มารู้จัก Google Trends คืออะไร ใช้งานยังไงให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ

มารู้จัก Google Trends คืออะไร ใช้งานยังไงให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ

Table of Contents

ในโลกที่หลายสิ่งหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสนใจของผู้คนจึงเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กับความสนใจอย่างทันท่วงที Google Trends กลายมาเป็นตัวช่วยที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจให้เป็นที่สนใจของผู้คน แต่จริงๆ แล้ว Google Trends คืออะไร ใช้งานอย่างไรและมีประโยชน์แก่ธุรกิจอย่างไรบ้าง บทความนี้จะมาเฉลยให้ทุกคนได้รู้จักกัน!

ทำความรู้จัก Google Trends คืออะไร

ทำความรู้จัก Google Trends คืออะไร

Google Trends คือ หนึ่งในบริการของกูเกิลที่มีหน้าที่หลักในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลจากคำค้นหาต่างๆ ผ่าน Search Engine โดยเครื่องมือนี้ถูกคิดค้นออกมาเพื่อมอบข้อมูลเชิงลึก (insights) เกี่ยวกับพฤติกรรมที่กลายมาเป็นความสนใจจากการเปรียบเทียบปริมาณคำค้นหาตามช่วงระยะเวลาในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้บริการ Google Trends ยังรองรับการใช้งานหลากหลายภาษา โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ข้อมูลที่ถูกรวบรวมจะถูกบันทึกเก็บไว้อย่างปลอดภัย ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลหรือข้อมูลส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อหรือคำค้นหาที่เกี่ยวเนื่องกับคีย์เวิร์ดที่มักถูกถาม จะถูกแสดงเพื่อให้เห็นความสนใจของผู้ใช้งานในภาพรวมที่กว้างขึ้นเท่านั้น 

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถสมัครใช้บริการอีเมลอัตโนมัติเพื่ออัปเดตคำเฉพาะเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน ช่วยประหยัดเวลาในการเสิร์ชด้วยตนเอง

Google Trends ดียังไง มีประโยชน์กับธุรกิจในแง่ไหนบ้าง

Google Trends ดียังไง มีประโยชน์กับธุรกิจในแง่ไหนบ้าง

ทีนี้ Google Trends มีประโยชน์กับธุรกิจอย่างไรบ้าง? เราเตรียมคำตอบไว้ที่ข้างล่างนี้แล้ว มาดูกันเลย

  • สาย Marketing ต้องไม่พลาดกับเครื่องมือช่วยดีๆ แบบนี้ สำหรับนักการตลาดหรือนักธุรกิจที่ต้องการไอเดีย หรือกระแสใหม่ๆ แล้วล่ะก็ Google Trends จะช่วยวิเคราะห์ทิศทาง แนวโน้มเนื้อหาต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดแผนธุรกิจให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  • สาย Content Creator หมดห่วงเรื่องไอเดียตันได้เลย เพราะบริการ Google Trends พร้อมมอบข้อมูลสดใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะกลุ่มเป้าหมายต้องการอยากรู้เรื่องไหนหรือมีปัญหาใด ก็สามารถหาข้อมูลง่ายๆ ได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนบทความทำ SEO หากเลือกคีย์เวิร์ดได้ถูกต้องและน่าสนใจแล้วล่ะก็รับรองได้ว่าติดหน้าแรกอย่างแน่นอน
  • สาย Ads Optimizer ก็สามารถใช้บริการเครื่องมือ Google Trends เพื่อตรวจสอบความต้องการ การรับรู้และศึกษาคู่แข่งเพื่อเลือก Keywords ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งการทำ SEM ที่อาจเจาะไปในพื้นที่หรือบริเวณเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดมากกว่าเดิม

Google Trends มีการทำงานอย่างไร

Google Trends มีการทำงานอย่างไร

หลักการทำงานของ Google Trends มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ Search Engine ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเทรนด์ด้วยการระบุคำค้นหา ข้อความหรือหัวข้อที่ต้องการ ซึ่งจะแสดงข้อมูลออกมาเป็นกราฟโดยจะจัดความสนใจอยู่ที่ 0 ถึง 100 อย่างไรก็ตามหากคำนั้นได้คะแนน 50 คะแนน ไม่ได้แปลว่าถูกค้นหา 50 ครั้ง แต่ได้รับความนิยมในการค้นหาอยู่ในระดับปานกลางนั่นเอง ไม่นับรวมกรณีที่ผู้ใช้งาน IP เดียวกันค้นหาซ้ำ การค้นหาด้วยอักขระพิเศษ และข้อความที่มีการค้นหาในปริมาณน้อย

โดยหลักๆ แล้วข้อมูลจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ความสนใจตามช่วงเวลาและความสนใจตามภูมิภาค โดยมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ความสนใจตามช่วงเวลา (Interest over time)

ความสนใจตามช่วงเวลา คือ ความสนใจที่ยังคงอยู่เมื่อเวลาผ่านไม่ใช่การค้นหา ณ ช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งความสนใจนี้จะถูกแสดงผลผ่านกราฟเส้นระดับตามเวลา ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 

  1. ข้อมูลเรียลไทม์ จะนำเสนอข้อมูลในช่วงเวลา 7 วันก่อนทำการค้นหาหรือจะกำหนดเวลาภายในระยะ 1 ชั่วโมงได้เช่นเดียวกัน ข้อมูลที่ได้จึงมีความสดใหม่ เหมาะแก่การนำไปใช้เพื่อเขียนคอนเทนต์ตามกระแสหรือธุรกิจที่อาศัยข้อมูลข่าวสารที่ทันเหตุการณ์ รวมทั้งแนวโน้มปัจจุบัน
  2. ข้อมูลแบบย้อนหลัง สามารถแสดงผลข้อมูลในอดีตจนถึงปี 2000 ซึ่งให้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลในมุมมองที่กว้างขึ้นว่าคำค้นหานั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในระยะเวลาที่นานขึ้น เป็นเดือนหรือเป็นปี เหมาะกับการศึกษาทำความเข้าใจแนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมในอดีตเชิงลึกมากขึ้น

ความสนใจตามภูมิภาค (Interest by region)

ความสนใจตามภูมิภาค เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ระบุคำที่เป็นที่นิยมในภูมิภาคและนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณการค้นหาทั้งหมด โดยคะแนนที่ออกมาจะไม่ใช่จำนวนตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งชุดข้อมูลนี้สามารถจำแนกตามแต่ละประเทศ รวมทั้งข้อมูลจากทั่วโลก การที่สามารถตั้งค่าตามเมืองหรือจังหวัดจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

เรียนรู้ Google Trends ใช้งานยังไง

เรียนรู้ Google Trends ใช้งานยังไง

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักเครื่องมือ Google Trends คร่าวๆ แล้วว่าคืออะไรและมีหน้าที่อย่างไรบ้าง คราวนี้ มาเรียนรู้การใช้ Google Trends ด้วย 4 วิธีง่ายๆ ดังนี้

1. ใช้สังเกตเทรนด์การค้นหาใหม่ๆ

ใช้สังเกตเทรนด์การค้นหาใหม่ๆ ทำได้โดยไปที่เครื่องมือและเสิร์ชหาคำที่ต้องการอันดับแรก จากนั้นให้สังเกตที่กราฟตามช่วงเวลาหรือฤดูกาล เช่น หากค้นหาเกี่ยวกับเสื้อโค้ต อาจพบว่ามีปริมาณค้นหาสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เป็นฤดูหนาวมากกว่าเดือนอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจมากมาย ทั้งการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ คอนเทนต์ กลยุทธ์ในการทำการตลาด แคมเปญให้สอดคล้องกับธุรกิจตามแต่ละช่วงเวลาในภูมิภาคนั้นๆ

2. ใช้หา Keyword ใหม่ๆ

นอกเหนือจากเทรนด์ฮิตกำลังมาแรงแล้ว ยังสามารถใช้ Google Trends ในการค้นหาคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ทำ SEO และ SEM ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งเราทราบความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ยิ่งทำให้แผนการตลาดชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างแรก ให้ทำการค้นหาด้วยคำหลักที่ต้องการ จากนั้นเลือกเวลาและประเทศ เลื่อนลงมาจนถึงบล็อกรองสุดท้ายจะเห็นคำว่า “Related queries” อยู่ที่ฝั่งขวา ซึ่งข้อแนะนำที่ได้จะเกี่ยวข้องกับคำหลักที่ค้นหาในตอนแรก เป็นคีย์เวิร์ดอันดับต้นๆ ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อคลิกเข้าไปจะเห็นข้อมูลเพิ่มเติม การค้นหามีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ 

  • Hot (Rising) Topics – หัวข้อที่เพิ่งได้รับความนิยมสดๆ ร้อนๆ ตามชื่อประเภทนั่นเอง
  • Popular Topics – หัวข้อยอดนิยมที่ถูกค้นหามากที่สุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

3. ใช้หาลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

หลายๆ คนอาจยังไม่ทราบว่าเครื่องมือใช้หาลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche) ได้ด้วยนะ ผู้ใช้งานสามารถทำได้โดยการกำหนดคำเฉพาะ เช่น หากผู้เข้าชมเว็บไซต์มีความสนใจเกี่ยวกับ กาแฟดริป ให้ใช้คำค้นหานี้เป็นค่าตั้งต้นแล้วจึงกำหนดความสนใจตามช่วงเวลา (Interest over time) เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่ผ่านมา จากนั้นจึงนำไปต่อยอดพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด นอกจากจะได้ความสนใจของลูกค้าเฉพาะกลุ่มแล้ว ข้อมูลที่นำเสนอสามารถบ่งบอกถึงความจงรักภักดี (Loyalty) กับทางแบรนด์อีกด้วย

4. ใช้สังเกตคำค้นหายอดนิยม

ในบางครั้งการเขียนด้วยคำค้นหายอดนิยม ทำให้ได้รับความสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ ส่งผลให้ทั้งเว็บไซต์หรือช่องทางโปรโมตสินค้ามีจำนวนผู้ติดตามหรือผู้ชมสูงขึ้น หากต้องการทราบว่าคำค้นหายอดนิยมล่าสุดคืออะไร

สามารถค้นได้โดยการเข้า Google Trends เลือกประเทศที่ต้องการทราบมุมขวาบนแล้วเลื่อนลง เพียงเท่านี้ก็จะพบเทรนด์ล่าสุดและคำฮิตติดอันดับ ณ ขณะนั้น อย่างไรก็ตามอย่าลืมคำนึงถึงว่าคำที่เลือกใกล้เคียงกับความสนใจของกลุ่ม (Audience) สินค้า (Product) หรือบริการ (Service) ของแบรนด์หรือไม่

5. ใช้เปรียบเทียบ Keyword

อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจของ Google Trends คือ ผู้ใช้งานสามารถเปรียบเทียบคีย์เวิร์ดเพื่อหาคำเกี่ยวข้องที่มีการค้นหามากที่สุดและการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา เพราะคำบางคำได้รับความนิยมสูงมากก็จริง แต่เพียงแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น การเลือกคำที่มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต่อคุณภาพของบทความในระยะยาว การค้นหาโดยเปรียบเทียบเป็นประจำจะช่วยให้การจัดการเนื้อหา (Content management) เป็นไปตามแบบแผน

ตัวอย่างเช่น คำว่า Podcasts ที่ความนิยมลดลงในปี 2008 กลับขึ้นมาเป็นคำที่ผู้คนชื่นชอบในปี 2017 และแม้ตัวเลขจะลดลงแต่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2021 เห็นได้ว่าการค้นหาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เห็นภาพสถิติเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

6. ใช้หาลูกค้าตามท้องถิ่น

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เราได้รู้จักลูกค้าของเรามากขึ้น Google Trends ให้ข้อมูลในเชิงลึกตามที่กำหนดภูมิภาค เมือง จังหวัด เมื่อเห็นความถี่ในการใช้คำค้นหาแล้ว นำข้อมูลที่ได้ปรับใช้ในการทำ Local SEO และเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่ผ่านโฆษณาหรือเนื้อหาทางการตลาด เพื่อให้คอนเทนต์มาร์เก็ตติงมีการปรับให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่และนำไปสู่การเพิ่มคอนเวอร์ชันในท้ายที่สุด

7. ใช้เปรียบเทียบคู่แข่ง

ผู้เข้าใช้งานกูเกิ้ลบางครั้งเลือกที่จะเสิร์ชคำเฉพาะเวลาหาสินค้าหรือบริการที่สนใจ โดยบางครั้งยูทูปเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์อาจมีอิทธิพลอย่างมากเมื่อมีการเลือกค้นหาคำที่เกี่ยวข้อง เช่น การที่ค้นหาคำว่า กาแฟ Strarbucks อาจปรากฎบนหน้ากูเกิลเป็นอันดับแรกๆ  รวมยี่ห้ออื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งปรากฎในหน้าเดียวกัน ทำให้รู้จักแบรนด์คู่แข่งว่าคือใครและศึกษากลยุทธ์การตลาดว่ามีแบบใดบ้าง นอกจากนี้ยังใช้เปรียบเทียบอันดับของแบรนด์และคู่แข่งเพื่อสร้างจุดแข็งและประสบการณ์แก่ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

8. ใช้วางแผนคอนเทนต์ได้ตลอดปี

หลังจากที่ได้ข้อดีต่างๆ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ Google Trends แล้ว จะเห็นได้ว่ามีประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะนักเขียนคอนเทนต์ที่สามารถนำข้อมูล เทรนด์ คำต่างๆ มาคิดวางแผนคอนเทนต์ได้ตลอดปี รวมทั้งการคิดคำโฆษณา โปรโมชันตามฤดูกาลต่างๆ ง่ายดายขึ้น เพราะ Google Trends จะช่วยในการค้นหาหัวข้อ รูปแบบเนื้อหาและกำหนดเวลาลงเนื้อหาตามแนวโน้มที่ได้ศึกษาล่วงหน้านั่นเอง

สรุป

Google Trends คือ เครื่องมือที่ใช้ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ หัวข้อ หรือคีย์เวิร์ดที่ได้รับความนิยมหรือถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ตามแต่ละช่วงเวลาแต่ละประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อธุรกิจในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เปรียบเทียบเพื่อปรับปรุงแผนการตลาด เพิ่มประสบการณ์ผู้บริโภค ศึกษาคู่แข่งและพัฒนาตัวสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

FAQ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Google Trends

หลายๆ คนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะยังมีข้อสงสัยอยู่เล็กน้อย เราเลยรวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบเกี่ยวกับ Google Trends

Google Trends แม่นยำแค่ไหน

Google Trends เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่ามีความแม่นยำและน่าเชื่อถือ แม้แต่สำนักพิมพ์รายใหญ่ อย่าง New York Times  The Economist และ the Wall Street Journal ยังมีการพูดถึงเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้เพื่อรับรองความถูกต้องของข้อมูล

Google Trends ฟรีหรือเปล่า

ใครว่าของฟรีไม่มีในโลก แต่ Google Trends เป็นเครื่องมือฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ที่จัดทำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง Google เช่นเดียวกันกับเวอร์ชันที่ได้รับการพัฒนาอย่างบริการ Google Trends Supercharged ซึ่งผู้ใช้งานกูเกิลทุกคนสามารถใช้เครื่องมือในการค้นหาข้อมูล หัวข้อที่กำลังได้รับความนิยม หรือคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจ

Google Trends แยกความสนใจตามเพศได้ไหม

Google trends ไม่สามารถแบ่งความสนใจตามเพศได้ แต่สามารถฟิลเตอร์ตามพื้นที่ (geography) ได้ แบ่งเป็น ประเทศ จังหวัด หรือเมือง ก็สามารถกำหนดได้ตามที่ต้องการ

Google Trends เหมือนแบบสำรวจไหม

การหาข้อมูลของ Google Trends ใช้วิธีการทำงานแบบเดียวกันกับแบบสำรวจ ซึ่งเป็นทำงานโดยการสุ่มตัวอย่างข้อมูลการค้นหาบน Google แล้วทำการวิเคราะห์ตัวอย่างกับคำค้นหาที่ผู้ใช้กำหนดภายในพารามิเตอร์ ได้แก่ เวลาและภูมิศาสตร์

ตัวเลขใน Google Trends คือ

ตัวเลขใน Google Trends คือ ตัวเลขที่แสดงผลความนิยมที่สัมพัทธ์หรือเกี่ยวข้องกับคำค้นหา โดยตัวเลขดังกล่าวจะไม่ใช่ค่าตัวเลขจริง เนื่องจากตัวเลขที่ถูกปรับให้อยู่ในสเกล 0 ถึง 100 ไม่ได้นับเป็นจำนวนครั้ง แต่เป็นระดับความนิยมของแต่ละคำค้นหา

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง