Key Takeaway
- กลยุทธ์ทางการตลาด 8P เป็นกลยุทธ์เพื่อการวางแผน และการดำเนินการทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารกับผู้บริโภคสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มกำไร และความพึงพอใจ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
- โดยมีพื้นฐานมาจาก STP Marketing ที่มีส่วนประกอบ คือ การแบ่งส่วนตลาด เลือกกลุ่มเป้าหมาย และการกำหนดตำแหน่งของสินค้าบริการ
- 8Ps Marketing Mix ได้แก่
- Product Strategy
- Price Strategy
- Place Strategy
- Promotion Strategy
- Personal Strategy
- Public Relations Strategy
- Packaging Strategy
- Power Strategy
- ประโยชน์ของการตลาด 8P คือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้านของการตลาด ช่วยจัดสรรงบประมาณในด้านการตลาด และการขายได้ดี เป็นต้น
“กลยุทธ์ทางการตลาด” เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นเช่นกัน ธุรกิจที่ปรับตัว และใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม จะมีโอกาสสร้างความได้เปรียบในตลาดมากขึ้น
ดังนั้น การมีกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความสนใจ และพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความได้เปรียบในตลาด
โดยกลยุทธ์ทางการตลาด 8P (8Ps Marketing Mix) เป็นกลยุทธ์ที่พัฒนาต่อยอดจากกลยุทธ์การตลาด 4P (Marketing Mix 4P) ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ที่หลากหลายมากขึ้น บทความนี้จะพาไปรู้จักกับส่วนประสมทางการตลาด 8P และประโยชน์จากกลยุทธ์นี้ในเชิงลึกกัน!
ทำความรู้จัก กลยุทธ์ทางการตลาด คืออะไร
ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับกลยุทธ์การตลาด 8P ต้องเข้าใจก่อนว่า กลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing Strategy) คือแบบแผน หรือวิธีการ ที่ธุรกิจใช้ในการวางแผนการตลาดอย่างมีชั้นเชิงเพื่อเลือกช่องทางการสื่อสาร การวางแคมเปญ และการโฆษณาที่เหมาะสมโดยเริ่มต้นที่กลยุทธ์การตลาด 4P ซึ่งเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ปี 1960 และได้พัฒนาเป็นกลยุทธ์การตลาด 7P และ 8P ในภายหลัง
แต่ไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบไหน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ STP Marketing ซึ่งเป็นกรอบการคิดขั้นพื้นฐาน ประกอบไปด้วยการแบ่งส่วนตลาด การเลือกกลุ่มเป้าหมาย และการกำหนดตำแหน่งของสินค้า แต่ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกเรื่อง กลยุทธ์การตลาด 8P เรามาทำความรู้จักกับ STP Marketing กันก่อนว่าคืออะไร
STP Marketing ทำงานอย่างไร และมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
กลยุทธ์ขั้นพื้นฐานของการตลาดทุกรูปแบบอย่าง STP Marketing ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้
การแบ่งส่วนตลาด (Segmentation)
การแบ่งส่วนตลาด คือการแยกกลุ่มลูกค้า หรือผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มย่อย ตามลักษณะ หรือความต้องการที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำการตลาดที่ตรงเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลต่างๆ
เช่น พฤติกรรมในการเลือกซื้อ ข้อมูลพื้นที่อาศัย ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความสนใจ ข้อมูลลักษณะนิสัย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้วางกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ได้อย่างแม่นยำ และช่วยลดเวลาในการวางแผนการตลาด
การเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Targeting)
การเลือกกลุ่มเป้าหมาย เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างกลยุทธ์การตลาด 8P ที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการกำหนดจำนวนของกลุ่มเป้าหมาย (Size) วิเคราะห์มูลค่าทางการตลาดของกลุ่มเป้าหมาย(Profitability) และความยากง่ายในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Reachability)
ซึ่งจะสามารถช่วยประเมินความคุ้มค่าในการทำการตลาด จัดอันดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย และประหยัดงบประมาณในการทำการตลาด
การกำหนดตำแหน่งของสินค้า หรือบริการ (Positioning)
การกำหนดตำแหน่งของสินค้า หรือบริการ คือการทำให้สินค้า หรือบริการ มีตำแหน่งที่ชัดเจนในตลาด และในใจลูกค้า ซึ่งในส่วนประสมทางการตลาด 8P นอกจากต้องเลือกตลาดให้เหมาะสมกับแบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังต้องวางตำแหน่งให้แตกต่างจากสินค้า หรือบริการของแบรนด์อื่นๆ ด้วย โดยสามารถกำหนดตำแหน่งจากการออกแบบ วิธีการทำการตลาด และทำการสื่อสารที่เหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมาย
อ่าน STP แบบเจาะลึกได้ที่ : STP Marketing คืออะไร พร้อมตัวอย่างการตลาดของแบรนด์ที่น่าสนใจ
กลยุทธ์ทางการตลาด 8P คืออะไร
กลยุทธ์ทางการตลาด 8P เป็นกลยุทธ์เพื่อการวางแผน และการดำเนินการทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารกับผู้บริโภคสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มกำไร และความพึงพอใจ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถวิเคราะห์กลยุทธ์ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรม และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
ส่วนประสมทางการตลาด 8P มีอะไรบ้าง
ส่วนประสมทางการตลาด 8P หรือ 8Ps Marketing Mix คือแนวทางการวางแผนการตลาดที่ครอบคลุมทุกด้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของลูกค้า สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. Product Strategy (กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์)
Product Strategy คือ การวางแผน และกำหนดทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องสินค้า
โดยมีการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของลูกค้า การอัปเดต และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความทันสมัย มีคุณค่า การเลือกคุณสมบัติ และลักษณะที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่น และการตั้งราคา ที่สอดคล้องกับคุณค่า และกลุ่มเป้าหมาย
2. Price Strategy (กลยุทธ์ราคา)
Price Strategy คือ การวางแผน และกำหนดวิธีการตั้งราคา เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ มีความน่าสนใจ และคุ้มค่าในตลาด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มยอดขาย และกำไร รวมถึงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นส่วนประสมทางการตลาด 8P ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า และบริการ
ทำได้โดยการตั้งราคาให้ต่ำ เพื่อล่อใจลูกค้า และเพิ่มการรับรู้ของตลาด หรือการตั้งราคาให้สูง เพื่อสร้างกำไรสูงสุด โดยอิงตามต้นทุน และมูลค่า ที่ลูกค้ายินดีจ่าย นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งราคาให้สอดคล้อง หรือต่ำกว่าคู่แข่ง เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือจะตั้งราคาพิเศษ หรือมีส่วนลด ในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อกระตุ้นยอดขายได้ด้วยเช่นกัน
3. Place Strategy (กลยุทธ์ช่องทางการจำหน่าย)
Place Strategy คือ กลยุทธ์ช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับการวางแผน และกำหนด วิธีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าที่สุด โดยมุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และสะดวกขึ้น
ควรเริ่มจากการเลือกช่องทางการจำหน่ายว่าจะจัดจำหน่ายผ่านช่องทางไหน เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าออนไลน์ หรือช่องทางการจัดส่งโดยตรง ต่อมาคือการจัดการการขนส่ง และการจัดเก็บสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าถึงลูกค้าในสภาพดี และตรงเวลา
แต่ผู้ประกอบการก็ยังสามารถเลือกพันธมิตรทางธุรกิจ หรือผู้จัดจำหน่าย ที่ช่วยขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าเพิ่มได้ นอกจากนี้ ก็ควรมีการควบคุม และตรวจสอบประสิทธิภาพของช่องทางการจำหน่าย เพื่อปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
4. Promotion Strategy (กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด)
Promotion Strategy เป็น กลยุทธ์การตลาด 8P ที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้ของตลาด และสร้างความสนใจ คือ กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีการวางแผน และกำหนด วิธีการโปรโมตผลิตภัณฑ์ หรือบริการ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า และกระตุ้นการซื้อ ทำได้โดยเริ่มต้นจากการเสนอโปรโมชัน หรือส่วนลดพิเศษ เพื่อกระตุ้นยอดขาย การใช้การตลาดแบบตรง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
เช่น การส่งอีเมล หรือสื่อสารทางโทรศัพท์ ไปจนถึงการใช้สื่อโฆษณาต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของลูกค้า หรือถ้าอยากสร้างภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ ก็สามารถประชาสัมพันธ์โดยการสร้างข่าวสาร หรือกิจกรรมก็ได้
5. Personal Strategy (กลยุทธ์บุคลากร)
Personal Strategy เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับการวางแผน และจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เพื่อให้สามารถสนับสนุนกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการเพิ่มคุณภาพในการบริการลูกค้า และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมถึงเสริมสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจ
เช่น ฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะ และความรู้ของพนักงานในการให้บริการลูกค้า การวางแผน และจัดสรรบุคลากรในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจ และรักษาความพึงพอใจของพนักงาน ก็ช่วยกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้เต็มที่เช่นกัน นอกจากนี้ ก็ควรติดตาม และประเมินผลการทำงานของพนักงาน เพื่อปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพอยู่เสมอด้วย
6. Public Relations Strategy (กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์)
Public Relations Strategy คือ กลยุทธ์การวางแผนและดำเนินการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในสายตาของสาธารณะ และผู้มีส่วนได้เสีย โดยเป็นกลยุทธ์ 8Ps Marketing Mix ที่มีเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความน่าเชื่อถือกับกลุ่มเป้าหมาย
เช่น ผลิต และเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นบวกเกี่ยวกับองค์กร เช่น ข่าวประชาสัมพันธ์ บทความ PR เป็นต้น การสร้าง และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักข่าว และสื่อมวลชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเผยแพร่ข้อมูล การจัดกิจกรรม หรือแคมเปญ ที่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างการรับรู้ และสนับสนุนภาพลักษณ์ขององค์กร
อ่านเพิ่มเติม : Digital PR คืออะไร? ทำอย่างไรให้ปังในยุคนี้
7. Packaging Strategy (กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์)
Packaging Strategy คือ กลยุทธ์ทางการตลาด 8P ที่เกี่ยวกับการวางแผน และออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น และดึงดูดลูกค้า รวมถึงการทำให้บรรจุภัณฑ์มีความสะดวก และเหมาะสมกับการใช้งาน และการจัดเก็บ
เริ่มต้นจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น และสะดุดตา ซึ่งช่วยเพิ่มความสนใจ และการรับรู้ของลูกค้า การใช้วัสดุที่มีคุณภาพ และเหมาะสม เพื่อปกป้องผลิตภัณฑ์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวกต่อการเปิดใช้งาน และการจัดเก็บ ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสื่อสาร และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์
8. Power Strategy (กลยุทธ์การต่อรอง)
Power Strategy คือ การวางแผนและดำเนินการเพื่อสร้างและใช้แรงกดดันหรืออำนาจในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการในธุรกิจ เป็นส่วนประสมทางการตลาด 8P ที่มุ่งเน้นการเพิ่มอิทธิพล และการควบคุมในการเจรจา
สามารถทำได้โดยการสร้างข้อได้เปรียบ หรือแรงกดดัน เพื่อเพิ่มอิทธิพลในการเจรจา การรวบรวม และเตรียมข้อมูลที่สำคัญ เพื่อใช้ในการสนับสนุนข้อเสนอ และตำแหน่งของธุรกิจ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และการวางแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นในการเจรจา นอกจากนี้ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างความเชื่อมั่นกับคู่เจรจา ก็ช่วยให้การต่อรองเป็นไปอย่างราบรื่น
ทำไมแบรนด์เริ่มใหม่ ต้องนึกถึงกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ก่อน
ทำไมแบรนด์ธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องการแผนการตลาดที่ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อสร้างความแตกต่าง และตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรนึกถึงกลยุทธ์ทางการตลาด 8P?
- ช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยจะเน้นที่ลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ และการจัดจำหน่าย
- ช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการพิจารณาทุกด้านของกลยุทธ์การตลาด
- ทำให้แบรนด์สามารถปรับกลยุทธ์ตามความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้า ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
- ช่วยให้การจัดการ และการประสานงาน ในด้านต่างๆ ของการตลาด มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และบริการ โดยการพิจารณา และปรับแต่งทุกด้านของการตลาด
- ช่วยให้แบรนด์สามารถคาดการณ์ยอดขายได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
- ช่วยให้จัดสรรงบประมาณในด้านการตลาด และการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีกลยุทธ์การตลาด 8P แล้ว แบรนด์ควรมีโมเดลเหล่านี้ด้วย
เมื่อแบรนด์มีกลยุทธ์การตลาด 8P แล้ว ก็ควรเสริมด้วยการใช้โมเดลการสร้างแบบจำลองส่วนประสมการตลาด เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ โดยโมเดลที่แนะนำ มีดังนี้
- Interactive Marketing: การใช้กลยุทธ์การตลาด ที่เน้นการมีส่วนร่วม และการตอบสนองของลูกค้าในเวลาจริง โดยให้ลูกค้ามีบทบาทในการสร้างเนื้อหา และมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มากขึ้น เช่น การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย การสร้างเนื้อหาที่สามารถตอบโต้ได้ และการตอบสนองลูกค้าแบบเรียลไทม์ เป็นต้น
- Inbound Marketing: กลยุทธ์การตลาด ที่เน้นการดึงดูดลูกค้า ให้มาหาแบรนด์ด้วยการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า โดยไม่ใช้วิธีการตลาดที่ก่อกวน หรือรบกวน ทำผ่านการใช้ SEO การใช้โซเชียลมีเดีย และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เน้นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และตอบสนองความสนใจของลูกค้า
- Niche Market: กลุ่มตลาดเฉพาะ ที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจง และแตกต่างจากกลุ่มตลาดทั่วไป มักจะมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มตลาดหลัก แต่มีความต้องการที่ชัดเจน และมีโอกาสในการทำกำไรสูง มักเป็นลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ การทำการตลาดเฉพาะกลุ่มจะทำให้มีการแข่งขันที่น้อยกว่า
- Customer Centric: แนวทางการทำธุรกิจ ที่เน้นการวางลูกค้าเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจทุกด้าน โดยหวังให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ตรงตามความต้องการ แต่ควรเข้าใจความต้องการของลูกค้า และตอบสนองด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการบริการให้ดี รวมถึงรับฟังความเห็นลูกค้าอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับปรุง
- Customer Insight: ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า ทำได้โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เข้าใจความต้องการ ความคาดหวัง และนำข้อมูลเชิงลึกไปใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดต่อไป
นำกลยุทธ์ทางการตลาด 8P มาใช้กับธุรกิจได้อย่างไร
การนำกลยุทธ์การตลาด 8P มาปรับใช้กับธุรกิจให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ ดังนี้
- รู้จักเป้าหมายและวัตถุประสงค์ เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มยอดขาย หรือการขยายตลาด และการตั้งวัตถุประสงค์ ที่สามารถวัดผลได้ด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจน
- กำหนดงบประมาณ โดยการวิเคราะห์ต้นทุน และรายได้ ตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับเป้าหมายการตลาด และติดตามผลลัพธ์ เพื่อปรับงบประมาณตามความจำเป็น
- คิดข้อเสนอการขายที่ไม่ซ้ำใคร โดยการศึกษาความต้องการของลูกค้า วิเคราะห์ข้อเสนอของคู่แข่ง และใช้จุดแข็งของธุรกิจ ในการสร้างข้อเสนอที่โดดเด่น และแตกต่าง
- กำหนดเป้าหมาย โดยการศึกษาตลาด และลูกค้า เพื่อให้การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายมีประสิทธิภาพ และรวบรวมข้อมูลลูกค้าที่สำคัญทั้งหมด เพื่อสร้างภาพรวมที่ครบถ้วน เกี่ยวกับลูกค้าในอุดมคติ
- รับฟังคำแนะนำจากลูกค้า โดยการใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ติดตามความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ ตอบสนอง และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ตามข้อเสนอแนะแต่ละข้อ
- กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของสินค้า เริ่มด้วยการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด เปรียบเทียบกับคู่แข่ง พัฒนา และทดสอบคุณสมบัติที่เฉพาะ เพื่อให้สินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี
- เลือกช่องทางจัดจำหน่าย โดยการศึกษาพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ประเมินช่องทางที่มีอยู่ และเลือกช่องทางที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ และเป้าหมายธุรกิจ
- สร้างกลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้า โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ต้นทุน และผลกำไร ศึกษาตลาด และคู่แข่ง กำหนดกลยุทธ์การตั้งราคา เพื่อดึงดูดลูกค้า และเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ
- เลือกกลยุทธ์การส่งเสริมการขาย ควรวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์การส่งเสริม และเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- ใช้การตลาดแบบแรงดึงดูด โดยการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า ใช้กลยุทธ์ SEO เพื่อทำให้ติดอันดับสูงๆ ในเครื่องมือการค้นหา และโปรโมตเนื้อหา ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า
ทำไมแบรนด์ต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาด
แม้ว่ากลยุทธ์ทางการตลาด 8P จะมีแนวทางการวางแผน 8 อย่าง และยังต้องคำนึงถึง STP Marketing แต่ 8Ps Marketing Mix ก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับโลกดิจิทัล และธุรกิจอีกหลายประเภท โดยมีประโยชน์ ดังนี้
- ช่วยให้การวางแผนการตลาดมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยกลยุทธ์การตลาด 8P ครอบคลุมทุกด้าน อาศัยข้อมูลจาก STP Marketing เป็นพื้นฐาน
- ช่วยจัดสรรงบประมาณ ประหยัดงบประมาณ และทรัพยากรบุคคล ในการทำการตลาดมากขึ้น เพราะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวางแบบแผนการตลาดชัดเจนในทุกด้าน
- ช่วยเลือกช่องทางการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ ที่เหมาะสมกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ประหยัดงบประมาณ และเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์
- ช่วยให้สามารถเดินตามแผน หรือเป้าหมายทางธุรกิจได้ ในขณะที่ยังคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่ตลอด
- ช่วยให้มั่นใจว่าแบรนด์กำลังทำการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ให้กับผู้คนที่เหมาะสม ในราคาที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม
- ทำให้เกิดความชัดเจนในการวัดผล จึงสามารถปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด 8P
ตัวอย่างของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ที่นำกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ดังนี้
- Apple Inc. ใช้กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีฟังก์ชันล้ำสมัย และดีไซน์ที่โดดเด่น เช่น iPhone ที่มีการอัปเกรดฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น กล้องที่มีความละเอียดสูง และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เป็นต้น
- Nike ใช้กลยุทธ์ในการตั้งราคาที่หลากหลาย เช่น การตั้งราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับพรีเมียม และการจัดโปรโมชันลดราคาในช่วงเทศกาล เป็นต้น
- Amazon ใช้กลยุทธ์ช่องทางการจำหน่าย ด้วยการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีการจัดส่งทั่วโลก พร้อมบริการลูกค้าที่หลากหลาย และสะดวกสบาย
- Coca-Cola ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด ด้วยแคมเปญการตลาดที่สร้างสรรค์ เช่น แคมเปญ “Share a Coke” ที่ส่งเสริมให้ลูกค้าแบ่งปันประสบการณ์กับแบรนด์
- Ritz-Carlton ใช้กลยุทธ์บุคคลในการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างมีมาตรฐานสูง โดยให้ความสำคัญกับการบริการที่อบอุ่น และเป็นกันเอง
- Red Bull ใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ โดยการสนับสนุนกิจกรรมกีฬาเอ็กซ์ตรีม และการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ เพื่อสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นในแบรนด์
- Pringles ใช้กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ ออกแบบกระป๋องทรงสูง ที่ช่วยป้องกันการแตกหักของแผ่นมันฝรั่ง และทำให้สินค้าสะดวกในการจัดเก็บ
- Walmart ใช้กลยุทธ์การต่อรอง ในการเจรจากับซัพพลายเออร์ เพื่อได้ราคาที่ต่ำ และข้อกำหนดพิเศษในการจัดหาสินค้า
สรุป
กลยุทธ์ทางการตลาด 8P เป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับทำการตลาดในยุคดิจิทัล เพราะครอบคลุมทุกด้านที่สำคัญ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ ราคา ภาพลักษณ์ การสื่อสาร ช่องทางการขาย ระบบบริหารภายใน และบรรจุภัณฑ์ การนำ 8P มาใช้ จะช่วยให้การวางแผนการตลาดมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนนั่นเอง
FAQ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 8P
เมื่อเข้าใจกลยุทธ์ทางการตลาด 8P แล้ว มาดูคำถามที่พบบ่อย และคำตอบ เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม และไขข้อสงสัยกันดีกว่า
ส่วนประสมทางการตลาด 8P คืออะไร สำคัญอย่างไร?
ส่วนประสมทางการตลาด 8P คือ กลยุทธ์ทางการตลาด 8 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด บุคลากร การประชาสัมพันธ์ บรรจุภัณฑ์ และการต่อรองสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับการทำการตลาดในยุคดิจิทัล
P ตัวไหน สำคัญที่สุดในกลยุทธ์ทางการตลาด 8P?
ในกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ไม่มี P ตัวไหนที่สำคัญที่สุด เพราะแต่ละ P มีบทบาทสำคัญ ที่แตกต่างกันในการสร้างแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
Marketing Strategy กับ Marketing Plans ต่างกันอย่างไร?
กลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing Strategy) คือ แนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์การตลาด ขณะที่แผนการตลาด (Marketing Plans) คือ ขั้นตอนการดำเนินงานตามแนวทางที่วางไว้ โดยกลยุทธ์ทางการตลาดเองก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาด ที่กำหนดรายละเอียดการดำเนินงานด้วยเช่นกัน
ธุรกิจแบบไหนที่ควรใช้กลยุทธ์ทางการตลาด 8P?
กลยุทธ์ทางการตลาด 8P เหมาะกับธุรกิจทุกประเภทในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจ่ายรายเดือน รายปี หรือธุรกิจที่มีบริการหลังการขาย เป็นต้น