือเมนูการควบคุมระบบ ที่ทำหน้าที่บริหาร และจัดการส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งในส่วนฟังก์ชันการนำเสนอบทความ ข่าวสาร Web Directory และอื่นๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ตามจุดประสงค์ของการก่อตั้งเว็บไซต์ เพื่อช่วยในการจัดการเว็บไซต์ให้มีความสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ฟังก์ชันที่น่าสนใจของ CMS
จะเห็นได้ว่า CMS นั้นช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำเว็บไซต์มากแค่ไหน ต่อไปมาดูฟังก์ชันที่น่าสนใจของ CMS กันว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
สร้างและแก้ไขเนื้อหาได้ง่ายดาย
ฟังก์ชันที่สำคัญที่ช่วยให้ CMS ใช้งานง่ายขึ้น คือการที่สามารถสร้างและแก้ไขเนื้อหาได้อย่างง่ายดาย รวมถึงมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ CMS ยังมีเครื่องมือแบบ WYSIWYG (What You See Is What You Get) หรือเครื่องมือแก้ไขข้อความแบบ ‘สิ่งที่คุณเห็นคือสิ่งที่คุณได้’ ซึ่งทำงานคล้ายกับ Microsoft Word เครื่องมือนี้จะช่วยให้จัดการโค้ดของเว็บเพจได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาโปรแกรมพื้นฐาน (HTML)
ติดตามการทำงานได้
CMS มีฟังก์ชันที่สามารถติดตามการทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การแก้ไข การตรวจสอบ ไปจนถึงการเผยแพร่ และการโปรโมต ทำให้โฟลว์การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น หากเว็บไซต์มักจะมีการอัปเดตคอนเทนต์อยู่เสมอ ควรมองหา CMS ที่มีฟังก์ชันการจัดระเบียบคอนเทนต์ที่ดี และสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ในเว็บไซต์ได้ง่ายด้วย
มีระบบดูแลผู้ใช้
ฟังก์ชันของ CMS ที่น่าสนใจอักอย่างคือการที่สามารถควบคุมได้ว่า ใครสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ และฟีเจอร์ต่างๆ ได้บ้าง การกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงได้ จะสามารถจัดการบัญชีผู้ใช้ได้ ทำให้ป้องกันข้อผิดพลาดได้ รวมถึงเมื่อมีระบบยืนยันตัวตน ก็จะยิ่งช่วยให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้นไปอีก
มีความปลอดภัย
ความน่าเชื่อถือเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ หากลูกค้าสูญเสียความเชื่อใจในตัวองค์กรของคุณ ก็จะยิ่งส่งผลร้ายแรงตามมาเรื่อยๆ ซึ่ง CMS บางตัวนั้นมีคุณสมบัติที่ช่วยตรวจสอบระบบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและเพื่อป้องกันข้อมูลสำคัญ ที่อาจรั่วไหลได้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
รองรับหลายภาษา
กำแพงภาษาอาจเป็นอุปสรรค์ที่ทำให้ธุรกิจของคุณยังไม่ไปไหน แม้ธุรกิจของคุณจะมีดีแค่ไหน แต่ก็ไม่สำคัญ หากไม่สามารถสื่อไปถึงลูกค้าเป้าหมายได้ การที่ CMS สามารถรองรับได้หลากหลายภาษา จึงทำให้สามารถขยายฐานลูกค้า และขยายธุรกิจได้อย่างไร้พรมแดน ควรเลือกใช้ CMS ที่รองรับเครื่องมือแก้ไขได้หลายภาษา และช่วยให้การแปลใช้งานง่าย นอกจากนี้ควรเลือก CMS ที่มีการควบคุมการจัดการข้อมูล ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบในประเทศนั้นๆ ด้วย
เชื่อมต่อได้หลายช่องทาง
ฟังก์ชันอีกอย่างของ CMS คือการที่สามารถเชื่อมต่อได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ใดก็ตาม ก็สามารถเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องเป็น CMS แบบ Headless ซึ่ง CMS แบบไม่มีส่วนหัว จะแยกคอนเทนต์ออกจากการนำเสนอ คอนเทนต์จะถูกสร้างขึ้นเพียงครั้งเดียว จากนั้นจึงแสดงผลบนอุปกรณ์ หรือช่องทางไหนก็ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมี CMS บางตัวที่สามารถเพิ่มช่องทางใหม่ๆ และโหลดเนื้อหาที่มีอยู่ลงไปนั้นได้อย่างง่ายดาย หากองค์กรของคุณต้องการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย การให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อแบบหลายช่องทางก็สำคัญมาก
มีการประมวลผลแบบเรียลไทม์
CMS มีฟังก์ชันช่วยรวบรวม และประมวลผลข้อมูล รวมถึงการโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งฟีเจอร์นี้ช่วยให้ทำความเข้าใจลูกค้าได้ว่าอยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการซื้อ ด้วยข้อมูลส่วนนี้ ทำให้สามารถแสดงคอนเทนต์ที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับลูกค้าได้ เพื่อประสบการณ์การเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ดีที่สุด
ระบบมีความยืดหยุ่น
CMS ถือเป็นการลงทุนในระยะยาวสำหรับธุรกิจต่างๆ CMS บางตัวจึงมีคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าตัวอื่นๆ โดยสามารถรองรับ API ภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ เพื่อที่สามารถใช้คอนเทนต์ในช่องทาง และอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น
องค์ประกอบในการทำงานของ CMS
การทำงานของ CMS จะมีแถบเมนูสำหรับควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ โดยเน้นการทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ จึงทำให้ผู้ดูแลหรือแอดมินสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งยังสามารถอัปเดต ดัดแปลง หรือแก้ไขคอนเทนต์ เพื่อให้เหมาะสมตามรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการทำเว็บไซต์ได้
ในส่วนของ CMS Website คือระบบที่แยกการทำงานของคอนเทนต์ และการออกแบบออกจากกัน ในส่วนคอนเทนต์ ข้อมูลจะถูกจัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูล (Database) หรือไฟล์ และในส่วนการออกแบบ ข้อมูลจะถูกจัดเก็บอยู่ใน Templates หรือ Themes เมื่อทั้งสองส่วนทำงานร่วมกัน จะประกอบไปด้วย Sidebar, Main Menu และ Title bar เป็นต้น
องค์ประกอบในการทำงานของ CMS มีอยู่ 3 องค์ประกอบหลัก ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ถึงจะทำให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ดังนี้
เครื่องมือจัดการเนื้อหา (Content Management Application: CMA)
เครื่องมือจัดการเนื้อหา หรือ CMA ทำหน้าที่จัดการคอนเทนต์บนหน้าเว็บเพจทุกชนิด โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างคอนเทนต์ การเก็บรักษา การแก้ไข การลบข้อมูล จนไปถึงการจัดเก็บข้อมูล มีการทำงานตามลำดับงาน ซึ่งจะช่วยให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องภาษาสคริปต์ สามารถสร้างคอนเทนต์บนเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีผู้ดูแลเว็บไซต์พร้อมกันหลายคนได้
เครื่องมือจัดการข้อมูลของเนื้อหา (Meta Content Management Application: MMA)
เครื่องมือจัดการข้อมูลของเนื้อหาหรือ MMA เป็นการทำงานในส่วนของข้อมูลของคอนเทนต์ (Metacontent) ซึ่งเป็นข้อมูลที่อธิบายว่า ‘Content’ ถูกสร้างโดยใคร เมื่อไร และถูกจัดเก็บไว้ที่ไหน เป็นต้น
เครื่องมือการนำเสนอเนื้อหา (Content Delivery Application: CDA)
เครื่องมือการนำเสนอเนื้อหา หรือ CDA เป็นการดึงคอนเทนต์ที่ถูกจัดเก็บไว้ออกมาจัดเรียงใหม่ในหน้าเว็บเพจ การทำ CDA มักจะยุ่งยากในขั้นตอนติดตั้ง และขั้นตอนกำหนดรูปแบบการแสดงผลเท่านั้น หลังจากนั้นจะปล่อยให้ CDA ทำงานได้ตามกระบวนการ แต่คอนเทนต์ภายใน ผู้ดูแลสามารถแก้ไขได้อย่างยืดหยุ่น โดยไม่กระทบคอนเทนต์ทั้งหมดของเว็บไซต์เลย
ประเภทของ CMS
ได้เห็นกันไปแล้วว่า CMS คืออะไร และมีองค์ประกอบการทำงานอย่างไร ต่อไปนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักประเภทของ CMS ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. Coupled CMS
สำหรับ Coupled CMS จะคล้ายกับ CMS แบบเดิม โดยมีการทำงานส่วนหลังบ้าน ที่สามารถเชื่อมต่อ แก้ไขข้อมูล และเผยแพร่คอนเทนต์ไปยังหน้าบ้านของเว็บไซต์ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับ Web Hosting ถึงจะทำให้ Coupled CMS ทำงานต่อไปได้ และจำเป็นต้องอัปเดตซอฟต์แวร์อยู่เสมอ โดยตัวอย่างของ Coupled CMS ที่คุ้นหูกัน ก็คือการทำ WordPress นั่นเอง
2. SaaS CMS
สำหรับ SaaS CMS เป็นโซลูชันแบบ End-to-End ซึ่ง Hosting จะอยู่บนคลาวด์ จึงไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้ง Web Hosting จึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างเว็บไซต์ จัดการคอนเทนต์ และเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว
3. Decoupled CMS
Decoupled CMS เป็นการทำเว็บไซต์ ที่ส่วนหน้าเผยแพร่เว็บไซต์จะแยกออกจากการทำงานหลังบ้าน โดยการส่งข้อมูลถึงกันระหว่างส่วนหน้า และส่วนหลังบ้าน ต้องทำผ่าน Application Programming Interface (API) ข้อดีของการทำเว็บไซต์แบบนี้ คือการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะสามารถแบ่งคอนเทนต์ หรือปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ในส่วนหน้าบ้าน โดยที่ยังรักษาโครงสร้างเดิมของส่วนหลังบ้านเอาไว้ได้
4. Headless CMS
Headless CMS เป็นการทำงานเฉพาะส่วนของ Back-end System ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลและส่วนของการจัดเก็บคอนเทนต์ จึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าแบบ Decoupled CMS แต่ต้องทำงานมากขึ้น เพราะจำเป็นต้องใช้นักออกแบบ เพื่อดีไซน์ส่วนหน้าของเว็บไซต์
ข้อดีของการสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS
ข้อดีของการสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS มีมากมายหลายประการ โดยสามารถสรุปมาเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
- คนทั่วไปสามารถใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน Coding เลย ก็สร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ รวมถึงลดความยุ่งยากในการเขียนโค้ด จึงสามารถพัฒนาคอนเทนต์ได้อย่างเต็มที่
- ใช้งานได้สะดวก เนื่องจากหน้าตาของ CMS ที่ถูกแบบมาเอื้อต่อผู้ใช้งาน จึงทำให้ใช้งานได้ง่ายไม่ต่างจากซอฟต์แวร์ตัวอื่น ทั้งยังมี Template และ Theme ให้เลือกมากมาย
- ง่ายต่อการจัดการเว็บไซต์ ไม่ใช่แค่ง่ายต่อการจัดการคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังลบ แก้ไข หรือย้ายคอนเทนต์ที่ยังไม่ถูกเผยแพร่ได้ง่าย และสามารถตั้งค่าเวลาในการเผยแพร่คอนเทนต์ได้อีกด้วย
- มีฟีเจอร์เสริมที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างหลากหลาย โดยฟีเจอร์เสริมบางตัวสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
- จัดการสร้างและดูแลเว็บไซต์ได้ง่ายๆ สามารถสร้างหรือดูแลผ่านเว็บบราวเซอร์ ทำให้ผู้ดูแลสามารถแก้ไขข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งสะดวก และรวดเร็ว
- อนุญาตให้เข้าใช้งานได้หลายคน ทำให้สามารถจัดการคอนเทนต์ได้พร้อมกัน รวมถึงร่วมกันทำงานในส่วนต่างๆ ได้อย่างมีระบบ ทำให้การทำเว็บไซต์ รวมถึงการจัดการคอนเทนต์เป็นไปอย่างรวดเร็ว
ข้อจำกัดของการสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS
ข้อจำกัดของการสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS ก็มีเช่นกัน โดยสามารถสรุปมาเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
- ขนาดไฟล์ใหญ่และจำนวนไฟล์ยังเยอะอยู่
- ถ้าอยากได้เว็บไซต์ที่สวย ต้องซื้อ Template
- พัฒนาระบบเพื่อต่อยอดค่อนข้างยาก
- หากจะแก้ Code ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญแก้เท่านั้น เพราะแก้ยาก
- อาจเสี่ยงโดน Hack ได้ง่าย
- Page Speed โหลดค่อนข้างช้า
การนำ CMS มาใช้สร้างเว็บไซต์ในอุตสาหกรรม
CMS นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยจัดการส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ให้สะดวก รวดเร็ว ซึ่งมีการนำ CMS มาใช้ในการสร้างเว็บไซต์ในหลายๆ อุตสาหกรรม ดังนี้
- หน่วยงานของรัฐ เช่น งานข่าวสารข้อมูล การนำเสนองานขององค์กร และงานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
- หน่วยงานเอกชน หรือธุรกิจองค์การต่างๆ เช่น ธุรกิจบันเทิง หนังสือพิมพ์ การเงิน การธนาคาร การท่องเที่ยว ธุรกิจ SME เป็นต้น
- สถาบันการศึกษา
- เว็บไซต์ Intranet Web Site สำหรับใช้ในองค์กร
- โปรแกรมลิขสิทธิ์
- การสร้างเว็บไซต์เพื่อนำมาใช้โดยส่วนตัว
เปรียบเทียบการทำเว็บไซต์รูปแบบอื่นๆ กับ CMS
ทำความรู้จักกับการเว็บไซต์ด้วย CMS กันไปแล้ว ต่อไปมาดูการเปรียบเทียบระหว่าง CMS กับรูปแบบการทำเว็บไซต์อื่นๆ กัน ดังนี้
Website no CMS VS. Website CMS
การจัดการเว็บไซต์ :
- CMS มีโซลูชันที่ดีกว่าหากต้องการทำเว็บไซต์ที่มีหลายหน้าและมีแผนในการแก้ไข เผยแพร่เกี่ยวกับคอนเทนต์ในภายหลัง
- HTML เหมาะกับการทำเว็บไซต์ประมาณ 1-2 หน้า และไม่ได้ต้องการอัปเดตคอนเทนต์บ่อยๆ
ความรวดเร็วในการทำเว็บไซต์ :
- CMS ช่วยให้การทำเว็บเร็วขึ้น เพราะมีธีมสำเร็จรูปในการจัดการเนื้อหาอยู่แล้ว
- HTML ต้องออกแบบ เขียนโค้ด ตั้งค่าเว็บไซต์เองตั้งแต่ต้น และต้นทุนก็แพงด้วย เพราะอาจต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเขียนโปรแกรม
การปรับแต่งเว็บไซต์:
- การปรับแต่งรูปภาพและข้อความบนเว็บไซต์ใน CMS ทำง่ายมาก
- HTML ทำได้ยากกว่า เพราะต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมดเอง
ความสามารถในการรองรับผู้ใช้งาน :
- CMS รองรับ User ได้หลายราย และสร้างบัญชีผู้ใช้ได้ไม่ยากเลย แถมยังกำหนดบทบาทให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคนได้ ซึ่งมีประโยชน์มากหากเว็บไซต์มีหลายบริการ และต้องอัปเดตผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ
- สำหรับ HTML มีข้อจำกัดในเรื่องนี้
การดูตัวอย่างและการทดสอบ :
- CMS สามารถดูตัวอย่างเว็บได้เลยแค่ไม่กี่คลิก และสามารถแก้ไขได้ตามต้องการ
- HTML จำเป็นต้องวางโค้ดลงในไฟล์ข้อความธรรมดา บันทึก ปิด และเปิดด้วยบราวเซอร์เพื่อดูตัวอย่างเว็บไซต์
Website CMS VS. Website Builder
ความรวดเร็วในการทำเว็บไซต์ :
- CMS มีการใช้งานที่ยากกว่า ตั้งค่านานกว่า ต้องการความรู้ทางเทคนิคมากกว่าในการติดตั้งและใช้งาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้ครอบคลุม
- Website Builder เหมาะกับผู้เริ่มต้น ที่อยากสร้างเว็บไซต์ของตัวเองแบบเรียบง่ายและรวดเร็ว เพราะสามารถปรับขนาดและตำแหน่งของรูปภาพได้โดยอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงความเร็วในการโหลดหน้า
การปรับแต่งเว็บไซต์:
- CMS มีความยืดหยุ่นและปรับแต่งได้มากกว่า เลือกปรับแต่งเว็บไซต์ได้หลากหลายตามความต้องการ แถมยังสร้างธีมได้เองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น WordPress, Joomla, Drupal
- Website Builder จะมี Template สำเร็จรูปให้เลือกมากมาย เหมาะสำหรับเว็บไซต์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีข้อจำกัดในการปรับแต่งมากกว่า CMS มักมีค่าใช้จ่ายในรูปแบบรายเดือนหรือรายปี เช่น Wix, Squarespace, Weebly
มัดรวม CMS ที่ได้รับความนิยม
ในปัจจุบัน CMS มีทั้งแบบฟรีและแบบที่มีค่าใช้จ่าย แต่ CMS Website ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
CMS ทั่วไป
สำหรับ CMS Website แบบทั่วไปที่ได้รับความนิยม มีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ ดังนี้
WordPress (PHP)
เริ่มต้นกันที่ WordPress เป็น CMS Platforms ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่คิดจะทำเว็บไซต์ โดย 43% ของเว็บไซต์ทั่วโลกนั้นเป็น WordPress เนื่องจากสร้างได้ง่าย ควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ได้อย่างอิสระ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม มีการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังสามารถสร้างเว็บไซต์ได้โดยตรง แค่ติดตั้ง Hosting เพียงครั้งเดียว รวมถึงยังสามารถติดตั้ง Plug-in และ Theme ได้อย่างอิสระ โดย WordPress นั้นสร้างมาจากภาษา PHP หากต้องการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมจำเป็นต้องใช้ภาษาดังกล่าว หรือสามารถติดตั้ง Plugins ชื่อ PHP Code Snippets เพื่อเขียนโค้ดลงไปได้
Drupal (PHP)
Drupal ก็เป็นอีก CMS Platforms ที่สร้างขึ้นด้วยภาษา PHP โดย CMS Platforms ก็มีผู้ใช้งานมากมาย รวมไปถึงสถาบันชื่อดังอย่าง Government of Australia, Harvard, The Economist, BBC, Cisco และ X เป็นต้น โดย Drupal เป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี เพราะอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตสาธารณะ
โดยมีข้อดีคือ สามารถเพิ่มหรือจัดการคอนเทนต์ได้อย่างยืดหยุ่น อีกทั้งมีตัวเลือกให้ใช้อีกมากมาย เข้าถึงง่าย อีกทั้งยังสามารถสร้างคอนเทนต์ที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ในระดับง่าย ไปจนถึงเว็บไซต์ระดับ Enterprise โดยรองรับทั้ง PC, Mobile และ Tablet
Joomla (PHP)
ต่อมาเป็น CMS Website อย่าง Joomla ที่เป็นแบบ Open Source ดาวน์โหลดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถพัฒนาเว็บไซต์โดยใช้ PHP และฐานข้อมูล MySQL ข้อดีของการใช้ Joomla คือสามารถจัดการข้อมูลคอนเทนต์ของเว็บไซต์ได้สะดวก และรวดเร็ว แถมยังติดตั้งง่าย กำหนดลักษณะของเว็บได้ด้วย Templates รองรับการทำงานได้หลายๆ คนพร้อมกัน รวมถึงมีผู้พัฒนาภาษาไทยอย่างเป็นทางการ และยังสามารถติดตั้งโปรแกรมเสริมได้อีกด้วย
Wix (PHP)
สุดท้ายนี้ขอนำเสนอ CMS Website อย่าง Wix ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากระบบคลาวด์ สามารถกำหนดและสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้ง่าย เพราะเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างมาเพื่อมือใหม่โดยเฉพาะ โดยสามารถใช้งานได้ทันที มีหน้าตาไม่ซับซ้อน อีกทั้งยังสามารถเลือก Templates ได้มากกว่า 500 แบบ รวมถึงโหลดเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีโปรแกรมที่ช่วยแก้ไขคอนเทนต์บนมือถือ จึงจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ง่าย แถมยังสะดวก ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา
CMS สาย E-commerce
นอกจาก CMS Website แบบทั่วไป ก็ยังมี CMS สาย E-commerce ที่ช่วยสนับสนุนการขายให้มากขึ้นอีกด้วย โดยมีไว้เพื่อการขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์โดยเฉพาะ โดยมี CMS สาย E-commerce ที่ได้รับความนิยม ดังนี้
Magento (PHP)
Magento เป็นเว็บไซต์ CMS สาย E-Commerce ตัวแรกที่ขอแนะนำ เพราะมีฟังก์ชันการใช้งานค่อนข้างครบครัน โดยใช้ภาษา PHP ทำให้สามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้ ตั้งแต่การจัดหมวดหมู่สินค้า การอัปเดตจำนวนสินค้าในคลัง ระบบชำระเงิน การจัดส่ง การเปรียบเทียบสินค้า และการรีวิวสินค้า รวมถึง Whistlist, Multiple Shipping และโปรโมชันมาให้ผู้ใช้บริการเรียบร้อยแล้ว
ข้อดีของ Magento คือการดีไซน์หน้าร้านได้อย่างอิสระ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ เพราะต้องเขียนโค้ดขึ้นมาเพิ่มเติม ดังนั้น ถ้าอยากให้หน้าร้านดูโดดเด่น มีเอกลักษณ์ Magento ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว
WooCommerce (PHP)
สำหรับ WooCommerce นั้นไม่ใช่ CMS Website แต่เป็น Plug-In สำหรับขายสินค้าที่ใช้ใน WordPress จึงใช้ภาษา PHP เหมือนกับ WordPress โดย WooCommerce ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีจุดเด่นที่ค่อนข้างสะดวกในการใช้งาน ติดตั้งง่าย ใช้งานได้ทันที มีฟังชันก์ที่จำเป็นเกี่ยวกับการขายสินค้าอยู่มากมาย เช่น ระบบตะกร้าสั่งซื้อสินค้า ระบบการคำนวณภาษี ระบบการคำนวณส่วนลด ระบบคำนวณอัตราค่าขนส่ง รองรับการชำระเงินหลายรูปแบบ เพื่อให้ใช้งานได้ง่าย และสะดวกที่สุด
Shopify (PHP)
Shopify เป็นอีก CMS Website แบบ E-Commerce Online Platform ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ในวงการนี้มามากว่า 10 ปี อีกทั้งยังเป็น Web Framework แรกๆ ที่รองรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ สามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องมาติดตั้ง Web Hosting และที่สำคัญ รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิตได้ รวมถึงสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
BigCommerce (PHP)
BigCommerce เป็นอีก CMS Platforms ชั้นนำที่เหมาะกับการใช้งานเกี่ยวกับการขาย และค่อนข้างครบวงจร อีกทั้งยังเหมาะสำหรับมือใหม่เป็นอย่างมาก โดยมีจุดเด่นคือมีความปลอดภัยในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และมีการสำรองข้อมูลของคุณเอาไว้โดยเฉพาะ
OpenCart (PHP)
OpenCart เป็น CMS Website แบบ Open Source ที่พัฒนาเว็บไซต์ขึ้นโดยใช้ PHP เป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่ดีสำหรับร้านค้าออนไลน์ เพราะติดตั้งง่าย ไม่มีค่าใช้ง่าย สามารถติดตั้งบน Apache และ Nginx รวมถึงยังปรับเปลี่ยนขนาดได้ อีกทั้งยังมีฟังก์ชันด้านการขายของออนไลน์อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินอย่างหลากหลายวิธี ส่วนลด คูปอง การติดตาม และวิธีการจัดส่ง แถมยังรองรับทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และสมาร์ตทีวีก็สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน
อยากสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS ต้องทำอย่างไร
อยากที่จะสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS เป็นของตัวเองกันแล้วหรือยัง? ไปดูขั้นตอนง่ายๆ ในการสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS เพียงแค่ทำตาม 6 ขั้นตอนนี้ ก็สามารถสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้แล้ว
- จดโดเมนและเช่าโฮสต์
- ติดตั้งระบบ CMS ลงบนเซิร์ฟเวอร์
- ตั้งค่าระบบและกำหนดคอนเทนต์การทำงานของเว็บไซต์
- ปรับแต่งบนหน้าเว็บไซต์ตามที่ต้องการ
- เขียนคอนเทนต์ลงบนเว็บไซต์
- เผยแพร่เว็บไซต์
สรุป
CMS หรือ Content Management System คือระบบที่ช่วยให้การสร้างเว็บไซต์สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น โดยมีจุดเด่นคือไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการเขียนโค้ด ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น CMS ในรูปแบบทั่วไป ไปจนถึง CMS สาย E-commerce เพื่อการขายโดยเฉพาะ
หากคุณกำลังมองหาเอเจนซี่รับทำเว็บไซต์ ลองให้ Minimice Group เป็นตัวเลือกของคุณ เพราะที่นี่มีบริการ Digital Marketing แบบครบวงจร ตั้งแต่การทำ SEO เพื่อให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับการกระตุ้นยอดขายด้วยการทำ Google Ads และ Social Media Ads ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ด้วย Blitz Strategy ที่วางแผน และตั้ง KPI ในทุกๆ 3 เดือน เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ CMS (FAQ)
มาดูคำถามที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับ CMS พร้อมคำตอบ เพื่อให้หายข้องใจ
ถ้าอยากเปลี่ยนรูปแบบเว็บไซต์จาก CMS ไปเป็นรูปแบบอื่นได้ไหม?
สามารถทำได้ แต่ก็อาจไม่สามารถดึงเนื้อหามา 100% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในเว็บไซต์ด้วย
ทำเว็บไซต์รูปแบบไหน ถึงจะดีต่อ SEO?
ในทุกๆ เว็บไซต์ ไม่ว่าจะสร้างด้วยรูปแบบไหน ก็สามารถทำ SEO ได้ทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่า การทำเว็บไซต์นั้นยืดหยุ่นต่อการใช้งาน การปรับแต่ง และสามารถนำเสนอข้อมูลที่ง่ายต่อการใช้งานของ User ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าสามารถใช้งานและอ่านข้อมูลได้ง่าย ก็ถือว่าส่งผลดีต่อการทำ SEO
ERP คืออะไร?
EPR หรือ Enterprise Resource Planning คือการวางแผนทรัพยากรขององค์กร เป็นระบบที่ถูกพัฒนามาเพื่อจัดการการทำงานของธุรกิจให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ การผลิต การทำบัญชี การจัดการสินค้าคงคลัง หรือการจัดส่ง ทำให้การทำ ERP สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ราบรื่นมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องการจัดระบบการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น