ความรู้พื้นฐานการทำ facebook ads สำหรับผู้เริ่มต้น

รวมพื้นฐานการทำ Facebook Ads สำหรับมือใหม่ อ่านแล้วนำไปใช้ได้ทันที

Table of Contents

หากพูดถึงการโฆษณาสินค้าในโลกยุคเก่า หลายๆ คนคงจะคิดถึงการโฆษณาผ่านวิทยุ โทรทัศน์ หรือใบปลิว ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุนสูงและไกลตัว แต่ในโลกยุคดิจิทัลที่เราทุกคนต่างมีโทรศัทพ์มือถือเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 และอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ทำให้การทำการตลาดออนไลน์ กลายเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้เราเพียงปลายนิ้วมือ โดยเฉพาะการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Facebook ถึงแม้ว่าจะมีคู่แข่งอย่าง TikTok เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่ก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตที่ช่วยทำให้หลายๆ แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ด้วยเครื่องมืออันทรงพลังอย่าง Facebook Ads

วันนี้เราจึงอยากมาแชร์ให้ฟังว่า Facebook Ads คืออะไร? การทำ Facebook Ads ต้องทำอย่างไร? และทำไม Facebook Advertising ถึงเป็นเครื่องมือที่คุณควรทำความรู้จัก หากคุณต้องการให้แบรนด์ของคุณเติบโตในยุคการตลาดดิจิทัล

Facebook Ads คืออะไร?

Facebook Ads คืออะไร?

Facebook Ads คือ การโฆษณาสินค้าหรือบริการ ผ่านเพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Facebook (หรือภายใต้ชื่อใหม่ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีอีกสองแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ คือ Instagram และ WhatsApp อยู่ในเครือด้วย) จุดเด่นของ Facebook Ads คือความสามารถในการกำหนดงบโฆษณา และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการอย่างแม่นยำ รวมทั้งยังเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ที่ทำให้แบรนด์สามารถพูดคุยกับลูกค้าได้โดยตรง และช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายที่มากขึ้นอีกด้วย โดยเว็บไซต์ Insider Intelligence ได้ทำการสำรวจยอดการจ่ายเงินค่าโฆษณา Facebook Ads ในปี 2022 ในสหรัฐฯว่ามีอัตตราการเติบโตที่มากถึง 15.5% จากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะค่าโฆษณาที่แพงขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นการสะท้อนว่า Facebook Ads ยังคงมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้แบรนด์ต่างๆ เลือกที่จะโฆษณาผ่านตัวแพลตฟอร์มต่อไป

Facebook Ads ทำงานอย่างไร

หลังจากที่แบรนด์ทำการโฆษณาสินค้าผ่าน Facebook Ads โฆษณาแต่ละชิ้น จะถูกส่งขึ้นไปบนฟีด (Newsfeed) ของผู้ใช้งานแต่ละคน ผ่านระบบการคัดกรองที่เรียกว่าอัลกอริทึม (Facebook Ads Algorithm) ซึ่งมีกลไกสลับซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในแต่ละวันมีโฆษณากว่าพันล้านชิ้นที่ถูกส่งขึ้นไปโฆษณาบนตัวแพลตฟอร์ม ตัว Algorithm ของ Facbook อัลกอริทึมจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็น ในการช่วยจับคู่โฆษณาที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ใช้ที่น่าจะมีความสนใจในตัวสินค้านั้นๆ

Facebook Ads Algorithm ทำงานอย่างไรในปี 2022

อัลกอริทึมของ Facebook มีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ว่าจะเป็นนักกการตลาดมือเก่าหรือมือใหม่ ก็ต้องคอยจับตาอัปเดตอัพเดทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนตัวแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด ในปี 2022 นี้ จะอัลกอริธึมมีความเหมือนหรือแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างไรบ้าง? เราตามไปดูกันเลย

Facebook Ads Algorithm คืออะไร ?

อัลกอริทึมเปรียบเสมือนสมองกลของ Facebook ที่ช่วยจัดอันดับโพสที่จะขึ้นมาบนฟีดของผู้ใช้งานแต่ละคน โดยถูกออกแบบมาให้สามารถดึงคนให้อยู่บนแพลตฟอร์มได้นานที่สุด อัลกอริธึมจะมีการจัดอันดับความสำคัญของโพสแต่ละโพสให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน และมีหน้าที่ช่วยจับคู่โฆษณาที่เกี่ยวข้องให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพราะเหตุนี้ฟีดของผู้ใช้งานแต่ละคนจึงมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน

ช่วงที่ผ่านมา Facebook Ads Algorithm ทำงานอย่างไรบ้าง ?

อัลริธึมของ Facebook นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากมองย้อนกลับไปแล้ว ก็จะพบว่า Facebook นั้นได้มาไกลจากเดิมมากเลยทีเดียว มาดูกันดีกว่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับตัวอัลกอริทึมกันบ้างในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา

  • 2009: เป็นการเปิดตัวอัลกอริทึมครั้งแรก โดยโพสที่ได้รับยอดไลก์มากที่สุดจะมีโอกาสสูงสุดในการขึ้นไปโชว์บนฟีดของผู้ใช้งาน
  • 2015 – 2017: เป็นการพัฒนาอัลกอริทึมไปอีกขั้น โดยการเพิ่มการวัดคะแนนรูปแบบต่างๆ เข้าไปในโพส เช่น ระยะเวลาที่ผู้ใช้ดูวีดีโอ หรืออ่านโพส การให้คะแนนการกดหัวใจหรือโกรธมากกว่าการกดไลก์แบบธรรมดา หรือ การเพิ่มปุ่ม “See First” เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกเฉพาะเพจที่อยากเห็นให้ขึ้นมาบนฟีดของตนเอง
  • 2018: นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยอัลกอริทึมให้ความสำคัญกับการกดไลก์ การคอมเมนต์ หรือ การพูดคุยของเพื่อนบนเฟสบุ๊ค มากกว่าการเข้าถึงของเพจหรือแบรนด์สินค้า ทำให้แบรนด์ต้องปรับรูปแบบการทำคอนเทนต์ที่เน้นให้คนแชร์หรือคอมเมนต์มากขึ้นและ ทำให้การทำ Facebook Ads ในยุคนี้มีค่าโฆษณาที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน
  • 2019-2021: Facebook ให้ความสำคัญกับโพสรูปแบบ Original Video ที่สามารถทำให้คนดูวีดีโอได้นานกว่า 1 นาทีขึ้นไป และเปิดเผยข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการทำงานของอัลกอริทึม เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจและรับรู้ว่าทำไมตนเองถึงได้เห็นโพสเหล่านี้ เช่นการเพิ่มปุ่ม “Why am I seeing this post?” ซึ่งเป็นการทำให้อัลกอริทึมสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ผ่านการจดจำกิจกรรมที่ผู้ใช้แต่ละคนมีต่อโพสแต่ละรูปแบบ

Facebook Ads algorithm ในปี 2022 ทำงานแตกต่างไปจากเดิมยังไง?

แล้วในปี 2022 นี้ อัลกอริทึมของ Facebook Ads ทำงานต่างออกไปจากเดิมอย่างไรบ้าง? อันดับแรกเลยคือการเปลี่ยนชื่อ นิวส์ฟีด (Newsfeed) เหลือแค่ ฟีด (Feed) ซึ่งในจุดๆ นี้คนไทยน่าจะเรียกกันแบบนี้นานแล้ว จุดเปลี่ยนหลักคือ Facebook ได้มีการเพิ่มมาตราวัดการให้คะแนนโพส ขึ้นมาอีก 3 ข้อ ซึ่งเป็นเหมือนการต่อยอดจากการวัดแบบเดิม แต่ช่วยให้ตัวอัลกอริทึมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ

  • ใครเป็นผู้โพส – โดยการเข้าถึงจะคำนวนจากความถี่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานและเจ้าของโพส ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือเพจธุรกิจก็ตาม หากมีการปฎิสัมพันธ์ที่สูง โพสก็จะมีโอกาสขึ้นมาบนฟีดมากขึ้น
  • ประเภทของโพส – หากคุณเป็นคนที่ดูวีดีโอบ่อย ก็จะมีโอกาสที่คุณจะเห็นโพสที่เป็นรูปแบบของวีดีโอมากกว่าโพสในรูปแบบอื่น เช่นเดียวกัน หากคุณชอบโพสที่เป็นอัลบั้มก็จะมีโอกาสที่จะเห็นโพสที่เป็นอัลบั้มมากกว่า
  • โพสที่มี Engagement สูง – โพสที่ได้รับการกดไลก์ แชร์ หรือ มีคอมเมนต์ที่ทำให้เกิดการพูดคุย โดยเฉพาะโพสจากเพื่อนของเราบน Facebook จะมีโอกาสสูงกว่าในการขึ้นไปบนฟีดของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ Facebook ยังได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ อีก 2 ฟีเจอร์ คือ ปุ่ม Favorite และ การกด Hide post เป็นการส่งฟีดแบคให้อัลกอริทึมรู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบคอนเทนต์ประเภทไหน ทำให้อัลกอริทึมสามารถทำงานคัดกรองโพสที่ถูกส่งขึ้นฟีดของเราได้แม่นยำมากขึ้น

ประโยชน์ของการทำ Facebook Ads

Facebook Ads Algorithm ทำงานอย่างไรในปี 2022

หลายๆ คนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมการทำ Facebook Ads มันถึงยุ่งยากซับซ้อน และในปี 2022 นี้มันจะยังคุ้มค่าที่เราจะโฆษณาผ่าน Facebook Ads หรือไม่ เราจึงอยากพูดถึงข้อดีของการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียและสาเหตุที่มันยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

การเข้าถึงเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม

เครื่องมือโฆษณาบน Facebook นั้นทำให้แบรนด์สามารถเลือกกลุ่มลูกค้าที่ต้องการโฆษณาสินค้านั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ ผ่านตัวคัดกรองบนแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ อายุ เพศ ที่อยู่ ภาษาที่ใช้ ความสนใจ ไปจนถึงข้อมูลปลีกย่อยเช่น ความคิดเห็นทางการเมือง หรือ แม้กระทั่งกลุ่มคนโสดหรือผู้ที่มีบุตรแล้ว (แม้ว่าตัวกรองบางอย่างอาจยังไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้) นอกจากนี้ยังสามารถจับกลุ่มคนที่เข้ามาปฎิสัมพันธ์กับเพจของเรา และยังสามารถอัพโหลดฐานข้อมูลของลูกค้า (ที่เราได้รับการยินยอม) และให้ตัวแพลตฟอร์มค้นหากลุ่มที่มีความสนใจใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้าเดิมของเรา จึงเห็นได้ว่าเครื่องมือที่ Facebook มีให้เรานั้นมีความสามารถในการเจาะกลุ่ม ที่แม้แต่คู่แข่งอย่าง Google หรือ Bing  ก็ยังไม่สามารถทำได้

ค่า ROAs สูงที่สุดจากทุกแพลตฟอร์ม ณ ปัจจุบัน

หากคุณยังกังวลว่าการทำ Facebook Ads ยังคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่ ผลสำรวจจากเว็บสถิติชื่อดังอย่าง Statista ได้ออกมาชี้ว่า กว่า 41% ของนักการตลาดออนไลน์ยก Facebook ให้เป็นอันดับหนึ่งในความคุ้มค่าต่อรายรับที่ได้จากการโฆษณา และ Facebook Feed ก็ยังครองแชมป์ช่องทางการทำการตลาดออนไลน์ เมื่อเทียบกับช่องทางการโฆษณาอื่นๆ ในเครือ Meta โดยมี Facebook Marketplace และ Messenger ตามมาเป็นลำดับ สองและสาม

ให้ผลตอบรับรวดเร็วมากที่สุด

การโฆษณาผ่าน Facebook Ads นั้นสามารถหวังผลตอบรับได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และแบรนด์สามารถเป็นคนกำหนดงบที่ใช้ในการโฆษณาเองได้ โพสโฆษณาส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม. ในการรออนุมัติ และลูกค้าสามารถทำการสั่งซื้อได้ในทันทีที่โฆษณาถูกปล่อยออกไป จุดนี้จึงทำให้การส่งโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมายกลายเป็นเรื่องง่ายและอยู่ในงบประมาณที่เราเป็นคนกำหนดเอง

สามารถเลือกวัตถุประสงค์ของการโฆษณาได้

ก่อนที่เราจะทำการปล่อยโฆษณา Facebook จะให้เราเลือกวัตถุประสงค์ของเคมเปญว่าเราต้องการให้ลูกค้าทำอะไรกับโฆษณาที่เราปล่อยออกไป เช่น โฆษณาเพจที่เน้นยอดไลก์ โฆษณาเพื่อเพิ่มยอด Engagement ให้กับโพส หรือแม้ต่การส่งผู้ใช้งาน Facebook ไปยังเว็บไซท์ต่าง ๆ ที่เราต้องการ เป็นต้น

การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก

หากเราตัดสินใจโฆษณาบน Facebook เราจะได้รับการเข้าถึงเครื่องมือ อันทรงพลังอย่าง Facebook Insight ซึ่งเป็นตัวเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้ที่เข้ามาปฎิสัมพันธ์กับเพจของเรา โดยจำแนกให้เราเห็นถึงกลุ่มอายุ วุฒิการศึกษา รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น ความชอบความสนใจ หรือ เพจอื่นๆ ที่กลุ่มผู้ติดตามของเรามักไปกดติดตามโดยจำแนกออกเป็นหมวดหมู่

Facebook Ads Manager ซึ่งทำให้การทำโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยจะแสดงผลให้เราเห็นว่าโฆษณาแต่ละตัวนั้นใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไหร่ และได้รับการตอบรับอย่างไรจากกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ ซึ่งข้อมูลจะเจาะลึกแบบละเอียดยิบตั้งแต่จำนวนผู้เข้าชม จำนวนคนกดไลก์ แชร์ คอมเมนต์ หรือ แม้แต่ระยะเวลาในการดูวีดีโอ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราสามารถเข้าใจกลุ่มผู้บริโภคของเรามากขึ้น ทำให้เราสามารถออกแบบ สินค้า หรือบริการที่ตอบโจทย์กับกลุ่มผู้ติดตามมากขึ้น และสามารถช่วยให้แบรนด์ของเราเติบโตได้ในระยะยาว

ความสามารถในการทำ A/B Testing

นอกเหนือจากต้นทุนในการทำโฆษณาที่ค่อนข้างถูก รวดเร็ว และความสามารถในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำแล้ว Facebook ยังเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับการทำ A/B testing หรือ การทดลองยิงโฆษณา ที่รูปแบบใกล้เคียงกันออกไปสู่กลุ่มลูกค้า เพื่อวัดผลว่าโฆษณาชิ้นไหนจะได้รับการตอบรับที่ดีกว่ากัน โดยเราสามารถกำหนดระยะเวลาที่จะทำการทดสอบ และจำนวนงบประมาณที่เราต้องการใช้ได้เช่นเคย

ประเภทของ Facebook Ads Campaign แบบใหม่

ประเภทของ Facebook Ads Campaign แบบใหม่ในปี 2022

สิ่งแรกที่เราต้องทำ ก่อนที่จะปล่อยชิ้นงานโฆษณา ที่เราเตรียมไว้ให้กับกลุ่มเป้าหมายก็คือ การกำหนดจุดประสงค์ของเคมเปญโฆษณา (Facebook Campaign Objective) จุดประสงค์ของเคมเปญจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราต้องการให้กลุ่มเป้าหมายทำอะไรกับโฆษณาของเรา โดย Facebook จะมีการเก็บข้อมูลและจำแนกผู้ใช้งานออกเป็นหมวดหมู่ ว่าเป็นคนที่มักจะ มีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เช่น คอมเมนต์เพจ ดูวีดีโอ หรือกดไลก์เพจ ฯลฯ และจุดๆ นี้เองก็จะเป็นตัวกำหนดให้โฆษณาของเราจะไปโผล่บนฟีดของผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมตรงตามที่เราเลือกไว้ในเคมเปญ ดังนั้นมัน

การทำ Facebook Ads ของเราคงให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก หากเราต้องการที่จะให้มีคนเข้ามาคอมเมนต์ในเพจเยอะๆ แต่กลับเลือกเคมเปญที่ใช้สร้าง Awareness ซึ่งเหมาะกับคอนเทนต์ประเภทวีดีโอมากกว่า ดังนั้นการเลือกจุดประสงค์ของเคมเปญให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้มั่นใจว่าเงินโฆษณาที่เราลงไปนั้น ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า และตรงกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ

โดยก่อนหน้านี้ จุดประสงค์ของเคมเปญโฆษณานั้นมีมากถึง 11 หมวด แต่ในปี 2022 ได้มีการปรับให้กระชับลงเหลือเพียง 6 หมวดหมู่เท่านั้น ซึ่งเราได้ทำการรวบรวมข้อแตกต่างของแต่ละแคมเปญไว้ ณ ที่นี้แล้ว

Awareness

แคมเปญที่เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เหมาะสำหรับการที่เราต้องการให้สินค้าหรือบริการของเราเป็นที่รู้จักกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ จึงเป็นเคมเปญที่เหมาะมาก หากเราต้องการทำให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น หรือ ใช้สำหรับวีดีโอที่เน้นให้คนดูเยอะๆ แต่หากเราต้องการที่จะให้กลุ่มลูกค้าของเรากดไลก์ หรือ กดซื้อสินค้า อาจจะเป็นเคมเปญที่ไม่เหมาะนัก

Traffic

เเคมเปญนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการส่งคนจาก Facebook ไปสู่เว็บไซต์ของแบรนด์ หรือไปยัง Landing Page อื่นๆ นอก Facebook โดยแคมเปญจะหากลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมชอบกดลิงก์ ข้อดีคือเราสามารถที่จะเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้บนเพลตฟอร์มอื่นนอกจาก Facebook (เช่น การส่งไปยัง Landing page ในการสมัคร newsletter หรือ บริการ) แต่ข้อเสียหลักของแคมเปญอยู่ที่การไม่สามารถการันตีว่าหลังจากลูกค้ากดลิงก์ไปแล้ว จะทำตามสิ่งที่เราต้องการต่อหรือไม่

Engagement

แคมเปญที่เน้นไปที่การมีปฎิสัมพันธ์กับโพส ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการกดไลก์ แชร์ คอมเมนต์ หรือ การส่งข้อความ โดยเป็นเคมเปญที่เหมาะสำหรับการโพสคอนเทนต์ข่าว การเล่นเกมแจกรางวัล หรือ การประกาศโปรโมชัน นอกจากนี้โพสที่มี Engagement สูงยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและมีโอกาสที่จะกลายเป็นไวรัลโพสได้สูง เนื่องจากโพสที่มีการกดไลก์ คอมเมนต์ หรือการแชร์ที่เยอะ ก็จะมีโอกาสขึ้นไปโชว์บนฟีดสูงกว่า และยังเป็นจุดดึงดูดที่ทำให้คนอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับโพสมากขึ้นอีกด้วย

Leads

แคมเปญที่มีประโยชน์อย่างมากหากเราต้องการให้กลุ่มเป้าหมายกรอกฟอร์มเพื่อแลกข้อมูลส่วนตัวเช่น อีเมล หรือ โทรศัพท์ เพื่อแลกกับข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเพื่อเข้าถึงของแลกเปลี่ยนบางอย่าง เช่น e-book ฟรี เคมเปญนี้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่รู้จักกับแบรนด์ของเราในระดับหนึ่งแล้ว และอยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ในอีกระดับหนึ่ง จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ยิงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ หรือ ใช้ในการส่งคนไปยังเว็บไซต์ส่วนตัว เป็นต้น

App Promotion

ตรงตามชื่อของแคมเปญ เป็นแคมเปญที่สร้างมาสำหรับผู้ที่มีสินค้าหรือ บริการเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือ (ไม่ใช่ app บน PC) โดยจุดประสงค์ของเคมเปญจะเน้นให้คนกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของแบรนด์ ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะใช้กับสินค้าหรือบริการแบบอื่น เคมเปญจะทำงานได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อมีการลงทะเบียนแอปพลิเคชันกับทาง Facebook มิฉะนั้นแล้ว ตัวจุดประสงค์ของแคมเปญจะสลับเป็นการหากลุ่มเป้าหมายแบบ Link Click แทน

Sales

แคมเปญที่เหมาะมากๆ สำหรับการทำ Remarketing หรือการยิงโฆษณาใส่กลุ่มลูกค้าที่รู้จักหรือมีความสนใจในตัวแบรนด์แล้วในระดับหนึ่ง แคมเปญมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่มีเว็บไซต์ e-commerce และจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากใช้คู่กับ Facebook Pixel อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของแคมเปญนี้ไม่เหมาะที่จะใช้ในการยิงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่รู้จักแบรนด์เลย เพราะอาจทำให้เสียค่าโฆษณาโดยไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าที่ควร

การ Boost Post กับAds Manager ต่างกันอย่างไร

Boost Post vs. Ads Manager

สำหรับทุกคนที่เล่น Facebook เราคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับปุ่ม Boost Post เป็นอย่างดี และอาจเข้าใจว่ามันคือการกดยิงโฆษณาบน Facebook ไม่ต่างอะไรกับการสร้างโฆษณาผ่าน Facebook Ads Manager (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Meta Ads Manager) แต่ความคิดนี้ก็เป็นความคิดถูกต้องเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วทั้งสองฟีเจอร์นี้มีข้อแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนและมีข้อดีข้อเสียที่ต่างออกจากกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าฟีเจอร์อันทรงพลังทั้งสองของ Facebook นั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

Boost Post คืออะไร?

การ Boost Post คือการทำ Facebook Ads รูปแบบหนึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่มการมองเห็นโพสที่เราได้ทำการลงเพจไปแล้ว โดยปุ่ม Boost Post นั้นจะอยู่ที่มุมขวาล่างของโพสที่เราต้องการจะทำการบูส เมื่อเราเลือกที่จะ Boost Post เราสามารถที่จะกดเลือกเป้าหมายในการทำเคมเปญโฆษณาโดยในปี 2022 ได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ Get more…Message, Engagement, Leads, Website Visitor, และ Calls แต่หากเราไม่ได้ทำการเลือกเคมเปญ ระบบของ Facebook ก็จะทำการเลือกแบบอัตโนมัติให้เรา  นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการ งบประมาณที่เราจะใช้ในการโฆษณา และค่าปรับแต่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการกำหนดเป้าหมายโฆษณาของเรา เรียกได้ว่าใช้งานง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ว่ามือใหม่แค่ไหนก็สามารถที่จะใช้ฟีเจอร์นี้ได้โดยไม่ยากเย็นนัก

Facebook Ads Manager คืออะไร?

ในส่วนของ Facebook Ads Manager นั้น เรียกได้ว่าแตกต่างออกจากการกด Boost Post โดยสิ้นเชิงเพราะก่อนที่เราจะสามารถเข้าถึงหลังบ้านของตัว Ads Manager นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีหน้าเพจสินค้าหรือบริการ (ที่ไม่ใช่โปรไฟล์ส่วนตัว) และต้องทำการสมัคร Business Account เสียก่อน เมื่อทำทั้งหมดเสร็จแล้ว เราสามารถไปที่หน้า ”โฮม” ของเพจสินค้า และเลือก “Ads Manager” จากแถบเมนูด้านซ้ายบน Facebook จะทำการโหลดหน้าจอใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือ Ads Manager ของเรานั่นเอง

ข้อแตกต่างหลักระหว่างการทำ Facebook Ads ผ่าน Ads Manager และการกด Boost Post ก็คือ ความสามารถในการทำทุกอย่างเหมือนกับการ Boost Post ในระดับสูง บวกกับความสามารถในการกำหนดค่าต่างๆ ที่การกด Boost Post ไม่สามารถทำได้ เช่น การสร้างโพสโฆษณาที่ไม่ได้ถูกโพสลงเพจ (Dark Post) การสร้างกลุ่มเป้าหมายชั้นสูง (เช่น การสร้าง Lookalike หรือการเลือกที่จะไม่โชว์โฆษณากับคนบางกลุ่ม) หรือ การเลือกตำแหน่งโฆษณาที่เราไม่สามารถเลือกได้จากการกด Boost Post (เช่น ลงโฆษณาบน IG Story หรือ Messenger) หรือการยิงแอดแบบทำ A/B Testing เพื่อทดสอบตลาด

โดยสรุปคือการ Boost Post นั้นเป็นเสมือน Ads Manager ในเวอร์ชันย่อส่วน โดยคัดเอาเฉพาะส่วนที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการยิงแอดแบบทั่วไป ทำให้การยิงโฆษณากลายเป็นเรื่องง่ายที่แม้แต่คนที่เพิ่งเริ่มเปิดเพจหรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ ก็สามารถทำได้ ในขณะที่ Ads Manager มีไว้สำหรับคนที่ต้องการทำการตลาดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ เอเจนซี่หรือนักการตลาด เพราะถึงแม้ว่าจะมีความซับซ้อนมากกว่าแต่ก็สามารถกำหนดเป้าหมายได้อย่างชัดเจนกว่า และมีลูกเล่นปลีกย่อยให้ใช้เยอะกว่านั่นเอง เรียกได้ว่าทั้งสองฟีเจอร์มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน โดยสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้งานแต่ละคน

รวม 5 ฟีเจอร์สุดปังของ Facebook Ads

นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว Facebook ยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองอยู่เสมอ โดยในทุกๆ ปีก็จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้นักการตลาดและ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ลองเล่นกัน โดยเราได้รวบรวม 5 ฟีเจอร์สุดปังที่เรียกได้ว่าลองก่อนได้เปรียบก่อน (แม้บางอันจะยังอยู่ในขั้นทดลองก็ตาม) จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

1. Reels

คอนเทนต์วีดีโอสั้นที่ออกมาตอบโต้คู่แข่งอย่าง TikTok ที่กลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ Meta และ YouTube ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ต้องยอมรับว่ารูปแบบของวีดีโอสั้นนั้นกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แม้กระทั่ง YouTube เองก็ยังต้องออกมาแข่งขันโดยการทำ YouTube Shorts ทำให้ Reels เป็นหนึ่งในฟีเจอร์การตลาดที่เราไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะแบรนด์ที่ต้องการเจาะตลาดในกลุ่ม Gen Z ซึ่งเติบโตมากับคอนเทนต์รูปแบบใหม่นี้ ความร้อนแรงของคอนเทนต์วีดีโอสั้นทำให้เกิดอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนขึ้นมามากมาย และกลายเป็นกลุ่มคนที่มีอิธิพลต่อการจับจ่ายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้แม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกก็ยังต้องหันมาปรับกลยุทธทางการตลาดให้มีการใช้คอนเทนต์วีดีโอสั้นในการทำ Facebook Ads มากขึ้น

2. โฆษณาผ่าน Facebook Shop

แม้ว่า Facebook Shop จะไม่ใช่ฟีเจอร์ใหม่เอี่ยมสำหรับ Facebook เพราะถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ช่วงปี 2020 แต่ในปัจจุบัน Facebook ได้ทำการต่อยอดความสำเร็จโดยการเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Meta Advantage+ Dialogue Ad (หรือที่เคยใช้ชื่อ Dynamic Ad) ซึ่งเป็นรูปแบบ Ad ที่จะช่วยส่งเสริมการขายให้กับร้านค้า โดยการยิงแคตตาล๊อกสินค้าของร้านค้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่เคยมีปฎิสัมพันธ์กับแบรนด์ เช่น กดสินค้าลงในตะกร้าแต่ไม่ได้กดจ่ายเงิน เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยเพิ่มยอดการขายให้กับร้านค้าได้อย่างดีเลยทีเดียว

3. เชื่อมต่อ WhatsApp Business และ Facebook Shop เข้าด้วยกัน

แม้ว่า Facebook จะมีปุ่มที่ทำให้เราสามารถกดปุ่มคุยกับร้านค้าผ่าน WhatsApp ได้ตั้งแต่ปี 2018 แต่ในปี 2022 นี้ ทางทีมได้ทำการพัฒนาให้เราสามารถที่จะเชื่อมต่อ Facebook Shop เข้ากับ WhatsApp Business ได้โดยตรง ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวนี้ก็ทำให้การคุยกับร้านค้ากลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับลูกค้า เพราะสามารถที่จะสั่งซื้อของบน Facebook Shop ในขณะที่ใช้ WhatsApp ได้โดยตรง หากใครมีธุรกิจที่ต้องขายลูกค้าต่างชาติ ซึ่งนิยมการใช้ WhatsApp มากกว่า Line แล้วละก็ เรียกได้ว่าไม่ควรพลาดเป็นอันขาด

4. Optimize text per person

ฟีเจอร์ที่ใช้ อัลกอริทึมเช้ามาช่วยเลือกแคปชั่นที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม (โดยสามารถใช้ได้กับเคมเปญโฆษณาบางประเภทเท่านั้น) เมื่อเรากดเลือกที่จะให้ฟีเจอร์นี้ทำงาน อัลกอริทึมจะทำการคัดเลือกคำที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน เช่น หากแคปชั่นของเราคือ “ลดกระหน่ำปลายปี 20-50% ทั้งร้านตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือน” อัลกอริทึมอาจเลือกที่จะแสดงเพียง “ลด 20-50% ทั้งร้าน” ให้กับลูกค้าที่เน้นอ่านเฉพาะตัวเลขโปรโมชั่นเท่านั้น ถือเป็นอีกฟีเจอร์หนึ่งที่ช่วยให้การทำ Facebook Ads ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น 

5. AR Try On

เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality) เป็นเทคโนโลยีที่ Facebook ปล่อยออกมาในปี 2019 สำหรับกลุ่มร้านค้าทดลองบางกลุ่ม ที่ทำให้ลูกค้าสามารถ ทดลองสวมใส่ หรือ ทดลองสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วย แต่ในปี 2022 นี้ การใช้ AR อาจไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิดเพราะ Facebook เองก็มีแผนที่จะทำให้ร้านค้าทั่วไปสามารถสร้างโมเดลจำลองสินค้าและอัพโหลดขึ้นไปขายบน Facebook Shop ได้เช่นเดียวกับร้านค้าทดลอง ถึงแม้จะยังถูกพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ แต่เชื่อเลยว่าหากสำเร็จเมื่อไหร่จะเป็นเทรนด์โฆษณาที่ทุกร้านค้าจะต้องแข่งกันทำอย่างแน่นอน

5 Tips ในการทำ Facebook Ads

ถึงแม้ว่า Facebook จะมีเครื่องมืออันทรงพลังมากมายให้เราเลือกใช้ แต่หัวใจสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์ให้ประสบผลสำเร็จนั้น นอกจากการรู้จักเครื่องมือต่างๆ แล้ว ยังต้องใช้งานให้ได้ได้อย่างเหมาะสม และมีการวางแผนที่ดีด้วย ดังนั้นเราจึงอยากปิดท้ายด้วยการแชร์เทคนิคและทิปส์ในการทำ Facebook Ads ในปี 2022 นี้ เพื่อให้คุณสามารถที่จะดึงศักยภาพของ โฆษณาออกมาได้อย่างเต็มที่ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

1. รู้ก่อนว่ากำลังคุยกับใคร

แก่นแท้ของการทำการตลาดก็คือการรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ไม่ว่าเราจะสามารถใช้เครื่องมือได้ดีแค่ไหน แต่หากเราไม่ได้ทำการบ้านว่าลูกค้าที่สนใจในบริการของเราเป็นใครแล้วละก็ มันคงไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเลยที่ยอดขายของเราจะไม่เติบโต ก่อนที่เราจะทำการยิงโฆษณา เราควรรู้ก่อนว่าเราจะเล็งมันไปที่ใคร ยิ่งเรารู้จักลูกค้าของเราดีขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะสามารถสร้างโฆษณาและสินค้าที่ตรงกับความต้องการของพวกเขามากเท่านั้น ลองทำแบบสอบถามและจิตนาการว่าปัญหาของลูกค้าของคุณคืออะไร และสินค้าของคุณจะช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างไรบ้าง เชื่อเถอะว่าการยอมเหนื่อยในการหาข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของคุณนั้นจะส่งผลดีให้กับแบรนด์ของคุณในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

2. ใช้ Lookalike Audience

การสร้าง Lookalike Audience คือการสร้างฐานลูกค้าใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับลูกค้าเดิม เช่น คุณสามารถให้ Facebook หา Lookalike Audience ของคนที่ส่งข้อความมาหาคุณใน Inbox เพียงเท่านี้ Facebook ก็จะทำการยิงโฆษณาของคุณไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ซึ่งมีพฤติกรรมชอบส่งข้อความเช่นเดียวกัน ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณสามารถขยายฐานลูกค้าของคุณออกไปได้เป็นอย่างดี

3. ใช้วีดีโอ

ความร้อนแรงของ วีดีโอสั้นนั้นทำให้เราได้เห็นแล้วว่ามันเป็นประเภทของคอนเทนต์ที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลของ Wyzowl ซึ่งอ้างว่า 81% ของแบรนด์เห็นการเติบโตของยอดขายเมื่อใช้การโฆษณาผ่านวีดีโอสั้น สิ่งหนึ่งที่วีดีโอได้เปรียบภาพนิ่งคือ เสียงและความน่าสนใจของภาพเคลื่อนไหว มันจึงเป็นประเภทของคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดความสนใจของคนได้มากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ

4. เตรียม Facebook Pixel ให้พร้อม

Facebook Pixel นั้นถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้นักการตลาดสามารถรับรู้ได้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้างหลังจากพวกเขาไปที่เว็บไซต์ปลายทาง แต่การที่ Facebook Pixel จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มันจำเป็นที่จะต้องได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าของคุณก่อน โดยสามารถเริ่มต้นจากการใช้คอนเทนต์ประเภท วีดีโอ และใช้เคมเปญ Video Reach ในการเพิ่มการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หากลองคิดดูก็เป็นเหมือนการแนะนำตัวให้ลูกค้ารู้จักกับแบรนด์ของเราก่อน เมื่อมีลูกค้าจำนวนหนึ่งดูวีดีโอหรือไปเยี่ยมเว็บไซต์ของเรา เราสามารถที่จะยิงโพสขายของหากลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้ในภายหลัง การทำแบบนี้จะเพิ่มโอกาสในการขายมากกว่าการยิงโปรโมชั่นออกไปโดยที่ลูกค้ายังไม่ได้รู้จักแบรนด์ของเรา

5. สร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์

การขายของให้กับคนแปลกหน้า กับการขายของให้กับคนที่ไว้ใจเราในระดับหนึ่งแล้วนั้น การทำอย่างหลังจะสามารถทำได้ง่ายกว่า เพราะลูกค้ามีความเชื่อใจต่อตัวแบรนด์ การทำ Facebook Ads ก็เช่นกัน เราควรสร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและตัวแบรนด์ เช่น การทำ e-book ในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อฐานลูกค้า ให้ลูกค้าลองโหลดไปใช้ฟรี แลกกับข้อมูล เช่น อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ การทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์แล้ว ยังทำให้เราสามารถทำการตลาดนอกเหนือจาก Facebook กับลูกค้า เช่นการทำ E-mail Marketing ได้อีกด้วย

สรุป

ถึงแม้ว่า Facebook จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและคู่แข่งทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ในปี 2022 นี้ Facebook Advertising ก็ยังคงเป็นเครื่องมือการตลาดดิจิทัลที่มีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนยอดขายให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ Facebook ก่อตั้งมาในปี 2004 มาจนถึง ยุค Meta ณ ปัจจุบัน Facebook ได้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย และยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับต้นๆ ที่นักการตลาดทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญ ดังนั้นหากเรายังมีคำถามว่า มันยังคุ้มค่าในการทำ Facebook Ads ในปี 2022 หรือไม่? และมันสายเกินไปหรือยังที่เราจะเริ่มทำความรู้จักกับการตลาดบน Facebook? คำตอบของคำถามนั้นก็คือ ไม่มีอะไรที่สายเกินไป เพราะเราเชื่อว่า Facebook หรือ Meta นั้นจะยังคงเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการแข่งขันทางการตลาดดิจิทัลอย่างแน่นอน

FAQ – คำถามที่พบบ่อย

วัตถุประสงค์ใหม่ของ Facebook Ads มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมบ้าง

Facebook Ads หรือ Meta Ads เปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการทำโฆษณาใหม่จาก 11 เหลือ 6 Ad Objectives ดังนี้ 

  1. Awareness (Brand Awareness, Reach)
  2. Engagement (Engagement, Video Views, Messages, Conversions)
  3. Leads (Lead Generation, Messages, Conversions)
  4. Sales (Conversions, Catalog Sales, Store Traffic)
  5. Traffic
  6. App Promotion (App Installs)

Boost post ต่างจากการทำโฆษณาผ่าน Ads Manager อย่างไร

สิ่งที่ Boost post ต่างจากการทำโฆษณาผ่าน Ads Manager ได้แก่ ซื้อโฆษณาได้ง่าย และรวดเร็ว เหมาะกับผู้เริ่มต้นซื้อโฆษณา Facebook และยังไม่มีความเชี่ยวชาญมาก แต่ข้อเสียของการ Boost post ก็มี อย่างเช่น ไม่สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ได้อย่างละเอียด ข้อจำกัดในการจัดการแคมเปญโฆษณา ความละเอียดสร้างและระบุกลุ่มเป้าหมาย ข้อมูล Ad Report น้อยและไม่ละเอียด หากต้องการทำโฆษณา Facebook Ads จริงๆควรทำผ่าน Ads Manager ดีกว่า แต่หากไม่มั่นใจทาง Minimice เรายินดีให้บริการพร้อมคำปรึกษาในการทำ Facebook Ads

หากต้องการให้ลูกค้ากรอกฟอร์ม หรือสมัครบริการ ควรใช้ Objective ไหนในการทำโฆษณา

หากต้องการให้ลูกค้ากรอกฟอร์มหรือสมัครบริการอะไรสักอย่าง Objective ที่ตอบโจทย์คือ Lead เพราะเราสามารถสร้าง Lead Form เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูลทางการตลาดที่เราต้องการได้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล  และข้อมูลเหล่านี้สามารถนำกลับมาทำ Retargeting ต่อได้

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง