Table of Contents

Categories

Recent Posts

กลยุทธ์ทางการตลาด 8p

กลยุทธ์ทางการตลาด 8P เคล็ดลับความสำเร็จสำหรับธุรกิจยุคดิจิทัล

Table of Contents

เจ้าของธุรกิจย่อมรู้กันดีอยู่แล้วว่า “กลยุทธ์ทางการตลาด” นั้นเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ธุรกิจทุกประเภทสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านโลกโซเชียลได้ง่ายยิ่งขึ้น สิ่งนี้เองก็ทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้นเช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจและพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ กลยุทธ์ทางการตลาด 8P (8Ps Marketing Mix) กลยุทธ์ทางการตลาดที่ต่อยอดมาจากกลยุทธ์การตลาด 4P (Marketing Mix 4P) โดยมีการเพิ่มกลยุทธ์ใหม่ทั้งสิ้น 4 กลยุทธ์ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ดีๆ ให้กับแบรนด์มากขึ้น แต่กลยุทธ์ การตลาด 8P คืออะไร บทความจะพาไปทำความรู้จักกับกลยุทธ์ทางการตลาด 8P รายละเอียด ส่วนประสมทางการตลาด 8P  และประโยชน์จากของกลยุทธ์ 8P มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

ทำความรู้จัก กลยุทธ์ทางการตลาด คืออะไร

ก่อนไปทำความรู้จักกับกลยุทธ์การตลาด 8P ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากลยุทธ์ทางการตลาดหรือ Marketing Strategy คือ แบบแผน วิธีการ หรือกรอบการดำเนินธุรกิจถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในวางแผนการตลาดให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับความนิยมและใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงปี 1960 ได้แก่ กลยุทธ์ทางการตลาด 4p Marketing Mix ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาต่อยอดเป็นกลยุทธ์การตลาด 7p และกลยุทธ์การตลาด 8P แต่โดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบใดสิ่งที่เป็นอย่างแรกคือ STP Marketing แม่บทหรือกรอบการคิดวางกรอบกลยุทธ์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย การแบ่งส่วนตลาด (Segmentation) การเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) และการกำหนดตำแหน่งของสินค้า (Positioning)

กลยุทธ์ 8p คืออะไร

STP Marketing กลยุทธ์พื้นฐานการทำการตลาดโดยรวม

กลยุทธ์ STP Marketing เป็นกลยุทธ์ขั้นพื้นฐานของการวางทางการตลาดทุกรูปแบบ รวมถึงส่วนประสมทางการตลาด 8P ด้วยเนื่องจาก STP Marketing เป็นการวางกรอบความคิดขั้นพื้นฐานของการทำการตลาดหรือการวาง Framework ให้เหมาะกับธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดย STP Marketing ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

การแบ่งส่วนตลาด (Segmentation)

การแบ่งส่วนตลาดคือ การแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มย่อย โดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมในการเลือกซื้อ ข้อมูลพื้นที่อาศัยของกลุ่ม ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความสนใจ ข้อมูลลักษณะนิสัย เพื่อให้ง่ายต่อคัดเลือกหรือวิเคราะห์ความชอบ ความสนใจ และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้วางกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ได้อย่างแม่นยำและช่วยลดเวลาในการวางแผนการตลาดมากยิ่งขึ้น

การเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Targeting)

การเลือกกลุ่มเป้าหมายคือ การประเมินว่าควรนำกลยุทธ์การตลาดต่างๆ ไม่ว่า กลยุทธ์ทางการตลาด 4p 7p หรือ 8P ไปใช้กับเป้าหมายกลุ่มใด โดยการเลือกกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์สำคัญ ได้แก่ ขนาดหรือจำนวนของกลุ่มเป้าหมาย (Size) มูลค่าทางการตลาดของกลุ่มเป้าหมาย (Profitability) และความยากง่ายในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Reachability) ซึ่งการเลือกกลุ่มเป้าหมายช่วยให้ประเมินความคุ้มค่าในการทำการตลาด จัดอันดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย และประหยัดงบประมาณในการทำการตลาด

การกำหนดตำแหน่งของสินค้า หรือบริการ (Positioning)

การกำหนดตำแหน่งของสินค้าคือ การเลือกตลาดให้เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการ โดยการกำหนดตลาดจะพิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ คุณภาพและราคา ซึ่งในกลยุทธ์ 8P ธุรกิจบริการและสินค้านอกจากต้องเลือกตลาดให้เหมาะสมกับแบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังวางตำแหน่งให้เกิดความแตกต่างจากสินค้าหรือบริการจากแบรนด์อื่นๆ ด้วย สำหรับการกำหนดตำแหน่งจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบวิธีการทำการตลาดและสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

กลยุทธ์ทางการตลาด 8P คืออะไร

ความหมายกลยุทธ์ทางการตลาด 8P หรือ 8Ps Marketing Mix เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่พัฒนามาจากกลยุทธ์ทางการตลาด 4p ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน เพื่อให้ตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้จบเพียงแค่สินค้าถึงมือลูกค้าหรือให้บริการลูกค้าจบเรียบร้อย แต่กลยุทธ์การตลาด 8P ยังวางแผนไปถึงหลังการขาย 8P จึงนิยมใช้กับธุรกิจที่ต้องมีการซื้อซ้ำ ธุรกิจที่มีบริการหลังการขาย หรือธุรกิจรูปแบบ Subscription เช่น ธุรกิจฟิตเนส ธุรกิจสตรีมมิ่ง ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์ เป็นต้น

กลยุทธ์ทางการตลาด 8p มีอะไรบ้าง

ส่วนประสมทางการตลาด 8P มีอะไรบ้าง

เนื่องจากกลยุทธ์ทางการตลาด 8P เป็นการพัฒนาต่อยอดจากกลยุทธ์ทางการตลาด 4p ดังนั้น ส่วนประสมทางการตลาด 8P จึงประกอบด้วย 4 กลยุทธ์เดิมและ 4 กลยุทธ์ใหม่ รวมกันเป็น 8P โดยแต่ละ P มีความหมาย ดังต่อไปนี้

1. กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของสินค้าและบริการว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าหรือมีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งในด้านใด ซึ่งในการวางกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ต้องอาศัยข้อมูลการจัดกลุ่มเป้าหมายจากการทำ STP Marketing เพราะตามหลักการตลาด 8P ต้องวิเคราะห์และวางแผนการตลาดครอบคลุมไปถึงความต้องการของลูกค้า ปัญหาของลูกค้า จุดขายสินค้า คุณภาพของสินค้า ภาพลักษณ์ของสินค้า รวมไปถึงบริการหลังการขายและการรับประกันสินค้า และบริการหลังการขาย

2. กลยุทธ์ราคา (Price Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าหรือบริการให้เหมาะสมและตอบโจทย์การจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การตั้งระบบจ่ายแบบ Subscription การตั้งราคาตามคุณค่าของสินค้า การตั้งราคาเป็นเลขกลม หรือการตั้งราคาตามเงื่อนไขการชำระเงิน แต่อย่างไรก็ตามตามหลักการของกลยุทธ์ทางการตลาด 8P การตั้งราคาเป็นเหมือนการกำหนดคุณค่าให้กับแบรนด์ของตัวเอง ดังนั้นการตั้งราคาจึงต้องสอดคล้องกับการกำหนดตำแหน่งของสินค้า (Positioning) อย่างกรณีการตั้งราคาสินค้าประเภทหรูหรา สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าหายากในราคาที่ถูกกว่าเป็นจริง เพื่อหวังให้ถูกกว่าคู่แข่งทางการค้า แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการทำให้สินค้าและแบรนด์ดูมีค่าลดน้อยลง ไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ควรตั้งราคาสูงเกินจริงเช่นกัน เพราะอาจไม่ได้รับความสนใจเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าแบบเดียวกันของคู่แข่ง

3. กลยุทธ์ช่องทางการจำหน่าย (Place Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การเลือกช่องทางการจำหน่ายและโพรโมตสินค้าหรือบริการให้สอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย โดยปัจจุบันมีช่องทางการจำหน่ายและโพรโมตหลากหลายช่องทาง ทั้งทางออฟไลน์ อย่างตลาด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือฝากขายตัวแทนจำหน่าย และทางออนไลน์ เช่น Google, Facebook, Instagram หรือ Line แต่การเลือกว่าจะใช้ช่องทางการจำหน่ายหรือโพรโมตในช่องทางไหนต้องอาศัยข้อมูลจากการวางแผน STP Marketing ในส่วนของศึกษาพฤติกรรมและเลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานเริ่มแรกในการวางกลยุทธ์ทางการตลาด 8P

4. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การนำเสนอสินค้า บริการ และแบรนด์ในช่องทางต่างๆ เพื่อดึงดูดและกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายสนใจหรือตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งการส่งเสริมการตลาดสามารถทำได้ทั้งการโปรโมทผ่านสื่อโซเชียล การตลาดแบบปากต่อปาก การตลาดผ่านผู้มีชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งการลดแลกแจกแถม แต่การวางแผนส่งเสริมการตลาดตามกลยุทธ์ 8P ต้องอาศัยข้อมูลจาก STP Marketing ทั้ง 3 ส่วนมาใช้ในการวิเคราะห์กลยุทธ์เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มคุณค่าของแบรนด์สินค้า บริการ และแบรนด์ได้อย่างตรงจุด

5. กลยุทธ์บุคลากร (Personal Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การจัดการทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ หรือแบรนด์ทั้งหมด เนื่องจากการนำ 8P การตลาดไปใช้ทั้งก่อนการขายและหลังการขาย ทำให้ต้องมีการวางนโยบายครอบคลุมในส่วนพนักงานภายในองค์กร ลูกค้า และพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ โดยต้องวางแผนตั้งแต่คัดเลือกพนักงาน การวางระดับตำแหน่งความรับผิดชอบของพนักงาน การฝึกหัดพนักงานให้สอดคล้องกับแผนการตลาด การออกแบบชุดยูนิฟอร์มอย่างเหมาะสม การวางนโยบายการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า จนไปถึงการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างพาร์ตเนอร์ขององค์กร

6. กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ (Public Relations Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การวางแผนประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับแบรนด์ในทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นสื่อหลักของคนในยุคนี้ กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ไปโดยปริยาย สำหรับการวางกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลการแบ่งส่วนตลาดจากขั้นตอน STP Marketing เพื่อนำไปวิเคราะห์หาความสนใจและพฤติกรรมการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ของกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้องตามหลักกลยุทธ์การตลาด 8P

7. กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์ (Packaging Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามหลักกลยุทธ์ 8P เพื่อให้เหมาะสมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมทั้งเกิดความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และจดจำได้ง่ายกว่าสินค้าของคู่แข่ง โดยในการวางกลยุทธ์ควรศึกษาข้อมูลความชอบและพฤติกรรมการเลือกสินค้าของกลุ่มเป้าหมายก็จะทำให้วางกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

8. กลยุทธ์การต่อรอง (Power Strategy)

หมายถึงกลยุทธ์ในการเลือกสินค้าที่มีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งตามหลักกลยุทธ์ทางการตลาด 8P มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินค้า บริการ หรือแบรนด์ ได้เปรียบกว่าแบรนด์อื่นๆ โดยสินค้าหรือบริการที่ทำให้แบรนด์ได้เปรียบและมีอำนาจต่อรอง ได้แก่ สินค้าหายาก สินค้าที่มีการนำนวัตกรรมมาใช้ หรือบริการที่เปิดให้บริการน้อยกว่าความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

ประโยชน์ของ กลยุทธ์ทางการตลาด 8p

ประโยชน์ของการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด

แม้ว่ากลยุทธ์ทางการตลาด 8P จะมีแนวทางการวางแผนกลยุทธ์ถึง 8P อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับ STP Marketing เนื่องจากมีสัมผัสกันในการวางแผนกลยุทธ์ แต่ถึงอย่างนั้นกลยุทธ์ 8P ถือเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับโลกในยุคดิจิตอล อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้กับธุรกิจหลากหลายประเภท โดยมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้การวางแผนการตลาดเกิดประสิทธิภาพและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะนอกจากกลยุทธ์ 8P จะครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ การบริหารองค์กร การเลือกตลาด การประชาสัมพันธ์ และการสร้างอำนาจต่อรองในตลาด โดยอาศัยข้อมูลจากการทำ STP Marketing เป็นพื้นฐาน
  • ช่วยจัดสรรงบประมาณ ประหยัดงบประมาณ และทรัพยากรบุคคลในการทำการตลาดมากขึ้น เพราะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและวางแบบแผนการตลาดชัดเจนในทุกด้าน
  • ช่วยให้เลือกช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า ซึ่งนอกจากจะประหยัดงบประมาณแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ด้วย

สรุป

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ทางการตลาด 8P เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับการทำการตลาดยุคดิจิทัล เพราะปัจจุบันการให้บริการลูกค้าไม่ได้จบหลังการซื้อสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่หากต้องการให้สินค้า บริการ หรือกระทั่งภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้รับความนิยมจากลูกค้า การนำ 8P การตลาดแบบใหม่จะช่วยให้การวางแผนการตลาดมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น เพราะกลยุทธ์การตลาด 8P ให้ความสำคัญทั้งส่วนของผลิตภัณฑ์ การตั้งราคา ภาพลักษณ์ การสื่อสาร ช่องทางการขาย การวางระบบการบริหารภายใน และบรรจุภัณฑ์ภายใต้ข้อมูลความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์นี้ครอบคลุมพร้อมทั้งพัฒนาได้ทั้งธุรกิจ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าหากนำกลยุทธ์ 8P มาใช้ ธุรกิจจะต้องเป็นไปในทิศทางที่ดีได้แน่นอน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 8p

FAQ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 8P

เมื่อได้ทำความรู้จักกับกลยุทธ์ทางการตลาด 8P ไปแล้ว มาดูคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 8P พร้อมคำตอบ เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม พร้อมทั้งไขข้อข้องใจสำหรับคนที่ยังมีข้อสงสัย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

ส่วนประสมทางการตลาด 8P คืออะไร สำคัญอย่างไร?

ส่วนประสมทางการตลาด 8P คือ กลยุทธ์ทางการตลาด 8 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด บุคลากร การประชาสัมพันธ์ บรรจุภัณฑ์ และการต่อรองสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับการทำการตลาดในยุคดิจิทัล

กลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing Strategy) กับ แผนการตลาด (Marketing Plans) ต่างกันอย่างไร?

กลยุทธ์ทางการตลาดคือ รูปแบบหรือกรรมวิธีในการทำการตลาดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะที่แผนการตลาด เป็นขั้นตอนการทำการตลาดอย่างมีแบบแผน ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ถูกระบุในแผนการตลาด

ธุรกิจแบบไหนบ้างที่ควรใช้กลยุทธ์ทางการตลาด 8P?

กลยุทธ์ทางการตลาด 8P เหมาะกับธุรกิจทุกประเภทในยุคดิจิทัล แต่ที่นิยมนำไปใช้คือ ธุรกิจที่มีการจ่ายรายเดือน รายปี หรือธุรกิจที่มีบริการหลังการขาย

Related Articles

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง