Table of Contents

Categories

Recent Posts

linkedin คือ

ทำความเข้าใจ LinkedIn Ads แหล่งหาพาร์ทเนอร์ B2B ที่ดีที่สุดยุค 4.0

Table of Contents

หากพูดถึงโซเชียลมีเดียที่เน้นไปที่สายอาชีพแล้วละก็ ชื่อของ LinkedIn คือชื่ออันดับแรกที่หลายๆ คน ต้องนึกถึงอย่างแน่นอน สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับ LinkedIn ก็คือ ตัวแพลตฟอร์มนั้นมีบริการการโฆษณาเช่นเดียวกับ เฟสบุ๊ค และยังเป็นแพลตฟอร์มที่ร้อนแรงมากๆ ในการโฆษณาเจาะกลุ่มธุรกิจแบบ B2B อีกด้วย โดยบทความนี้จะอธิบายให้ฟังว่า LinkedIn Ads คืออะไร ทำไมมันถึงเหมาะกับการทำการตลาดแบบ B2B พร้อมถึงบอกขั้นตอนในการสร้างโฆษณาบน LinkedIn อย่างละเอียด ถ้าพร้อมแล้วเราไปอ่านต่อกันได้เลย

linkedin ads คืออะไร

LinkedIn Ads คืออะไร?

LinkedIn Ads คือการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มของ LinkedIn ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับการโฆษณาบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น เฟสบุ๊ค หรือ อินสตาแกรม แต่ข้อแตกต่างหลักของการโฆษณาบน LinkedIn ก็คือความได้เปรียบในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าของกิจการหรือ กลุ่มที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้

LinkedIn Ads ทำงานยังไง แตกต่างจาก Paid Ads อื่นหรือไม่

การโฆษณาผ่าน LinkedIn Ads โดยพื้นฐานแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางอื่น ๆ โดยยังคงใช้ระบบการให้คะแนน ซึ่งคำนวนจาก “ราคาการประมูล” (Bidding) และ “คะแนนความเกี่ยวข้อง” (Relevance Score) ของโฆษณามาเป็นตัวกำหนดว่าโฆษณาชิ้นไหนที่จะขึ้นไปโชว์บนฟีดของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ LinkedIn นั้นมีข้อได้เปรียบแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่น ๆ ในหลายด้าน คือ

โซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งสำหรับคนทำงาน

ผู้ใช้งาน LinkedIn ส่วนใหญ่เข้าไปใช้แพลตฟอร์มเพื่อเสพคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของพวกเขา และ ใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการพูดคุยกับคนอื่นๆ ในสายอาชีพเดียวกัน หรือเพื่ออัพเดทข่าวสารต่าง ๆ โดยในปี 2022 นี้ LinkedIn ได้มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 875 ล้านคนใน 200 ประเทศทั่วโลก ถึงแม้ว่ายอดผู้ใช้งานจะน้อยกว่ายักษ์ใหญ่เช่นเฟสบุ๊ค แต่ต้องบอกเลยว่า คนที่อยู่บน LinkedIn นั้นมักเป็นมืออาชีพที่พร้อมจะคุยเรื่องธุรกิจการงาน และถ้าเทียบในเรื่องของความน่าเชื่อถือ การพูดคุยกับคนแปลกหน้าเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจผ่าน LinkedIn นั้น มักมีความน่าเชื่อถือกว่าการพูดคุยผ่านเฟสบุ๊คเสมอ LinkedIn จึงถือเป็นโซเชียลมีเดียชั้นยอด ที่เหล่ามืออาชีพใช้เพื่อสร้างคอนเนคชั่นออนไลน์ทั่วโลก

เจาะกลุ่มเป้าหมายตามโปรไฟล์อาชีพ

เนื่องจาก LinkedIn เป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มสำหรับคนทำงาน ดังนั้นผู้ใช้งานจึงมักที่จะยินดีใส่ข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางอาชีพ เช่น วุฒิการศึกษา ประวัติการทำงาน ระยะเวลาในการทำงาน รวมถึงผลงานที่เคยทำ ฯลฯ ทำให้ตัวคัดกรองของ LinkedIn Ads มีความจำเพาะเจาะจง สามารถที่จะคัดกรองกลุ่มเป้าหมายตามอาชีพและประสบการณ์ ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

Conversion Rates ที่ดีกว่า

จากการที่ LinkedIn เป็นศูนย์รวมของเหล่าคนทำงาน ด้วยเครื่องมือการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่ทรงพลัง และความน่าเชื่อถือของตัวแพลตฟอร์ม ทำให้ LinkedIn Ads นั้นมีประสิทธิภาพสูง และกลุ่มเป้าหมายที่เห็นโฆษณาของเรา ก็มีโอกาสตอบสนองกับโฆษณาสูงเช่นเดียวกัน

งบโฆษณาที่แพง แลกกับโอกาสการทำกำไรที่สูงขึ้น

LinkedIn Ads มีค่าโฆษณาที่สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยงบขั้นต่ำสุดในการยิงโฆษณาต่อวันอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 350 บาทต่อวัน ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ซึ่งถือเป็นยอดที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่อนุญาตให้ใช้งบโฆษณาในจำนวนที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตามการเสียค่าโฆษณาที่แพงกว่าก็แลกมาด้วยการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคุณภาพสูง ที่มีโอกาสทำกำไรให้กับธุรกิจมากกว่านั่นเอง

การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับตลาด

นอกจากเครื่องมือคัดกรองที่ทรงพลังแล้ว LinkedIn ยังมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Matched Audiences ซึ่งอนุญาตให้เราสามารถนำข้อมูลฐานลูกค้าเดิม มาใช้สร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่มีพฤติกรรมใกล้เคียงกัน (Lookalike Audience) หรือ ทำการ Remarketing กับกลุ่มเป้าหมายที่เคยมีปฎิสัมพันธ์กับตัวโฆษณาของเรา และยังสามารถทำการละเว้นการยิงโฆษณาใส่กลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มได้อีกด้วย เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้การโฆษณาบน LinkedIn มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นที่ทำให้ LinkedIn Ads เหมาะกับธุรกิจ B2B

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่า LinkedIn Ads เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่แบรนด์และเหล่านักการตลาดออนไลน์ไม่ควรมองข้าม แต่ทำไมมันถึงเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการเชื่อมต่อแบบ B2B? เรามีคำตอบทั้งหมดที่นี่แล้ว

สร้างหน้าโปรไฟล์ให้กับธุรกิจของเรา

เช่นเดียวกันกับการรู้จักคนใหม่ๆ ใครสักคนหนึ่งที่ต้องการจะติดต่อเรื่องธุรกิจกับเรา มักอยากรู้เสียก่อนว่าบริษัทหรือกิจการของเรานั้น หน้าตาเป็นอย่างไร? ทำงานแบบไหน? และเสนอขายสินค้าหรือบริการอะไร? เพจธุรกิจบน LinkedIn คือช่องทางในการ “แนะนำตัว” และ “แสดงผลงาน” เพื่อดึงดูดคู่ค้าในอนาคต ยิ่งโปรไฟล์ของเรามีความน่าสนใจมากเท่าไหร่ก็ทำให้มีคนอยากร่วมงานกับเรามากขึ้นเท่านั้น

เพิ่มการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ

หลังจากที่เรามีหน้าเพจธุรกิจของเราแล้ว เราสามารถที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของตนเองได้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใส่ประวัติการทำงาน ผลงานที่เคยทำให้กับลูกค้า หรือแชร์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในสายอาชีพที่เราทำ การแสดงให้เห็นว่าเรามีความรู้และ มีความเป็นมืออาชีพในสิ่งที่ทำ ย่อมเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้มีคนอยากเข้ามาทำความรู้จักกับเรามากขึ้นนั่นเอง

การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แม่นยำ

เครื่องมือคัดกรองและฟีเจอร์ในการยิงโฆษณาหากลุ่มเป้าหมายบน LinkedIn นั้น เป็นการยิงหากลุ่มเป้าหมายที่คัดกรองผ่าน สายอาชีพและประวัติการทำงานของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มอื่นไม่สามารถทำได้ ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องมือสุดวิเศษสำหรับบริษัทที่ต้องการสร้างเครือข่ายหรือพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจ

สร้างยอดขายผ่านการสร้างปฎิสัมพันธ์

หน้าโปรไฟล์ของ LinkedIn คือพื้นที่ชั้นเยี่ยมในการสร้างยอดขายทางอ้อม โดยการสร้างคอนเทนต์หรือบทความที่มีคุณภาพ ที่ดึงดูดให้คนเข้ามาพูดคุยบนเพจของเรา แน่นอนว่าวิธีนี้อาจใช้เวลาและความพยายามที่สูงมาก แต่มันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราสามารถทำได้โดยไม่เสียค่าโฆษณา และยังเป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับกลุ่มคนที่อาจจะกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ของเราในอนาคตอีกด้วย

ฟีเจอร์ Community ของดีที่ไม่ควรมองข้าม

อย่ามองข้ามฟีเจอร์ Community ของ LinkedIn ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ Group และ Influencer “Group” นั้นไม่ต่างอะไรจากการเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ บนเฟสบุ๊ค การเข้าร่วมกลุ่มเพื่อคอมเมนต์หรือตอบคำถามของคนในกลุ่มก็อาจทำให้คุณได้คอนเนคชั่นที่ดีได้อย่างคาดไม่ถึง ในส่วนของ “Influencer” นั้นเราสามารถที่จะเข้าไปคอมเมนต์ ใต้โพสของเหล่าผู้นำทางความคิดของแต่ละสาขาอาชีพ และหากคอมเมนต์ของเรามีความน่าสนใจ มันก็อาจจะทำให้เราได้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่กลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจของเราในภายหลังก็เป็นได้

ประเภทของ linkedin ads

4 ประเภทของ LinkedIn Ads เลือกให้เหมาะกับกลยุทธ์เพื่อผลลัพธ์ที่ดี

หลังจากที่เราตัดสินใจทำการโฆษณาผ่าน LinkedIn แล้ว เราจำเป็นที่จะต้องรู้ด้วยว่า LinkedIn Ads ที่เราทำการยิงออกไปนั้นจะถูกส่งไปที่ไหน ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ประเภทหลักคือ:

1. Sponsored Content

ประเภทแรกคือการโฆษณาบนฟีดของกลุ่มเป้าหมาย (คล้ายกับการโฆษณาบนฟีดของเฟสบุ๊ค) โดยโพสที่ยิงออกไปนั้นจะมีคำว่า “promoted” ระบุอยู่ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ได้ว่ามันคือโฆษณา โดยเราสามารถเลือกรูปแบบของโฆษณาได้ 3 รูปแบบคือ ภาพนิ่ง วีดีโอ และ ภาพสไลด์ (Carousel)

2. Sponsored Messaging

ประเภทถัดมาคือโฆษณาที่จะถูกส่งไปยังข้อความของผู้ใช้งาน ข้อควรระวังก็คือ LinkedIn นั้นมีการจำกัดจำนวนครั้งที่โฆษณาจะไปโผล่ในอินบอกซ์ของลูกค้า ลูกค้าจึงอาจไม่เห็นโฆษณาของเราถี่เท่าการโฆษณาแบบอื่น แต่สถิติที่น่าสนใจจาก Hootsuite ระบุว่า ลูกค้ากว่า 89% ชอบการพูดคุยกับร้านค้าผ่านอินบอกซ์ แต่มีร้านค้าเพียง 48% เท่านั้นที่ทำการตลาดผ่านช่องทางนี้

3. Text Ads

ประเภทที่สามคือโฆษณาที่อยู่บริเวณขวาบนของฟีด LinkedIn เป็นหนึ่งในที่ๆ มองเห็นได้ง่ายที่สุดรองลงมาจากตำแหน่งฟีด จึงถือเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ

4. Dynamic Ads

ประเภทสุดท้ายคือชิ้นโฆษณาที่จะ pop-up ขึ้นมาที่ช่องด้านขวาของฟีด ซึ่งจะมีรูปโปรไฟล์ ตำแหน่งงาน และชื่อบริษัท ของเจ้าของโปรไฟล์อยู่ในโฆษณาด้วย โดยเป็นตำแหน่งที่เหมาะในการช่วยสร้าง Awareness ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี 

ขั้นตอนในการทำ linkedin ads

LinkedIn Ads ทำไม่ยาก แค่ 6 ขั้นตอน

หากคุณมีความคุ้นเคยกับการตั้งค่าการยิงโฆษณาเฟสบุ๊คแล้วละก็ การทำ LinkedIn Ads นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไปเพราะทั้งสองแพลตฟอร์มมีหน้าตาตัวจัดการโฆษณาที่ใกล้เคียงกันมากๆ แต่ก่อนที่เราจะทำการโฆษณาได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมี Campaign Manager เสียก่อน ซึ่งถ้าหากใครที่ยังไม่มีก็สามารถที่จะไปสร้างอะเคานท์ใหม่เสียก่อนได้ ที่นี่

1. เลือกวัตถุประสงค์การทำโฆษณา

สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือการเลือกวัตถุประสงค์ในการโฆษณา โดยจะมีหัวข้อเคมเปญหลักอยู่ทั้งหมด 3 แบบ คือ Awareness (การรับรู้), Consideration (การตัดสินใจ), และ Conversion (การเข้าร่วม) ซึ่งเคมเปญแต่ละรูปแบบก็จะส่งโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่พฤติกรรมตรงตามวัตุประสงค์ที่เราเลือก ดังนั้นจึงสำคัญมาก ๆ ที่เราต้องเลือกอันที่เหมาะกับเป้าหมายที่เราต้องการมากที่สุด

2. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย

ขั้นตอนที่สองคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยมีตัวคัดกรองมากถึง 20 แบบให้เราเลือกใช้ ตั้งแต่ ความสนใจ บริษัทที่ทำงาน ตำแหน่งงาน ฯลฯ การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับธุรกิจหรือบริการของเรานั้นย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของโฆษณา และทำให้เกิดความคุ้มค่าในการโฆษณามากที่สุด

3. เลือกรูปแบบโฆษณา LinkedIn

เลือกตำแหน่งและรูปแบบของโฆษณาที่เราต้องการ โดยเราสามารถเลือกตำแหน่งต่าง ๆ เช่น Sponsored Content, Message Ads, Dynamic Ads, หรือ Text Ads ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเราอาจจะสามารถทดลองทำการยิงโฆษณาเดียวกันในหลากหลายช่องทาง เพื่อหาช่องทางที่ดีที่สุดในการโปรโมทสินค้าหรือบริการของเรา

4. กำหนดงบประมาณและเวลาการแสงโฆษณา

เป็นการกำหนดงประมาณที่เราต้องการใช้ โดยสามารถเลือกการจ่ายเงินได้เป็น 3 ประเภทหลักขึ้นอยู่กับเคมเปญของ LinkedIn Ads ที่เราเลือก คือ

  • Cost Per Send (CPS) – ใช้สำหรับ Message Ads เป็นการจ่ายตามจำนวนข้อความที่โฆษณาถูกส่งเข้า อินบ๊อกซ์ของลูกค้า
  • Cost Per Click (CPC) – การจ่ายตามจำนวนคลิกที่ได้ มักใช้คู่กับเคมเปญที่เน้นการนับจำนวน Conversion
  • Cost Per Impression (CPS) – การจ่ายตามจำนวนครั้งที่โฆษณาถูกดู มักใช้คู่กับโฆษณาที่เน้นการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness)

นอกจากการกำหนดงบประมาณแล้วเรายังสามารถกำหนดระยะเวลาที่เราต้องการใช้โฆษณาถูกส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย

5. เลือก Ad creative

เป็นขั้นตอนในการเลือกชิ้นโฆษณาที่เราต้องการโปรโมทในเคมเปญ โดยทาง LinkedIn ได้แนะนำให้สร้างประมาณ 4-5 ชิ้นโฆษณา ที่มีลักษณะคละกันไป เช่น มีภาพนิ่ง วีดีโอ และภาพสไลด์ (Carousel) ในหนึ่งเคมเปญ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตัวโฆษณา โดยสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือการหาว่าลูกค้าตอบสนองกับโฆษณาแบบไหนมากที่สุด เพื่อที่จะได้ปรับการโฆษณาของเราให้ดียิ่งขึ้น

6. รอวัดผลและปรับปรุงโฆษณาให้ดียิ่งขึ้น

หลังจากที่เรายิงโฆษณาออกไปแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการคอยวัดผลของเคมเปญโฆษณาผ่าน Campaign Manager โดยระบบหลังบ้านของ LinkedIn Ads จะแสดงค่าต่างๆ ตั้งแต่จำนวนคลิก จำนวนครั้งที่เข้าชม จำนวนงบประมาณที่ถูกใช้ ฯลฯ ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าโฆษณาตัวไหนที่ได้รับการตอบรับดีที่สุด

รูปแบบของโฆษณา LinkedIn

เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ LinkedIn มีโฆษณาหลากหลายรูปแบบให้นักการตลาดได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจและเป้าหมายของตนเอง

Carousel Ads

โฆษณาที่มาในรูปแบบของสไลด์สี่เหลี่ยมที่สามารถถูกเลื่อนไปมาได้ การทำโพสรูปแบบนี้ควรเน้นใช้รูปที่มีความน่าสนใจ สามารถดึงดูดให้คนดูอยากเลื่อนสไลด์ต่อไปเรื่อยๆ เหมาะกับเคมเปญในการทำ Brand Awareness, Website Visit และ Engagement

Conversation Ads

โฆษณาที่เป็นลักษณะของการถามตอบ โดยให้ลูกค้าเป็นคนกดเลือกว่าต้องการทำอะไรกับโฆษณา เช่น กดเพื่อขอข้อมูลเพิ่ม หรือ กดลงทะเบียน (ลักษณะคล้าย ๆ การโทรเข้า Call Center แล้วต้องเลือกหมายเลขให้ตรงกับธุรกรรมที่เราต้องการ) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการทำโฆษณาแบบ Website visit, Web conversion, และ Engagement

Follower Ads

รูปแบบของโฆษณาที่อยู่บน Dynamic Ads เป็นการสร้างโฆษณาที่ต้องการให้ผู้พบเห็นกดไลก์เพจของเรา เหมาะกับการทำ Brand Awareness, Website Visits และ Engagement

Spotlight Ads

อีกหนึ่งในรูปแบบของโฆษณาบน Dynamic Ads แต่จะเป็นรูปแบบที่พาลูกค้าไปยังหน้า Website หรือ Landing page ที่เราตั้งไว้ เหมาะกับการทำ Brand Awareness, Website Visits, และ Lead Generation

Job Ads

หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “Work with Us Ads” เป็นโฆษณาในการประกาศจ้างงาน โดยอ้างว่าสามารถเพิ่มอัตราการคลิกดูโฆษณามากกว่าการโฆษณารับสมัครงานทั่วไปมากถึง 50 เท่า เหมาะสำหรับ Job Applicants และ Website Visits

Lead Gen Forms

ชื่อย่อมาจาก Lead Generation Forms เป็นรูปแบบของโฆษณาที่สามารถใช้ได้จากตำแหน่ง Sponsored Content หรือ Message Ads เป็นตัวเลือกที่ดีในการหากลุ่มคนใหม่ๆ ที่อาจจะสนใจในสินค้าหรือบริการของเรา เช่น หากเรามีการจัด Webinar เราสามารถสร้างปุ่ม Lead Gen Form เพื่อให้ผู้ที่สนใจกดปุ่มและข้อมูลโปรไฟล์ของเขาก็จะเข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลของเรา เหมาะสำหรับการทำ Lead Generation

Message Ads

การส่งโฆษณาเข้าไปในอินบอกซ์โดยตรง พร้อมปุ่ม CTA (Call-To-Action) ที่เราเลือก โดยตามสถิติแล้วลูกค้า 1 ใน 2 คนที่เราส่งข้อความไปหานั้นจะอ่านข้อความที่เราส่งไป เหมาะกับการทำ Website Visit, Website Conversions, และ Lead Generation

Single image Ads

เป็นรูปแบบของ LinkedIn Ads ที่เราคุ้นเคยที่สุด โดยหน้าตาของโฆษณาจะเหมือนกับโพสทั่วไป แต่จะมีคำว่า “promoted” เขียนอยู่เพื่อให้รู้ว่าเป็นโฆษณา เหมาะกับการทำ Campaign หลายรูปแบบ เช่น Brand Awareness, Website visits, Engagement, Website Conversion, Lead Generation และ Job Applicants

Single job Ads

รูปแบบของโพสหางานที่จะขึ้นมาบนฟีดของกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้ โดยสถิติจาก LinkedIn ระบุว่าโพสรูปแบบดังกล่าวนั้น มี CTR (Click Through Rate) ที่มากกว่าโพสปกติมากกว่า 25% เลยทีเดียว จึงเหมาะมากๆ สำหรับผู้ที่ต้องการโพสจ้างงาน

Text Ads

เป็นการโฆษณาในรูปแบบข้อความที่ขึ้นบนมุมขวาบนของฟีด เหมาะสำหรับ Brand Awareness, Website Visits, และ Website Conversions

Video Ads

โฆษณารูปแบบวีดีโอที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี วีดีโอเป็นคอนเทนต์ประเภทที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนดูได้ดี และสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที จึงเป็นหนึ่งในรูปแบบคอนเทนต์ที่ไม่ควรมองข้าม เหมาะสำหรับการทำ Video Views

วัตถุประสงค์โฆษณา linkedin

3 วัตถุประสงค์โฆษณา LinkedIn

หลังจากที่เราทำการสมัคร Campaign Manager บน LinkedIn สิ่งแรกที่เราต้องทำเมื่อทำการตั้งเคมเปญโฆษณาก็คือ การเลือกวัตถุประสงค์ของเคมเปญ โดย LinkedIn Ads มีวัตถุประสงค์หลักทั้งหมด 3 ข้อให้เราได้เลือกใช้งาน คือ

Awareness

เหมาะที่จะใช้สำหรับการเพิ่มการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ โดยการเลือกเคมเปญแบบนี้เหมาะกับการหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าแบรนด์หรือธุรกิจของเรามีตัวตนอยู่ เป้าหมายของเคมเปญจะเน้นไปที่ Impression และ ยอดวิว เป็นทางเลือกที่ดีหากเราเพิ่งเริ่มต้นในการสร้างกลุ่มเป้าหมาย

Consideration

รูปแบบเคมเปญที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่อาจคุ้นเคยกับโฆษณาของเราในระดับหนึ่ง เป็นขึ้นตอนที่เราอยากให้กลุ่มเป้าหมายมีปฎิสัมพันธ์กับแบรนด์หรือสินค้าของเรามากขึ้น ซึ่งจะมีตัวเลือกย่อยให้เราเลือกอีก 3 แบบ คือ

  • Website Visits – ส่งคนไปยังเว็บไซต์หรือ Landing Page ที่เรากำหนดไว้
  • Engagement – เน้นหากลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมของการ กดไลก์ แชร์ หรือ คอมเมนต์บนโพส
  • Video Views – เน้นหากลุ่มเป้าหมายที่ชอบกดดูคอนเทนต์แบบวีดีโอ

Conversion

เคมเปญแบบสุดท้ายของ LinkedIn Ads ที่เป็นการเปลี่ยนคนสนใจมาเป็นลูกค้าของเรา ซึ่งมีตัวเลือกย่อยให้เราเลือกอีก 3 แบบอีกเช่นกัน คือ

  • Lead Generation – รูปแบบที่เหมาะสำหรับการหาผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมหรือดาวน์โหลดไฟล์
  • Website Conversions – รูปแบบที่เน้นให้คนกดดาวน์โหลด e-book สมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสาร หรือกดซื้อสินค้าจากหน้าเว็บไซต์ของเรา
  • Job Applicants – เคมเปญโฆษณาที่เหมาะกับการยิงโฆษณาประกาศรับสมัครงาน

สรุป

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า LinkedIn คือเครื่องมือที่จะช่วยให้การทำการตลาด B2B เป็นไปได้ง่ายขึ้น จากการเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหนึ่งเดียวที่ทำให้มืออาชีพสามารถติดต่อและสร้างเครือข่ายออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพ  และยังมีเครื่องมือตัดกรองที่ช่วยในการเจาะกลุ่มเป้าหมายในระดับผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ ทำให้เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามหากเราอยากที่จะทำการตลาดแบบ B2B

FAQ – คำถามที่พบบ่อย

LinkedIn Ads คืออะไร?

LinkedIn Ads คือการทำการตลาดออนไลน์ผ่าน LinkedIn ที่ช่วยให้เราสามารถเจอคนหรือกลุ่มบริษัทที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน เพื่อหาเครือข่ายหรือพาร์ทเนอร์ที่ช่วยยกระดับธุรกิจของเราให้เติบโตยิ่งขึ้น

ทำไมธุรกิจ B2B ต้องใช้ LinkedIn Ads?

ด้วยจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 750 ล้านคน และรวบรวมลิสบริษัทที่เป็นสุดยอดด้านการทำธุรกิจกว่า 5,000 แห่ง รวมถึงความละเอียดในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่สามารถระบุได้ถึง บริษัท ตำแหน่งงาน ความสนใจ และประสบการณ์ในสายงายนั้น ๆ

ประเภทของวัตถุประสงค์โฆษณาบน LinkedIn Ads

  1. Awareness
    เหมาะที่จะใช้สำหรับการเพิ่มการรับรู้ตัวตนของแบรนด์ โดยการเลือกเคมเปญแบบนี้เหมาะกับการหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าแบรนด์หรือธุรกิจของเรามีตัวตนอยู่
  2. Consideration
    รูปแบบเคมเปญที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่อาจคุ้นเคยกับโฆษณาของเราในระดับหนึ่ง เป็นขึ้นตอนที่เราอยากให้กลุ่มเป้าหมายมีปฎิสัมพันธ์กับแบรนด์หรือสินค้าของเรามากขึ้น ซึ่งจะมีตัวเลือกย่อยให้เลือก 3 แบบ
    • Website Visits
    • Engagement
    • Video Views
  3. Conversion
    เป็นการเปลี่ยนคนสนใจมาเป็นลูกค้าของเรา ซึ่งมี 3 แบบ คือ
    • Lead Generation
    • Website Conversions
    • Job Applicants

Related Articles

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง