สำหรับหลายคนที่เคยขายของออนไลน์ อาจเคยเจอกับประสบการณ์ ยอดไลก์เยอะแต่ไม่ได้ยอดขาย จนรู้สึกท้อ แน่นอนว่าในการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ลูกค้าอาจไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าหลังการมองเห็นในครั้งแรก
ดังนั้นการใช้เทคนิค Retargeting จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญ ที่จะช่วยเปลี่ยนจากผู้ที่สนใจสินค้าให้กลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์ และทำให้แบรนด์สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าอยากรู้ว่า Retargeting คืออะไร? ควรใช้ตอนไหน? และมีรูปแบบอย่างไรบ้าง? เรามีคำตอบให้ในบทความนี้ พร้อมแล้วไปอ่านกันได้เลย
Retargeting คืออะไร?
Retargeting คือเทคนิคในการทำการตลาดออนไลน์รูปแบบหนึ่ง โดยการส่งโฆษณาหรือข่าวประชาสัมพันธ์ชิ้นใหม่ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ เช่น การเข้าชมเว็บไซต์ การกดไลก์ การกดแชร์ การดูวีดีโอ หรือการส่งข้อความเข้ามาพูดคุย ฯลฯ โดยเป็นการตั้งสมมุติฐานว่า การเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์นั้น ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ถึงความสนใจในสินค้าหรือบริการของแบรนด์ที่มากกว่าคนทั่วไป ข้อมูลจาก Finances Online เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่ถูก Retarget (Retargeted Audience) มีแนวโน้มมากกว่า 3 เท่าที่จะกดดูโฆษณาชิ้นใหม่ที่ถูกส่งออกไป และมีโอกาสกว่า 70% ที่คนเหล่านั้นจะกลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์
Retargeting แคมเปญนี้ควรใช้เมื่อไหร่?
การใช้เทคนิค Retargeting คือกลยุทธ์ทางการตลาดที่นักการตลาดออนไลน์และเจ้าของกิจการใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยอาจเลือกใช้แคมเปญ Retargeting เมื่อต้องการ
- เปลี่ยนผู้ติดตามให้กลายเป็นลูกค้า – ธุรกิจหรือแบรนด์ซึ่งมีผู้ติดตามออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย อาจเลือกที่จะทำแคมเปญ Retargeting เพื่อเปลี่ยนให้ผู้เข้าชมกลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์ในที่สุด
- เพิ่มโอกาสในการปิดยอดขาย – ก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการของแบรนด์นั้น อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นเสียก่อน การได้รับข้อมูลหรือโฆษณาสินค้าที่สนใจอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้เป็นอย่างดี
- เสนอโปรโมชันพิเศษ – ลูกค้าบางกลุ่มอาจมีความสนใจในตัวสินค้า แต่ติดปัญหาในเรื่องของราคา ดังนั้น สามารถใช้ แคมเปญ Retargeting ในการส่งโปรโมชันพิเศษไปยังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการปิดยอดขาย
- บริหารจัดการกับสินค้าในสต๊อค – แคมเปญ retargeting คือเครื่องมือที่ช่วยให้แบรนด์สามารถบริหารสต็อกสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหากมีสินค้าที่เหลือค้างในสต๊อคที่ต้องการระบาย อาจใช้วิธีการ ปรับราคาพิเศษ จัดสินค้าเป็นแพ็กเกจ หรือเปลี่ยนเป็นของแถม เพื่อนำเสนอให้กับผู้ที่สนใจ เป็นต้น
ทำไมเราต้องทำ Retargeting?
การทำการตลาดแบบ Retargeting มีเทคนิคหลากหลายรูปแบบ แต่ล้วนมีเป้าหมายที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยจุดประสงค์ในการรันแคมเปญ Retargeting ก็คือ
สร้าง Brand Awareness
โดยส่วนใหญ่แล้ว การที่เราจะตีสนิทใครสักคน เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและมักจะเป็นการพบเจอกันมากกว่าหนึ่งครั้ง ในด้านการตลาดนั้น การทำแคมเปญ Retargeting ก็เปรียบเสมือนการขอโอกาสในการพบเจอกับกลุ่มผู้คน ซึ่งมีความสนใจในตัวสินค้าหรือบริการของแบรนด์อีกครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคย ความเชื่อมั่น หรือตอกย้ำการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ ทำให้กลุ่มคนที่อาจจะมีปฎิสัมพันธ์กับแบรนด์ในระดับผิวเผิน รับรู้ถึงการมีอยู่ของแบรนด์ได้ดีขึ้นนั่นเอง
เพิ่ม Conversion
แน่นอนว่าหลังจากที่ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ ชื่นชอบ และคุ้นเคยกับธุรกิจหรือแบรนด์แล้ว ย่อมมีโอกาสในการใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์มากขึ้น ดังนั้นเทคนิคการ Retargeting คือสิ่งที่จะสามารถเปลี่ยนผู้สนใจให้กลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์ และช่วยกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดี
นำส่งโฆษณาตาม Customer Journey
นักการตลาดหลายคนเลือกใช้การทำแคมเปญ Retargeting เพื่อขับเคลื่อนผู้คนไปยังปลายทางของเส้นทางผู้บริโภค (Customer Journey) เช่น กลุ่มเป้าหมายหลายคนอาจจบเส้นทางของผู้บริโภคเพียงแค่เข้ามาที่เว็บไซต์ของแบรนด์ แต่แบรนด์อาจทำแคมเปญ Retargeting โดยการอนุญาตให้กลุ่มเป้าหมายที่เคยเข้ามาที่เว็บไซต์ ใช้บริการของแบรนด์ได้ฟรีในระยะเวลาที่จำกัด ทำให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเกิดความสนใจในตัวแบรนด์อีกครั้ง และเพิ่มโอกาสในการกลายมาเป็นลูกค้าที่ยอมจ่ายเงินในอนาคต หลังมีโอกาสได้ลองใช้บริการของแบรนด์ เป็นต้น
ได้ Customer Lifetime Value (CLTV) เพิ่มขึ้น
ค่า CLTV คือจำนวนเงินที่ลูกค้าแต่ละคนใช้จ่ายให้กับแบรนด์ตลอดเวลาที่ยังคงเป็นลูกค้าของแบรนด์อยู่ การใช้แคมเปญ Retargeting คือวิธีที่จะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้เรื่อย ๆ และช่วยยืดอายุของสถานะลูกค้าออกไปให้ยาวนานขึ้นนั่นเอง
เพิ่มอัตราการชำระเงินในตะกร้าสินค้ามากขึ้น
ในบางครั้งลูกค้าอาจกดสินค้าค้างไว้ในตะกร้าสินค้า แต่ยังไม่ได้ทำการชำระเงิน เพราะลืมหรือยังไม่พร้อมที่จะชำระเงินในวันนั้น แคมเปญ Retargeting คือ กุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยเตือนให้ลูกค้ากลับมาสนใจในตัวสินค้าและทำการซื้อให้เสร็จสมบูรณ์
แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่
การทำแคมเปญ Retargeting คือโอกาสในการนำเสนอสินค้าแก่กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบแบรนด์อยู่แล้ว ลูกค้าเก่าของแบรนด์ย่อมมีความคุ้นเคยกับสินค้าและบริการ รวมถึงมีความไว้วางใจแบรนด์ในระดับหนึ่ง ดังนั้นการนำเสนอสินค้าใหม่กับลูกค้ากลุ่มเดิม จึงมีโอกาสในการประสบความสำเร็จ มากกว่าการขายสินค้าให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่
Retargeting vs Remarketing
Retargeting และ Remarketing เป็นคำสองคำที่ถูกใช้แทนกันบ่อย ๆ และความหมายของทั้งคู่ยังคงเป็นที่ถกเถียงของนักการตลาดออนไลน์อยู่เสมอ จริง ๆ แล้วเทคนิคทั้งสองรูปแบบนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ข้อแตกต่างหลักของทั้งสอง อยู่ที่ลักษณะของข้อมูลต้นทางที่ถูกนำมาใช้สร้างแคมเปญการตลาด กล่าวคือ
Retargeting คือการทำการตลาดกับกลุ่มคนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับโซเชียลมีเดีย การค้นหาบนเสิร์ชเอนจินหรือการเข้าเยี่ยมเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเช่น การส่งโฆษณาสินค้าราคาพิเศษ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เคยเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของแบรนด์ เป็นต้น
แต่ Remarketing คือการทำการตลาดกับลูกค้าซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลเดิม เช่น กลุ่มคนที่เคยสมัคร Newsletter บนเว็บไซต์ของแบรนด์ หรือ ลูกค้าเก่าที่เคยซื้อสินค้ามาแล้ว และมักใช้อีเมลเป็นช่องทางหลักในการทำแคมเปญโฆษณา ยกตัวอย่างเช่น การส่งอีเมลอัพเดทให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกทราบว่า จะได้ส่วนลดพิเศษในช่วงเดือนเกิด เป็นต้น
กล่าวง่าย ๆ ก็คือ Retargeting คือการทำการตลาดกับกลุ่มที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ แม้จะอยู่ในระดับผิวเผินก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่อยู่ในฐานข้อมูล แต่การทำ Remarketing คือการทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลเดิมนั่นเอง
5 ประเภทของการทำ Retargeting
การทำ Retargeting นั้นถูกแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสีย และเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป รูปแบบของการทำ Retargeting ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ
Pixel-Based Retargeting
Pixel-Based Retargeting คือ หนึ่งในรูปแบบของการทำการ Retargeting ที่สามารถพบเจอได้บ่อยที่สุด โดยเป็นการส่งชิ้นโฆษณาไปยังกลุ่มคนที่เคยเข้ามาเยี่ยมชมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์ที่ถูกฝัง Pixel เอาไว้ ข้อดีของ Pixel คือความสามารถในการเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมเว็บไซต์ในทุกขั้นตอน โดย Pixel นั้นเปรียบเสมือนเครื่องหมายที่บ่งบอกกับเจ้าของเว็บไซต์ว่า ใครบ้างที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ เข้าไปที่หน้าไหนบ้าง มีการกดสั่งสินค้าหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่เจ้าของเว็บไซต์สามารถนำไปใช้ทำการตลาดที่เหมาะสมต่อไปได้
List-Based Retargeting
List-based Retargeting (หรือบางคนอาจเรียกว่า Remarketing) คือ การส่งชิ้นโฆษณาไปยังกลุ่มคนที่อยู่ในฐานข้อมูลเดิม ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือลิสต์อีเมลก็ตาม โดยแพลตฟอร์มเช่น Meta หรือ Twitter อนุญาตให้สามารถทำการอัพโหลดลิสต์ข้อมูล เพื่อตั้งเป็น Audience ในการใช้ยิงโฆษณา ข้อเสียคือต้องมีการอัพเดทฐานข้อมูลอยู่บ่อย ๆ และต้องได้รับข้อมูลการติดต่อที่ถูกต้อง จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หากลูกค้าสะกดอีเมลผิด หรือใช้อีเมลปลอม อาจทำให้ลิสต์นั้นกลายเป็นลิสต์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นต้น
ข้อดีอีกอย่างของการมีข้อมูลลูกค้าคือ สามารถนำฐานข้อมูลที่มีมาสร้าง Lookalike Audience ได้ การสร้าง Lookalike Audience คือ การให้แพลตฟอร์มที่จะทำการยิงโฆษณา ทำการประมวลหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีพฤติกรรมหรือความสนใจ ใกล้เคียงกับกลุ่มที่ตั้งค่าเอาไว้ หากฐานข้อมูลมีความแม่นยำและมีจำนวนที่มากพอ จะยิ่งทำให้แพลตฟอร์มสามารถสร้าง Lookalike Audience ที่มีคุณภาพมากขึ้น ถือเป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์อีกตัวที่ไม่ควรมองข้าม
Cross-Channel Retargeting Ads
การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกมของการทำการตลาดออนไลน์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดย Cross-Channel Retargeting คือการทำ Retargeting Ad ที่เป็นการเชื่อมต่อประสานกันระหว่างหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยแบรนด์สามารถส่งชิ้นโฆษณาข้ามแพลตฟอร์มและเลือกรูปแบบที่โฆษณาชิ้นนั้นจะไปปรากฏบนช่องทางต่างๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายอาจเข้ามาที่เว็บไซต์เป็นอันดับแรก และถูกแปะ Pixel หลังจากนั้น คนกลุ่มนี้ก็จะเห็นโฆษณาของแบรนด์ บน Meta หรือ Instagram ด้วยเช่นกัน เป็นต้น
Email Retargeting Ads
เป็นกลยุทธ์การทำ Retargeting ที่เจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ได้ทำการเปิดอ่านอีเมล์ที่ถูกส่งออกไป โดยสามารถนำอัตราการเปิดอ่านอีเมล์ มาเป็นสถิติในการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของอีเมลที่ส่งออกไปได้
Dynamic Retargeting Ads
เป็นเทคนิคการทำแคมเปญ Retargeting ที่ต้องใช้ Pixel บนเว็บไซต์ เพื่อช่วยในการส่งชิ้นโฆษณาที่เหมาะสมไปยังเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจง โดยชิ้นโฆษณาที่จะถูกส่งไปยังผู้รับนั้นจะสอดคล้องกับพฤติกรรมของพวกเขาในขณะที่อยู่บนเว็บไซต์ เช่น หากผู้เข้าชมเว็บไซต์ทำการกดเข้ามาดูสินค้า A ก็จะได้รับโฆษณาของสินค้า A ในขณะที่ผู้ที่เข้าไปชมสินค้า B ก็จะได้รับเฉพาะโฆษณาของสินค้า B เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้า เป็นต้น
เทคนิคการทำ Retargeting ให้คนเห็นโฆษณาไม่เบื่อเรา
การทำ Retargeting ที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีการวางแผนที่ดี เพราะการส่งชิ้นโฆษณาไปยังกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเห็นโฆษณา หรือแม้แต่การทำให้เห็นบ่อยจนเกินไป อาจทำให้ผู้คนเกิดความเบื่อหน่าย รำคาญ และส่งผลกระทบในด้านลบต่อแบรนด์ได้ มาดูกันดีกว่าว่ามีเทคนิคอะไรบ้างที่ช่วยให้การทำ Retargeting ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ติด Pixel ให้ URL แบบจำเพาะ: หัวใจของความสำเร็จในการทำ Retargeting คือความแม่นยำ การยิงโฆษณา Retargeting ไปยังกลุ่มคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ อาจเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากเกินไป ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนในการจัดวาง Pixel ใน URL ที่เราต้องการ เพื่อให้สามารถส่งชิ้นโฆษณาไห้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เช่น อาจทำการแปะ Pixel ในการคัดแยกระหว่างกลุ่มคนที่เข้ามาอ่านบทความเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและบทความที่เกี่ยวกับสุนัข โดยสามารถเล็งโฆษณาน้ำผลไม้สุขภาพไปยังกลุ่มแรก แล้วส่งโฆษณาอาหารเสริมสุนัขไปยังกลุ่มที่สอง เป็นต้น
- ทำ A/B Testing: การทำ A/B testing ยังคงมีความสำคัญกับการยิง Retargeting Ad เช่นเดียวกับการยิงโฆษณาแบบทั่วไป เพราะทำให้สามารถรู้ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายตอบสนองกับโฆษณาชิ้นไหนมากที่สุด ทำให้สามารถเห็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบโฆษณาให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น
- เล็งกลุ่มเป้าหมายแบบจำเพาะ: แพลตฟอร์มเช่น Meta อนุญาตให้นักการตลาดสามารถสร้าง Custom Audience หรือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบจำเพาะในการยิงโฆษณา การสร้าง Custom Audience คือ การสร้างกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์คาดการณ์ว่า น่าจะมีความสนใจสินค้าหรือบริการของแบรนด์ โดยสามารถคัดกรองจากตัวแปรหลายอย่าง เช่น เพศ อายุ สถานที่อยู่อาศัย สภาพสมรส ความสนใจ วุฒิการศึกษา และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายตัวอย่างของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น กำหนดให้ส่งโฆษณาผ้าอนามัยไปยังกลุ่มผู้หญิง อายุระหว่าง 18-40 ปี ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเข้ามาที่เว็บไซต์ของแบรนด์ผ้าอนามัยใน 90 วันที่ผ่านมา เป็นต้น หากไม่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว โฆษณาอาจถูกส่งไปยังลูกค้าผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ และเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย
- แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ: ลูกค้าแต่ละคนต่างอยู่ในคนละส่วนของเส้นทางผู้บริโภค กล่าวคือมีทั้งกลุ่มผู้ที่เพิ่งรู้จักกับแบรนด์ ผู้ที่คุ้นเคยกับแบรนด์ในระดับหนึ่ง และผู้ที่เป็นลูกค้าของแบรนด์อยู่แล้ว แน่นอนว่ากลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ย่อมต้องการอยากเห็นชิ้นโฆษณาที่แตกต่างกันออกไป เพราะการส่งโฆษณาชิ้นเดิมๆ ไปหาลูกค้าเก่า อาจทำให้เกิดความรำคาญได้ ดังนั้น จึงควรมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
การทำ Retargeting คือกลยุทธ์อันทรงพลังที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเปลี่ยนผู้สนใจ ให้กลายมาเป็นลูกค้าได้ไม่ยาก เพราะสำหรับการทำ Retargeting นั้น ทุก ๆ การปฏิสัมพันธ์สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการทำการตลาดได้ทั้งหมด จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักการตลาดทุกคนควรที่จะศึกษา และทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถทำสื่อโฆษณาที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มลูกค้าเดิม และช่วยเพิ่มการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ต่อผู้กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อยู่เสมอ หากนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้ธุรกิจหรือแบรนด์ของคุณเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
Retargeting คืออะไร?
Retargeting คือเทคนิคในการทำการตลาดออนไลน์รูปแบบหนึ่ง โดยการส่งโฆษณาหรือข่าวประชาสัมพันธ์ชิ้นใหม่ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ เช่น การเข้าชมเว็บไซต์ การกดไลก์ การกดแชร์ การดูวีดีโอ หรือการส่งข้อความเข้ามาพูดคุย
Retargeting ต่างจาก Remarketing ยังไง?
Retargeting คือการทำการตลาดกับกลุ่มที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ แม้จะอยู่ในระดับผิวเผินก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่อยู่ในฐานข้อมูล แต่การทำ Remarketing คือการทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลเดิมนั่นเอง
การทำ Retargeting มีกี่ประเภท?
การทำ Retargeting มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ดังนี้
- Pixel-Based Retargeting
- List-Based Retargeting
- Cross-Channel Retargeting Ads
- Email Retargeting Ads
- Dynamic Retargeting Ads