Table of Contents

Categories

Recent Posts

ทำความรู้จักกับทฤษฎี Product Life Cycle หรือ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

Product Life Cycle ของรักนักวางแผน เพื่อไม่ให้ธุรกิจของคุณถูกลืม

Table of Contents

หากพูดถึงช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์ หลายๆ คนคงสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็นช่วงๆ เช่น วัยทารก วัยรุ่น วัยกลางคน และ วัยชรา ซึ่งแต่ละช่วงเวลาก็จะมีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อพูดถึงสิ่งของ เช่น สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการต่างๆ หลายคนอาจไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนมีวัฎจักรชีวิตเป็นของตนเองเช่นเดียวกัน บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับทฤษฎี Product Life Cycle หรือ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ คือกลยุทธ์ที่แบ่งช่วงเวลาของสินค้าหรือบริการออกเป็นช่วงๆ เพื่อช่วยให้นักการตลาดสามารถวางแผนการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงเวลาที่สินค้าถูกวางขาย ไปจนถึงช่วงที่สินค้าถูกนำออกจากตลาด

ขั้นตอนและช่วงของ Product Life Cycle พร้อมกลยุทธ์ในแต่ละ Stage

Product Life Cycle มีกี่ขั้นตอน? พร้อมกลยุทธ์ในแต่ละ Stage

Product Life Cycle คือ ทฤษฎีที่เชื่อว่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการต่างๆ นั้นล้วนมีอายุขัยเป็นของตนเอง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะสามารถแบ่งช่วงเวลาออกได้เป็น 4 ช่วงเวลาหลัก คือ

  • ช่วงแนะนำสินค้าสู่ตลาด (Introduction Stage)
  • ช่วงเจริญเติบโต (Growth Stage)
  • ช่วงเติบโตเต็มที่ (Maturity Stage)
  • ช่วงถดถอย (Decline Stage)

แต่ละช่วงเวลาต่างก็ต้องการกลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการบริหารและดูแล มาดูความแตกต่างของแต่ละขั้นตอนกันได้เลย

Introduction Stage

Introduction Stage หรือ ช่วงแนะนำสินค้าสู่ตลาด หลังจากที่เราทุ่มเทเวลาในการพัฒนาสินค้าขึ้นมาหนึ่งชิ้น ก็เป็นช่วงเวลาที่สินค้าจะถูกส่งเข้าไปแข่งขันในตลาดเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะการรับรู้ตัวตน และความต้องการของตลาดที่มีต่อสินค้ายังมีน้อย ซึ่งหมายถึงยอดขายที่น้อยตามไปด้วยเช่นกัน ซ้ำยังต้องใช้งบส่วนใหญ่ไปกับการตลาดและการโฆษณา เพื่อให้แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์กลายเป็นที่รู้จักและจดจำของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเป็นช่วงแรกที่แบรนด์ต้องทำการ ทดลอง และทำการหาช่องทางหลักในการกระจายสินค้าออกสู่ตลาดอีกด้วย

กลยุทธ์ในช่วง Introduction Stage

  • หาช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้า – แบรนด์อาจต้องทำการประเมิณแต่ละช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ว่าช่องทางไหนสามารถทำกำไรให้กับบริษัทได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถวางแผนต่อได้ว่าควรทุ่มงบประมาณไปกับช่องทางไหนมากที่สุด
  • หาลูกค้าหลักให้เจอ – บ่อยครั้งที่กลุ่มลูกค้าที่เราต้องการ อาจไม่ตอบสนองต่อสินค้าของเราตามที่เราคาดหวัง แต่เราก็อาจจะเจอกับลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึงเช่นกัน ยิ่งเรารู้จักลูกค้าดีมากเท่าไหร่ก็จะช่วยให้ขั้นตอนต่อไปของ Product Life Cycle ง่ายขึ้นเท่านั้น
  • สร้างความต้องการสินค้าโดยการให้ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ – คำชมและคำวิจารณ์จากลูกค้าเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าสำหรับแบรนด์ที่ต้องการเติบโต การให้ลูกค้าทดลองชิม หรือ ใช้สินค้าของเรานอกจากจะเป็นการโปรโมทสินค้าแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการสังเกตุผลตอบรับของตลาดที่มีต่อสินค้าของเราอีกด้วย
  • ร่วมมือกับคู่ค้าที่เหมาะสม – การร่วมมือกับคู่ค้าที่ดี ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่เป็นพันธมิตร หรือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีฐานลูกค้าตรงตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเพิ่มการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ได้อย่างมหาศาล

Growth Stage

Growth Stage หรือ ช่วงเจริญเติบโต ไม่ใช่สินค้าทุกตัวที่ถูกปล่อยออกสู่ตลาดจะสามารถผ่านมาถึงขั้นที่สองได้ โดยเป็นช่วงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตลาดรับรู้การมีอยู่ของสินค้า และความต้องการสินค้าพุ่งสูงขึ้น ณ จุดนี้เป็นจุดที่บริษัทอาจมีผลกำไรที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรก แต่ก็เป็นจุดที่มักจะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้องโฟกัสไปที่การสร้างจุดขายที่ชัดเจน หรือ อาจโดนบีบให้แข่งขันทางด้านราคากับคู่แข่งของเรา

กลยุทธ์ในช่วง Growth Stage

  • พัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ – เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากตลาดเกี่ยวกับสินค้าของเราในช่วงแรก โดยเราควรนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองตความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น
  • สร้างจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง – คู่แข่งที่มากขึ้นหมายถึงการแข่งขันทางการตลาดที่ร้อนแรงขึ้น บ่อยครั้งที่การแข่งขันถูกชี้วัดจากราคาของสินค้า แต่หากเราสามารถนำเสนอบริการหลังการขายหรือบริการอื่นๆ ที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในตัวสินค้าหรือบริการได้แล้วละก็ จะทำให้เราสามารถแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว
  • เพิ่มช่องทางในการขาย – เป็นการต่อยอดจากการทดลองช่องทางการขายในช่วงแรก โดยเราสามารถพิจารณาว่าช่องทางไหนที่สามารถทำเงินให้เราได้ดีและเราจะสามารถ ขยายช่องทางเหล่านั้นได้อย่างไร เช่น การเพิ่มสาขา การขยายช่องทางการขายออนไลน์ หรือ การรับตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

Maturity Stage

Maturity Stage หรือ ช่วงเติบโตเต็มที่ เป็นช่วงที่หลายๆ ธุรกิจอยากที่จะคงอยู่ให้นานที่สุด เป็นช่วงที่ดีที่สุดของ Product Life Cycle คือธุรกิจมียอดขายที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่หวือหวาเหมือนช่วงก่อน แต่ก็เป็นช่วงที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เป็นช่วงที่มีการแข่งขันสูงที่สุด อาจมีคู่แข่งบางคนหายไปจากตลาด แต่ก็มีคู่แข่งใหม่เกิดขึ้นมาเสมอ และคู่แข่งที่ยังอยู่ก็สามารถแข่งขันกับเราได้อย่างสูสี เป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ธุรกิจยังคงเติบโตก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

กลยุทธ์ในช่วง Maturity Stage

  • หาฐานลูกค้าใหม่ๆ – หากเราถึงจุดที่ยอดขายเริ่มถึงจุดอื่มตัว ก็อาจถึงเวลาที่เราต้องทำการขยายฐานลูกค้า ไม่ว่าด้วยวิธีการทำการตลาดออนไลน์ หรือการมองหาตลาดกลุ่มเฉพาะ (Niche Market) ที่ตรงกับสินค้าหรือบริการของเรา
  • แย่งส่วนแบ่งทางการตลาดมาจากคู่แข่ง – นำเสนอบริการหรือข้อเสนอที่คู่แข่งไม่สามารถสู้กับเราได้เช่น การบริการที่ดีกว่า โปรโมชั่น หรือ ของแถม ที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนลูกค้าของคู่แข่งให้กลายมาเป็นลูกค้าของเรา

Decline Stage

Decline Stage หรือ ช่วงถดถอย เปรียบเสมือนช่วงวัยชราของมนุษย์ เป็นช่วงที่เราจะเริ่มเห็นการลดลงของยอดขาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเช่น สินค้าหมดกระแสนิยม มีเทคโนโลยีอื่นมาแทนที่ หรือ สินค้าไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งคนอื่นๆ ในตลาดได้ เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของ Product Life Cycle ที่เจ้าของธุรกิจจะต้องทำการตัดสินใจว่าจะใช้กลยุทธ์แบบไหนในการขับเคลื่อนให้กิจการเดินต่อไปได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของบริการที่มาถึงจุดสิ้นสุดของ Product Life Cycle คือ บริการเช่าวีดีโอของ Blockbuster ซึ่งเคยมีสาขาอยู่ทั่วอเมริกา แต่ในที่สุดก็ต้องปิดตัวกิจการลงในปี 2014 เนื่องจากไม่สามารถที่จะแข่งขันกับคู่แข่ง Streaming Platform เช่น Netflix หรือ YouTube ได้

กลยุทธ์ในช่วง Decline Stage

  • ปรับโฉมสินค้าใหม่ให้ตรงกับกระแสนิยม – อาจเป็นการคิดค้นสินค้าตัวใหม่ หรือนำเอาสินค้าเดิมมาพัฒนาหรือปรับปรุงให้ทันสมัย และตรงกับตามความต้องการของผู้บริโภค
  • ลดงบประมาณที่ใช้ในการทำการตลาดสำหรับสินค้าตัวเดิม – หากเรารู้ว่าสินค้าของเรามาถึงทางตัน มันอาจจะดีกว่าที่เราจะเก็บงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาสินค้าใหม่ มากกว่าการฝืนโปรโมทสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป
  • เคลียร์สต๊อคสินค้า – ลดราคาสินค้าที่ค้างสต๊อคเพื่อให้เรามีสภาพคล่องทางการเงิน และเงินไม่จมอยู่ในสินค้าที่อาจจะขายไม่ได้ราคาเต็มเหมือนอย่างเคย
  • หาแง่มุมใหม่ในการขายสินค้า – สินค้า “ตกรุ่น” ไม่ได้หมายความว่าไม่มีตลาดเสมอไป บางครั้งการนำเสนอแง่มุมใหม่ๆ กับสินค้าบางชนิด ก็สามารถทำให้มันกลายเป็นของสะสมสำหรับคนที่ชื่นชอบของย้อนยุคได้ เช่น แผ่นเสียง ตลับเทป หรือ กล้องวินเทจ เป็นต้น

ประโยชน์ของ Product Life Cycle

Product Life Cycle มีประโยชน์ต่อคนทำธุรกิจอย่างไร

การทำ Product Life Cycle Management (PLM) คือการนำหลักการของ Product Life Cycle เข้ามาช่วยจัดการแผนธุรกิจในแต่ละช่วงเวลาของวงจรชีวิตผลิตภัณท์ ธุรกิจที่ใช้หลัก PLM ในการวางแผนธุรกิจ สามารถช่วยให้การทำงานของผู้บริหาร ”ง่ายขึ้น” ในหลายๆ ด้าน เช่น

  • การสื่อสารง่ายขึ้น – การใช้หลักการ PLM เข้ามาช่วยวางแผนทางธุรกิจ ทำให้การสื่อสารของคนในองค์กรง่ายขึ้น เพราะสามารถเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ในขณะนี้สินค้ากำลังอยู่ในช่วงเวลาไหน และความคาดหวังของผู้บริหารในแต่ละลำดับขั้นตอนเป็นอย่างไร  
  • วางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจง่ายขึ้น – Product Life Cycle Management คือเครื่องมือที่ช่วยใช้ การวางแผนเป็นไปอย่างราบรื่น เสมือนเรามีคู่มือในการทำธุรกิจว่าเราควรทำอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ทำให้รู้ว่าช่วงไหนควรใช้งบประมาณในการทำอะไร และรู้ว่าควรตั้งเป้าหมายของยอดขายอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา
  • สามารถวิเคราะห์และประเมิณคู่แข่งได้ง่ายขึ้น – เราสามารถใช้หลักการ PLM ในการประเมิณคู่แข่งของเราว่าอยู่ในขั้นตอนไหนของวัฎจักร ทำให้เราเห็นจุดอ่อน จุดแข็ง หรือช่องว่างทางธุรกิจที่เราอาจจะเอาชนะคู่แข่งในตลาดได้
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น – หนึ่งในหัวใจหลักของการทำ Product Life Cycle คือ การเก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ยุคสมัย  
  • คัดผลิตภัณฑ์ที่ควรเก็บ หรือ เลิกผลิตได้ง่ายขึ้น – การเข้าใจถึงแต่ละขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าสินค้าตัวไหนยังคงความนิยม และตัวไหนกำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย ทำให้การปรับกลยุทธ์เกิดขึ้นได้รวดเร็วและทันท่วงที

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ Product Life Cycle

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ Product Life Cycle

เช่นเดียวกับวงจรชีวิตมนุษย์ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างต่างก็มีอายุขัยไม่เหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้ว สินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกปล่อยเข้ามาในตลาดนั้นอาจจะไม่สามารถเข้าสู่ช่วงเวลาทั้ง 4 ขั้นตอนของ Product Life Cycle ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เช่น

  • ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี – ในประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด อาจทำให้สินค้ามีช่วงเวลาวัฏจักรที่สั้นลง เนื่องด้วยความเร็วที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่า ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีอัตราการเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ต่ำ และอายุขัยของสินค้าที่ยาวนานกว่า    
  • อัตราความเร็วในการยอมรับสินค้า – ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ หรือ แต่ละประเทศมีอัตราความเร็วในการยอมรับสินค้าที่ไม่เท่ากัน หากการยอมรับสินค้าเกิดขึ้นเร็ว ก็มักส่งผลให้สินค้ามีอายุขัยที่สั้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีนิสัยยอมรับสินค้าอย่างรวดเร็ว ย่อมมีแนวโน้มที่จะยอมรับสินค้าคู่แข่งเร็วเช่นเดียวกัน
  • ความยากในการเข้าตลาดของคู่แข่ง – หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ Product Life Cycle คือ จำนวนของคู่แข่งที่เข้าสู่ตลาด หากสินค้าหรือบริการของเราเป็นแบบที่ถูกลอกเลียนแบบได้ง่ายและมีคู่แข่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การแข่งขันที่มีมากอาจทำให้ตลาดถึงจุดอิ่มตัวไวขึ้น ส่งผลให้สินค้ามีวัฏจักรชีวิตที่สั้นลงนั่นเอง    
  • การบริหารความเสี่ยงของกิจการ – การดำเนินธุรกิจนั้นต้องจะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ธุรกิจที่มีแผนสำรองในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันเช่น ภัยธรรมชาติ ปัญหาการเมือง หรือ โรคระบาด ก็มีโอกาสที่จะอยู่รอดได้ยาวนานกว่าธุรกิจที่ไม่เคยคิดแผนสำรองไว้เลย
  • ความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจ – ถึงแม้ว่าสินค้าจะขายดี แต่หากบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือมีการบริหารงบดุลที่ผิดพลาด ก็จะส่งผลให้สินค้าของบริษัทนั้นมีอายุสั้นลงเช่นเดียวกัน
  • การจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ – สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ย่อมมีข้อได้เปรียบในเรื่องอายุขัยของสินค้า ยิ่งสิทธิบัตรให้การคุ้มครองสิทธินานเท่าไหร่ อายุขัยของสินค้าก็จะยาวนานมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างของ Product Life Cycle

ตัวอย่าง Product Life Cycle Case Study

เพื่อให้เห็นภาพของหลักการใช้ Product Life Cycle ในการวางกลยุทธ์ของธุรกิจ เราจึงได้ทำการยก Product Life Cycle ตัวอย่างของแบรนด์น้ำดำชื่อดังเช่น Pepsi มาเป็น Case Study ว่ากว่าที่จะมาเป็นบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่างที่เรารู้จักกันในวันนี้ บริษัทต้องเจออะไร และใช้กลยุทธ์อะไรในแต่ละช่วงเวลาของวัฏจักรผลิตภัณฑ์

ตัวอย่าง Product Life Cycle ของ Pepsi

Introduction Stage

จุดเริ่มต้นของเป๊ปซี่เกิดขึ้นโดยเภสัชกรชื่อ นายเคเลบ แบรดแฮม (Caleb Bradham) โดยจุดประสงค์แรกของแป๊ปซี่คือการเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยลดอาการท้องอืด (Dyspepsia) ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ “Pepsi Cola” ในเวลาต่อมา โดยเคเลบเสียเงินในการจดชื่อทางการค้าของ “Pepsi Cola” เป็นจำนวน 100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในปี 2014 แล้วจะพบว่ามันเทียบเท่ากับมูลค่าถึง 2,516.34 เหรียญ (ประมาณ 87,000 บาท) เลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าแม้ก่อนที่สินค้าจะถูกวางขาย เคเลบก็ต้องเสียเงินจำนวนหนึ่งไปกับการตั้งแบรนด์และผลิตสินค้าลอตแรก โดยในช่วงเริ่มต้นนั้น เป็บซี่ถูกขายผ่านเครื่องกดในร้านขายยาของเคเลบ ไม่ได้มีการบรรจุใส่ขวดอย่างในปัจจุบัน และไม่ได้มีการจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าในช่วงเปิดตัว แต่ก็มีการใช้นักแข่งรถชื่อดังอย่าง บาร์นีย์ โอลฟีลด์ (Barney Oldfield) ในการช่วยโฆษณาสินค้า ถือเป็นโชคดีของเคเลบที่ผลตอบรับสินค้าดีเกินคาด โดยเขาสามารถขายเป๊ปซี่ได้มากถึง 7,900 แกลลอนในปีแรกทิ่เริ่มวางขาย

Growth Stage

ในปี ค.ศ. 1923 บริษัท Pepsi-Cola ล้มละลายเนื่องจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่บริษัทได้ถูกซื้อต่อโดยบริษัท Loft Inc. ในช่วงเติบโต บริษัท Pepsi-Cola ได้มีการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างมากมาย เช่น การปรับชื่อเหลือแค่ Pepsi เพื่อสร้างความต่างออกมาจากคู่แข่งอย่าง Coca-Cola การปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าจาก “ตัวยา” สู่ “เครื่องดื่ม” ทำให้สินค้าสามารถที่จะถูกนำมาวางขายผ่านช่องทางที่กว้างขึ้น และ การบรรจุลงขวดแทนการกดจากตู้กดในร้านขายยา นอกจากนี้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป๊ปซี่ยังสามารถเอาชนะ Coca-Cola ในเรื่องยอดขาย ด้วยการตั้งราคาขายให้ต่ำกว่าโค้กถึงสองเท่า และยังมีการโฆษณาผ่านทั้งวิทยุและทีวี โดยเฉพาะการโฆษณาอันโด่งดังของ Pepsi Challenge ที่แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ชอบรสชาติของเป๊ปซี่มากกว่าโค้ก ทั้งหมดนี้ทำให้กระแสของเป๊ปซี่พุ่งกระฉูดและเกือบที่จะทำให้โค้กล้มละลายเลยทีเดียว

Maturity Stage

ตั้งแต่ปี 1980 มาจนถึงปัจจุบัน เป๊ปซี่ยังคงได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกและยังคงอยู่ในช่วง เจริญเติบโตเต็มที่ จะเห็นได้ว่าบริษัทยังคงทำยอดขายให้กับบริษัทแม่ได้อย่างต่อเนื่องโดยในปี 2021 นั้นสามารถทำยอดขายได้มากถึง 79,474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว ช่วงของการเติบโตเต็มวัยเป็นช่วงเวลาที่เจ้าของกิจการต้องการทำเงินจากธุรกิจให้ได้มากที่สุด สำหรับกลยุทธ์ที่เป๊ปซี่ใช้ในช่วงนี้นั้น จะเป็นการเพิ่มยอดขายผ่านการหาตลาดใหม่ๆ เช่นการทำ Pepsi Max ออกมาตอบสนองเทรนด์การดูแลสุขภาพที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น หรือ การแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาจากคู่แข่ง โดยในปัจจุบันเป๊ปซี่ก็ยังคงนำเสนอว่าตนเองเป็นเครื่องดื่มน้ำดำที่คุ้มค่าต่อราคามากกว่าโค้ก นอกจากนี้งบในการโฆษณาไม่ได้มุ่งเน้นแค่เฉพาะให้คนรู้จักแบรนด์ แต่ใช้ดารา ศิลปิน หรือ คนมีชื่อเสียง มาช่วยโปรโมท เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเป๊ปซี่เป็นเครื่องดื่มที่ “ทันสมัย” กว่าคู่แข่ง

Decline Stage

ในปัจจุบัน เรายังไม่เห็นวี่แววของการเสื่อมถอยของแบรนด์เป๊ปซี่ แต่หากเมื่อวันนั้นมาถึง สิ่งที่แบรนด์ควรทำ ก็คือการหามุมมองใหม่ในการขายสินค้า เหมือนเช่นที่เคยทำในอดีต (จากการปรับโฉมจาก “ยาแก้ท้องอืด” มาสู่ “เครื่องดื่ม”) หรือ ต้องเป็นการลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่นตัดงบในการโฆษณาสินค้าออก และตัดไลน์ผลิตให้เหลือสินค้าตัวที่ยังทำกำไรให้กับบริษัท พร้อมทั้งยกเลิกการผลิตรวมทั้งระบายสินค้าที่ค้างสต๊อคผ่านการจัดโปรโมชันลดราคา เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่า Product Life Cycle คือกลยุทธ์สำคัญที่ถูกนำไปใช้งานโดยแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก การใช้ หลัก PLC ในการวางแผนธุรกิจ ช่วยให้แบรนด์สามารถกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการบริหารจัดการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงอายุของวัฏจักรได้อย่างชัดเจน ทำให้เราสามารถรับรู้ว่าสินค้าเราอยู่ในขั้นไหนของวงจรสินค้า และสามารถคิดกลยุทธ์ที่เข้ามารับมือกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นของรักที่นักวางแผนการตลาดทุกคนควรทำความรู้จักและนำไปใช้ เพื่อให้กิจการหรือสินค้าของเรายังคงเป็นที่จดจำของลูกค้าอยู่เสมอ

FAQ – คำถามที่พบบ่อย

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) มีกี่ช่วง

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) มีอยู่ทั้งหมด 4 ช่วง คือ  ช่วงแนะนำ (Introduction) ช่วงเติบโต (Growth) ช่วงเติบโตเต็มที่หรือจุดสูงสุด (Maturity) ช่วงถดถอย (Decline)

วิธีสังเกตุช่วงตลาดเจริญเติบโต (Market Growth) ดูได้จากอะไร

  1. จำนวนยอดขายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ 
  2. บริษัทเริ่มมีการลงทุนสูงขึ้นเพื่อนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
  3. การแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนของคู่แข่งในอุตสากรรมเดียวกันเพอ่มมากขึ้น 
  4. มีกำไรปานกลาง

วิธีสังเกตุช่วงตลาดอิ่มตัว (Market Maturity) ดูได้จากอะไร

  1. การแข่งขันสูง ช่วงนี้จะเป็นจุดที่การแข่งขันสูงมากที่สุดจุดหนึ่ง และเป็นจุดที่คู่แข่งขันบางรายถอนตัวออกไปด้วยเช่นกัน 
  2. กำไรสูง เพราะเป็นช่วงทำกำไรจากยอดขายที่มาจากการลงทุนในช่วง Product Introduction
  3. เมื่อถึงจุดหนึ่ง ยอดขายจะคงที่ และเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเส้นตรง
  4. การลงทุนต่ำ ในจุดที่มีการลงทุนต่ำเพราะว่าตัวสินค้าเราได้รับความนิยมจากผู้บริโภคแล้ว ทำให้ใช้งบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการโฆษณาน้อยลงนั่นเอง

Related Articles

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง