Influencer Marketing คือการตลาดออนไลน์รูปแบบหนึ่งที่ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาช่วยในการโฆษณา สินค้าหรือบริการให้กับแบรนด์ โดยแรกเริ่มนั้นมักใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น ดารา นักแสดง หรือนักร้อง โดยจะเรียกคนเหล่านี้ว่า Influencer แต่ต่อมาเมื่อ Influencer กลุ่มนี้เริ่มรับงานโฆษณาสินค้าหรือรีวิวสินค้ามากขึ้น ส่งผลทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่า Influencer กลุ่มนี้ไม่ได้ใช้สินค้าจริง ๆ ประกอบกับการเติบโตของ Social Media ที่ใคร ๆ ก็สามารถมีชื่อเสียงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เกิด Influencer ในแพลตฟอร์ม Social Media ที่มียอดผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าของแบรนด์เริ่มหันมาใช้ Influencer กลุ่มนี้เพราะเข้าถึงผู้บริโภคและตรงเป้าหมายมากกว่ากลุ่มที่เป็นดารานักแสดง เนื่องจากพูดถึงสินค้าในเชิงผู้บริโภคคนหนึ่ง
โดยปกติแล้วจำนวนผู้ติดตามใน Social Media ของ Influencer จะใช้เป็นเกณฑ์กำหนดว่า Influencer คนนั้นอยู่ในระดับใด โดยคนที่เป็น Influencer ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามอยู่บ้างในโลกออนไลน์ เปรียบเหมือน Key Opinion Leader (KOLs) ที่เป็นผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างอิทธิพลและความน่าเชื่อถือในการชักจูงแก่ผู้ติดตามได้
ทั้งนี้จุดประสงค์หลัก ๆ ในการใช้ Influencer สำหรับแคมเปญการตลาดก็เพื่อโปรโมทสินค้า บริการ หรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ซึ่งการทำการตลาดที่ว่านั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะการสร้างคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook Instagram หรือ YouTube ไปจนถึงการลงรูปหรือวีดีโอ เพื่อโปรโมทหรือรีวิวสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่แบรนด์สามารถใช้พวกเขาเป็นผู้กระจายสินค้าหรือภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ ทำให้ในฝั่งของตัวผู้บริโภคเองก็เกิดความอยากรู้อยากลอง อยากทำตามคนที่พวกเขาชื่นชอบ เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าใช้แล้วมีประโยชน์จริง ก็เกิดเป็นการซื้อสินค้าและสนับสนุนแบรนด์นั้น ๆ ขึ้นในที่สุด
Influencer คืออะไร?
รู้จักกับ Influencer Marketing กันไปแล้ว แล้วคำว่า Influencer นั้นจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่? Influencer เป็นใคร? ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างถึงจะเรียกว่า Influencer? Minimice หาคำตอบมาให้แล้ว
Influencer คือ คนที่มีอิทธิพลหรือมีพลังต่อการตัดสินใจซื้อของคนอื่น ซึ่งอิทธิพลนั้นอาจจะมาจากตำแหน่ง จากความรู้ความสามารถ หรือจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้มีผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม Influencer ไม่จำเป็นต้องเป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร จะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเป็น Influencer ได้ เพียงแค่มีผู้ติดตามใน Social Media จำนวนมากพอ ตัวอย่างเช่น คนที่ชอบแต่งหน้าและลงรูปใน Instagram หรือนักวาดการ์ตูนที่ลงคลิปสอนเทคนิควาดรูปใน YouTube ถ้าหากมีผู้ติดตามจำนวนมากพอแล้วก็ถือว่าเป็น Influencer ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าในทุกๆ วงการจะต้องมี Influencer อย่างแน่นอน
Influencer จะต้องรักษาฐานคนดูและคนติดตามอยู่เสมอ ดังนั้นคนเหล่านี้จะคอยหาคอนเทนต์ใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ใส่ใจในการตอบคำถามหรือคลายข้อสงสัยให้กับคนติดตาม รวมไปถึงคอยอัปเดต Social Media อย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพอีกด้วย
ทำไม Influencer Marketing จึงน่าสนใจ มาดูสถิติกันก่อน
กลยุทธ์ Influencer Marketing เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจมากทีเดียว ทำไมถึงบอกว่าน่าสนใจมาก? งั้นมาดูสถิติเกี่ยวกับ Influencer Marketing ทั้ง 5 สถิตินี้กันดีกว่า
• 61% ของผู้บริโภคมั่นใจในคำแนะนำของ Influencer
กลยุทธ์ Influencer Marketing เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจมากทีเดียว ทำไมถึงบอกว่าน่าสนใจมาก? งั้นมาดูสถิติเกี่ยวกับ Influencer Marketing ทั้ง 5 สถิตินี้กันดีกว่า
• 51% ของนักการตลาดบอกว่าการใช้ Influencer ทำให้ได้ลูกค้าที่ดีขึ้น
เรียกได้ว่าครึ่งหนึ่งของนักการตลาดลงความเห็นว่า Influencer จะทำให้แบรนด์ได้เจอกับลูกค้าที่ดีขึ้น เพราะ Influencer สามารถนำเสนอแบรนด์ไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง ทำให้ได้ลูกค้ามากขึ้นและเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพด้วย
• 60% ของนักการตลาดเชื่อมั่นว่าคอนเทนต์ของ Influencer จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการโพสต์ใน Social Media ของแบรนด์
แน่นอนว่าโพสต์ของแบรนด์ใน Social Media นั้นได้ผลดีอยู่แล้ว แต่ว่านักการตลาดมองว่าคอนเทนต์ที่สร้างโดย Influencer ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะคนเหล่านี้จะรู้ว่าการนำเสนอแบบไหนที่จะกระตุ้นให้เกิดการติดตามและการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคได้
• Influencer Marketing ทำให้ได้ ROI มากกว่าการโฆษณาแบนเนอร์ถึง 11 เท่า
เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก จากการศึกษาของ Convince & Convert ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาด้านการตลาดของสหรัฐอเมริกาบอกว่าการโฆษณาแบบจ่ายเงินบนเว็บไซต์หรือบนแพลตฟอร์ม Social Media เป็นวิธีที่ใช้กันมานานแล้ว ซึ่งสามารถเพิ่ม Brand Awareness เพิ่มยอดขายและอื่น ๆ ได้จริง แต่ Influencer Marketing กลับได้รับ ROI (Return On Invesment) มากกว่าถึง 11 เท่าเลยทีเดียว
• 8 ใน 10 ของผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าบางอย่างเมื่อได้เห็นคำแนะนำของ Influencer
Influencer Marketing เหมาะสำหรับแบรนด์ที่มีเป้าหมายเน้นไปที่ยอดขาย เพราะจากสถิติแล้ว 8 ใน 10 ของผู้บริโภคจะซื้อสินค้าจากคำแนะนำของ Influencer ที่พวกเขาชื่นชอบนั่นเอง ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์บรรลุเป้าหมายยอดขายได้ไวขึ้น
Influencer มีกี่ประเภท?
ประเภทของ Influencer สามารถแบ่งได้ตามจำนวนผู้ติดตาม ซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะแตกต่างกันไป ถ้าเรารู้ว่าแต่ละประเภทมีประโยชน์อย่างไรบ้างก็จะสามารถรู้ได้ว่าควรจะใช้ Influencer ประเภทใดกับแบรนด์ของเรา Influencer แบ่งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. Nano-Influencers
Nano-Influencers จะมีผู้ติดตามประมาณ 1,000 – 10,000 คน ด้วยความที่มีผู้ติดตามน้อย ทำให้การเข้าถึงแบรนด์อยู่ในระดับแคบจนถึงปานกลาง แต่ก็แลกมากับการที่ผู้ติดตามสามารถมีส่วนร่วมกับ Influencer ได้มากที่สุด Nano-Influencer มี Engagement ที่สูงที่สุดใน Influencer ทั้ง 5 ประเภท เพราะว่าคอนเทนต์มีความเรียลมากและเป็นส่วนตัวกับผู้ติดตาม อีกทั้งยังให้ประสบการณ์การนำเสนอรูปแบบใหม่ด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เพราะผู้ติดตามน้อย ทำให้เข้าใจผู้ติดตามได้มากกว่า จึงสามารถทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ง่ายและเจาะจงกลุ่มลูกค้าได้
Nano-Influencer มักจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแบรนด์เพิ่ม เพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างผู้ติดตามและร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ Nano-Influencer จึงเหมาะสำหรับแบรนด์ระดับ Beginner หรือแบรนด์ที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด เรียกได้ว่าจ่ายน้อยแต่ให้ความคุ้มค่าสูง
2. Micro-Influencers
Micro-Influencer จะมีผู้ติดตามประมาณ 10,000 – 50,000 คน จากสถิติบอกว่า 82% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่ Micro-Influencer แนะนำ ด้วยเหตุผลเพราะว่า Influencer ประเภทนี้จะมีความโดดเด่นในเรื่อง Engagement และความเชื่อใจของผู้ติดตาม เนื่องจาก Micro-Influencer มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดตาม และมีความเฉพาะกลุ่มนั่นเอง
Nano และ Micro-Influencer นั้นมีความคล้ายคลึงกัน คือ มีผู้ติดตามที่ไม่มาก ทำให้คอนเทนต์จะมีความเรียลและเจาะจงกลุ่มลูกค้าได้ แต่ Micro จะมีผู้ติดตามมากกว่า Nano ทำให้แบรนด์สามารถนำเสนอให้เป็นที่รู้จักได้กว้างขวางมากกว่า
3. Mid-Tier Influencers
Mid-Tier Influencer จะมีผู้ติดตามประมาณ 50,000 – 500,000 คน อาจจะยังไม่ถึงระดับนักแสดงชื่อดัง แต่คอนเทนต์ของคนเหล่านี้ก็มีพลังพอที่จะทำให้ผู้ติดตามเชื่อมั่นไว้ใจได้ โดยจะสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีการปรุงแต่งอยู่บ้างตามเทรนด์ต่างๆ แต่ยังคงให้ความถูกต้องและไม่แปลกแยกไปจากเดิม ถึงแม้ว่าจะมียอด Engagement น้อยกว่า Nano และ Micro-Influencer อยู่บ้าง แต่จำนวนผู้ติดตามที่มากกว่าก็ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้มากกว่า
Mid-Tier Influencer นั้นใช้เวลาหลายปีในการเพิ่มผู้ติดตาม ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาจาก Nano และ Micro ทำให้ Influencer ประเภทนี้มีประสบการณ์การสร้างสรรค์คอนเทนต์สูง และสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นด้วย
4. Macro-Influencers
Macro-Influencer จะมีผู้ติดตามประมาณ 500,000 – 1,000,000 คน จำนวนผู้ติดตามระดับนี้ แปลว่า Influencer อาจจะเป็นคนดังในวงการต่างๆ เช่น นักกีฬา นักร้อง หรือนักแสดง ด้วยความที่ Influencer ประเภทนี้สามารถใช้ชื่อเสียงตัวเองในการเพิ่มผู้ติดตามบน Social Media ได้ ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ในสเกลที่กว้างมาก แต่ก็แลกมาด้วยยอด Engagement ที่อาจไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้
ในส่วนของคอนเทนต์ของ Macro-Influencer จะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า Nano, Micro และ Mid-Tier Influencer เพราะคอนเทนต์ก็เปรียบเสมือนหน้าตาของ Influencer ด้วยความที่เป็นคนดัง มีผู้ติดตามมาก จึงต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดูเป็นมืออาชีพ ซึ่งบางแบรนด์ที่รู้กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง และมี Goals ที่ชัดเจนก็จะเหมาะสมกับ Influencer ประเภทนี้
5. Mega-Influencers
Mega-Influencer จะมีผู้ติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป ด้วยความที่มีผู้ติดตามมากที่สุดใน Influencer ทั้ง 5 ประเภท ทำให้คนเหล่านี้มีพื้นที่ใน Social Media มากกว่าใคร และ Influencer ประเภทนี้จะรู้ว่าจุดไหน เวลาใดที่มีคนใช้ Social Media มาก พวกเขาก็จะ active อยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ถ้าอยากจะให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางที่สุด Influencer ประเภทนี้คือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด
แม้ว่า Mega-Influencer จะนำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด แต่จากการศึกษาพบว่าอัตรา Engagement นั้นลดลง สวนทางกับจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการทำงานร่วมกับ Mega-Influencer ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากอีกด้วย
แนะนำ 8 ประเภทแคมเปญของ Influencer Marketing
ประเภทแคมเปญของ Influencer Marketing ที่จะช่วยให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น มี 8 แคมเปญที่น่าสนใจ ดังนี้
1. แคมเปญแจกของรางวัล
กลยุทธ์แจกของรางวัลหรือชิงโชค ถือว่าเป็นแคมเปญการตลาดสุดเบสิกที่ใช้แทบจะทุกแบรนด์เลยก็ว่าได้ เป็นเพราะว่ามีความเรียบง่ายและได้ผลประโยชน์กับทุกฝ่าย วิธีการก็เพียงแค่จัดเตรียมสินค้าให้กับ Influencer แล้วจัดแคมเปญแจกรางวัลให้กับผู้ติดตาม กิจกรรมแจกของรางวัลมักจะเป็นในรูปแบบของการให้กดติดตาม คอมเมนต์ และแชร์โพสต์ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะทำให้ได้ผู้ติดตามเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นแบรนด์จะได้ยอดขายเพิ่มเติมจากการแข่งขันชิงรางวัลด้วย ถ้าหากว่า Influencer เองมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับผู้ติดตามของตัวเองแล้ว จะสามารถสร้าง ROI ที่สูงขึ้นได้
แต่กลยุทธ์ยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ผู้ติดตามบางคนอาจมาเข้าร่วมแค่ชั่วคราว เมื่อหมดกิจกรรมแจกรางวัลแล้วก็ยกเลิกการติดตามไป รวมไปถึงการจัดการแข่งขันที่ไม่ดีพอ ก็จะพบกับบัญชีปลอมและ Bot จำนวนมาก เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันแล้ว จำนวนผู้ติดตามก็จะลดลงอย่างมากและรวดเร็ว ดังนั้นแล้วควรจะกำหนดวิธีคัดเลือกผู้ชนะอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดความไม่พอใจของผู้ติดตาม ต่อให้กิจกรรมแจกรางวัลจะมีผู้เข้าร่วมน้อยก็ตาม แต่ป้องกันไว้ย่อมดีกว่าการมาแก้ปัญหาแน่นอน
2. Social Media Takeover
Social Media Takeover คือการให้ Influencer สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ในแพลตฟอร์ม Social Media ของแบรนด์ได้เลย แบรนด์จะทำข้อตกลงกับ Influencer ว่าจะให้เข้าถึงแพลตฟอร์ม Social Media ของแบรนด์ได้นานเท่าไร มีตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง 1 สัปดาห์เลยทีเดียว
กลยุทธ์นี้จะแบรนด์จะต้องมีความไว้วางใจใน Influencer อย่างมาก เพราะการให้เข้าบัญชี Social Media ของแบรนด์นั้นเท่ากับว่า Influencer จะต้องรู้ข้อมูลด้านความปลอดภัย เช่น รหัสผ่านบัญชี แต่ปัจจุบันบางแพลตฟอร์มก็สามารถให้ Influencer เข้าไปควบคุมคอนเทนต์ได้โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบบัญชีของแบรนด์ เช่น Snapchat เป็นต้น
3. Affiliate Marketing
Affiliate Marketing คือการตลาดแบบพันธมิตรที่ใช้ตัวแทนหรือมีนายหน้าขายให้ ซึ่งนายหน้าที่ว่าก็คือ Influencer นั่นเอง กลยุทธ์การตลาดนี้จะตอบโจทย์กับแบรนด์ที่มี Budget จำกัด โดยมีหลักการคือทำงานร่วมกับ Influencer หลายๆ คน ให้เหล่า Influencer เป็นคนโปรโมตสินค้า ไม่ว่าจะแบบ On-site หรือ Online ก็ตาม เมื่อมีลูกค้าซื้อสินค้าแล้ว Influencer เหล่านั้นก็จะได้ค่า Commission เป็นการตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์อาจจะให้โค้ดส่วนลดราคาสินค้าที่ไม่ซ้ำกันแก่ Influencer 10 คน แล้ว Influencer นั้นจะนำโค้ดส่วนลดนี้ไปแชร์ให้กับผู้ติดตาม และผู้ติดตามเหล่านั้นก็จะนำโค้ดไปใช้ในร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์ แบรนด์ก็จะได้ยอดขาย ส่วน Influencer ก็จะได้ค่า Commission เรียกได้ว่าไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น
4. คอนเทนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์บน Social Media
หลาย ๆ คนที่ใช้ Social Media บ่อยๆ คงคุ้นเคยกับคำว่า สนับสนุนโดย… แล้วตามด้วยชื่อแบรนด์บางอย่าง ซึ่งนั่นก็คือคอนเทนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์บน Social Media นั่นเอง เป็นกลยุทธ์การตลาดสุดคลาสสิก ตรงไปตรงมา และได้รับความนิยมสูงสุด หลักการทำงานของกลยุทธ์นี้เริ่มต้นจากแบรนด์จะเป็นผู้กำหนด Guideline ธีม และเป้าหมายของแบรนด์ให้กับ Influencer แล้ว Influencer จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดผู้ติดตามให้มาสนใจสินค้าของแบรนด์ ถ้าหากว่า Influencer มีช่องทาง Social Media หลากหลายช่องทาง ก็จะเป็นการผลักดันภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้อยู่ในทุกพื้นที่ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
5. Unboxing และรีวิว
กลยุทธ์การตลาดมาแรงอย่างการแกะกล่องแล้วรีวิวสิ่งที่อยู่ข้างในกล่องนั้นก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการโปรโมตสินค้าและแบรนด์ เพียงแค่แบรนด์มอบสินค้าให้กับ Influencer ในรูปแบบกล่องของขวัญ แล้ว Influencer ก็จะทำคลิป Unboxing พร้อมรีวิวบน Social Media เพียงเท่านี้ผู้ติดตามก็จะมีความรู้สึกร่วมไปกับ Influencer เหมือนกับว่าได้เปิดกล่องไปพร้อมกัน และการรีวิวจะช่วยให้ผู้ติดตามสามารถตัดสินใจได้ว่าจะซื้อสินค้าแบบใด นอกจากนั้นกลยุทธ์การมอบของขวัญให้ Influencer ยังเป็นการสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับ Influencer ด้วย
6. Guest Blogging
Guest Blogging เป็นแคมเปญที่จะช่วยโปรโมตแบรนด์อย่างมีเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพ โดยการให้ Influencer เขียนคอนเทนต์แล้วโพสต์เผยแพร่ไปยังเว็บไซต์หรือบล็อกที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ เรียกได้ว่าเรียบง่ายแต่ได้ผลดี สามารถปรับปรุง Brand Awareness ให้ดีขึ้น พร้อมทั้งได้ผู้เข้าชมมากขึ้นผ่านบล็อคโพสต์ ชื่อเสียงของแบรนด์ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย และดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพได้มากขึ้นด้วย
7. Brand Ambassador Programs
Brand Ambassador ก็คือ Influencer ที่แชร์คอนเทนต์ของแบรนด์ผ่าน Social Media เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ในแบบรูปภาพ วิดีโอ โพสต์ หรือบทความ เปรียบเสมือนหน้าตาของแบรนด์ หากแบรนด์ทำงานร่วมกับ Brand Ambassador แล้ว สินค้าของแบรนด์ก็จะปรากฏให้เห็นซ้ำๆ ใน Social Media ของพวกเขา ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Brand Awareness อย่างสม่ำเสมอ ภาพจำของแบรนด์ก็จะส่งไปยังผู้ติดตามของ Brand Ambassador
อย่างที่ทราบกันว่า Brand Ambassador ก็คือ Influencer คนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับผู้ติดตาม เมื่อผู้ติดตามเห็นว่า Influencer ที่ตัวเองชื่นชอบใช้สินค้าของแบรนด์เป็นประจำและเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ก็จะยึดติดกับแบรนด์และไม่เปลี่ยนใจไปไหน เกิดความต้องการที่จะใช้สินค้าตามด้วย
8. แคมเปญ Pre-Release พร้อมโค้ดส่วนลด
ด้วยความที่ทุกๆ ปีจะมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาหลายล้านรายการ ทำให้แบรนด์จำเป็นต้องสร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้าระหว่างที่รอวางจำหน่าย จึงเกิดแคมเปญ Pre-Release ที่ร่วมมือกับ Influencer เพื่อสร้างประสบการณ์ความตื่นเต้นโดยการให้ Influencer ทดลองใช้สินค้าเป็นกลุ่มแรก แบรนด์สามารถเพิ่มวิธีการโปรโมตได้ด้วยการแจกโค้ดส่วนลดให้กับ Influencer แล้วนำไปแชร์ให้กับผู้ติดตามอีกที เป็นวิธีกระตุ้นความต้องการซื้อของลูกค้าได้ดี
ประโยชน์ที่แบรนด์จะได้รับเมื่อทำ Influencer Marketing
จะเห็นได้ว่า Influencer Marketing มีประเภทและแคมเปญที่หลากหลายให้แบรนด์ได้เลือกสรร ถ้าแบรนด์เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมแล้ว แบรนด์ก็จะได้รับประโยชน์ 4 ข้อ ดังนี้
1. Brand Awareness เติบโตมากขึ้น
40% ของนักการตลาดเลือกใช้ Influencer Marketing เพื่อเพิ่ม Brand Awareness ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก การที่ Influencer แชร์ Story และคอนเทนต์ของแบรนด์ ทำให้ขยายการเข้าถึงและเพิ่มพื้นที่ของแบรนด์ในโลกออนไลน์มากขึ้น
2. ประหยัดค่าใช้จ่าย
หากลองเปรียบเทียบกับการโปรโมตสินค้าผ่าน Search Engine แล้ว แบรนด์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีหน้าโฆษณาปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มโฆษณาอยู่ตลอด แต่ Influencer Marketing มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แถมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะสามารถสร้างโอกาสเพิ่มยอดขายได้ และสามารถเลือกใช้แคมเปญที่เหมาะสมกับแบรนด์ได้อย่างหลากหลายมากกว่าด้วย
3. สร้างโอกาสในการขายได้อย่างมีคุณภาพ
36% ของแบรนด์เลือกใช้ Influencer Marketing เพื่อสร้างโอกาสในการขาย และ 72% ของแบรนด์เชื่อว่าการตลาดรูปแบบนี้จะสร้างโอกาสในการขายที่มีคุณภาพสูงกว่าเมื่อเทียบกับการตลาดรูปแบบอื่นๆ เพราะลูกค้าจะรู้สึกดีกับแบรนด์ที่ Influencer ที่พวกเขาชื่นชอบมาโปรโมตให้นั่นเอง
4. เพิ่มคุณค่าให้กับ Content Strategy
Influencer Marketing คือสิ่งที่จะช่วยให้ Social Media ของแบรนด์มีชีวิตชีวามากขึ้น แบรนด์สามารถรีโพสต์คอนเทนต์ของ Influencer หรือสามารถกระตุ้นให้ผู้ติดตามของ Influencer สร้างสรรค์คอนเทนต์ของตัวเองที่เกี่ยวกับแบรนด์ได้
เริ่มต้นทำ Influencer Marketing แบบมีกลยุทธ์
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากจะเริ่มต้นทำ Influencer Marketing ให้กับแบรนด์บ้าง แต่ขอแนะนำว่าต้องวางแผนจัดทำกลยุทธ์ Influencer Marketing เสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ โดยมีขั้นตอนการวางกลยุทธ์ 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. รู้วิธีเลือกใช้ Influencer และค่าตอบแทนที่ต้องจ่าย
ขั้นตอนแรกสุดและสำคัญที่สุดของการทำ Marketing คือการทำ Research เพื่อเลือกแพลตฟอร์ม Social Media ที่แบรนด์จะโฟกัสเป็นหลัก สำหรับแบรนด์ระดับ beginner แนะนำว่าให้เลือกใช้หนึ่งแพลตฟอร์มก่อน แล้วจึงขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ในภายหลัง ในช่วงระหว่างการทำ Research ให้พิจารณาถึง Influencer ที่จะมาเป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์ รวมไปถึงประเภทของ Influencer ที่เหมาะสมกับแบรนด์ด้วย เพราะไม่จำเป็นที่แบรนด์จะต้องใช้ Mega-Influencer ชื่อดังมากๆ บางแบรนด์อาจจะเหมาะสมกับ Micro-Influencer ที่มีผู้ติดตามน้อยแต่มีส่วนร่วมมาก ซึ่งการตัดสินใจเลือกประเภท Influencer ก็จะส่งผลต่อการคำนวณ budget ด้วย
2. กำหนด Budget และกลยุทธ์การจัดการ
หลังจากที่พอมีไอเดียแล้วว่าแบรนด์จะใช้ Influencer ประเภทใดแล้ว ทีนี้จะสามารถคำนวณได้ว่าต้องใช้ budget ประมาณเท่าไร รวมไปถึงคำนวณระยะเวลาและตารางงานของ Influencer ให้สอดคล้องกัน
Influencer Marketing แตกต่างจากการใช้โฆษณาอัตโนมัติตรงที่ Influencer คือมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถยืดหยุ่น พัฒนา เกิดข้อผิดพลาดและปรับปรุงแก้ไขได้ แบรนด์จะต้องคอยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ Influencer และเข้าใจใน Human Error ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น Influencer Marketing จึงไม่ใช่กลยุทธ์การตลาดที่เซตทุกอย่างไว้แล้วจบ แต่เป็นกลยุทธ์ที่ต้องคอยติดตาม สังเกต และตรวจสอบอย่างรอบคอบอยู่ตลอด
3. ตัดสินใจในเป้าหมายและ Message ให้ชัดเจน
ปกติแล้วเป้าหมายของการเลือกใช้ Influencer Marketing คือ เพื่อยกระดับ Brand Awareness และเพิ่มยอดขาย แต่จะเป็นการดีกว่าถ้าแบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายตามความต้องการของแบรนด์ได้จริงๆ แทนการกำหนดเป้าหมายกว้างๆ แบบนี้ เช่น แบรนด์ต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยกว่าเดิม เป็นต้น ซึ่ง Influencer จะมีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจงได้ ช่วยให้แบรนด์มั่นใจได้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเห็นและมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของแบรนด์ได้
นอกจากเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว อย่าลืมว่า Message ของแบรนด์ก็สำคัญเช่นกัน แบรนด์จะต้องจัดการวางโครงสร้างแคมเปญการตลาดและ Message เพื่อให้ Influencer เห็นทิศทางในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สอดคล้องกับ Message ได้ ไม่อย่างนั้น Influencer อาจหลงประเด็นไปและสร้างคอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ได้
4. ค้นหาและติดต่อ Influencer ที่เหมาะสม
แบรนด์จะต้องทำ Research อีกครั้งเพื่อค้นหา Influencer ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนที่วางไว้ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า Influencer คนนี้เหมาะสมหรือไม่? วิธีการตรวจสอบคือ สำรวจคอนเทนต์ของ Influencer ที่อยากร่วมงานด้วยว่ามีประสบการณ์สร้างคอนเทนต์ที่คล้ายคลึงกับแบรนด์หรือไม่ ถ้าเป็น Influencer ระดับมืออาชีพจะมี Portfolio มาให้แบรนด์พิจารณาด้วย นอกจากนี้อย่าลืมสำรวจหน้าฟีด Social Media ของ Influencer ว่ามีจำนวนผู้ติดตามที่สัมพันธ์กับยอด engagement หรือไม่ ถ้าหากว่ายอด engagement ไม่ดี และมีคอมเมนต์ที่คล้ายกับสแปมจำนวนมาก ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจจะเป็นบัญชีปลอมก็เป็นได้
ในส่วนของวิธีการติดต่อกับ Influencer ก็จะมีหลายรูปแบบและหลายช่องทาง อย่าง Micro-Influencer สามารถติดต่อที่ Direct Message ของแพลตฟอร์ม Social Media นั้นๆ ได้เลย ถ้าหากเป็น Mega-Influencer อาจจะให้คลิกที่โปรไฟล์ หรือ Bio เพื่อดูข้อมูลช่องทางการติดต่อสำหรับเชิงธุรกิจ เป็นต้น
5. รีวิวและปรับแต่งกลยุทธ์ของแบรนด์
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว Influencer Marketing ก็จะดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ แต่อย่าเพิ่งวางใจไป เพราะบางอย่างอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดคิดก็เป็นได้ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องกำหนดวันวัดผลเพื่อดูความคืบหน้าของแคมเปญ แล้วนำผลลัพธ์ความคืบหน้านั้นมาปรับปรุงให้แคมเปญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รู้ไว้ไม่เสียหาย อยากทำงานกับ Influencer แบบราบรื่น นำ 7 เทคนิคนี้ไปใช้
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าแบรนด์จะต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับ Influencer เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าอย่างนั้นมาดู 7 เทคนิคที่จะทำให้การทำงานกับ Influencer เป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ตัดสินใจวิธีที่จะติดต่อกับ Influencer
เทคนิคแรกคือแบรนด์จะต้องตัดสินใจว่าจะติดต่อกับ Influencer ในนามของแบรนด์โดยตรง หรือเลือกติดต่อผ่านเอเจนซี่ ทำไมวิธีการติดต่อถึงส่งผลต่อการทำงานร่วมกับ Influencer ล่ะ? นั่นเป็นเพราะว่ากระบวนการทำงานกับ Influencer จะต้องใช้การติดต่อกลับไปกลับมาบ่อยๆ และยังมีกฎข้อบังคับอีกมากมายที่แบรนด์ต้องศึกษาและปฏิบัติตาม ถ้าหากว่าแบรนด์มีคนที่มีประสบการณ์การติดต่อกับ Influencer อยู่แล้วคงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ถ้าแบรนด์ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว การติดต่อโดยมีที่ปรึกษาหรือใช้เอเจนซี่จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะจะประหยัดเวลาได้มากทีเดียว
2. เลือก Influencer ที่เหมาะกับแบรนด์จะดีที่สุด
ทุกวันนี้ในโลกออนไลน์มี Influencer เกิดขึ้นมามากมาย ดังนั้นการค้นหา Influencer ที่เหมาะสมกับแบรนด์ที่สุดจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นแบรนด์ที่มีสินค้าเฉพาะกลุ่มก็จะยิ่งทวีความยากเพิ่มไปอีก การใช้ Mega-Influencer ที่มีผู้ติดตามเยอะๆ นั้นก็ดี แต่ Influencer ที่มีผู้ติดตามน้อยก็มีแนวโน้มได้ยอด engagement ที่ดีกว่า เพราะอย่างนั้นให้คิดว่า Influencer คือกำลังเสริมในทีม Marketing คนหนึ่ง จึงต้องมีความเหมาะสมกับภาพลักษณ์และลักษณะของแบรนด์ที่สุด
3. ทำความเข้าใจว่าผู้ติดตามและ Influencer โต้ตอบกันอย่างไร
Influencer ส่วนใหญ่จะมีแพลตฟอร์มหลักที่เหมาะกับตัวเองที่สุดอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือแบรนด์ต้องรู้ว่าแพลตฟอร์มที่ Influencer ใช้เป็นอย่างไร อย่างเช่น Influencer บางคนมีผู้ติดตามใน YouTube จำนวนมาก แต่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ มีผู้ติดตามน้อย ดังนั้นผลลัพธ์การตลาดจะเห็นใน YouTube ได้ชัดเจนที่สุด สิ่งสำคัญที่แบรนด์ต้องรู้อีกอย่างหนึ่งคือ การแยกแยะระหว่างผู้ติดตามที่เป็นของจริงกับของปลอมให้ออก ในยุคที่มีการจ้างคนกดไลก์ จ้างคนดู หรือจ้างคอมเมนต์ แบรนด์จะต้องตรวจสอบให้ดี หากพบว่าการโต้ตอบระหว่างผู้ติดตามกับ Influencer นั้นมีแต่ bot แล้ว แสดงว่าผู้ติดตามตัวจริงไม่ได้มีส่วนร่วมมากเท่าที่ควร เท่ากับว่าแบรนด์ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
4. เลือกช่องทางการตลาดที่เหมาะสม
ถ้าแบรนด์รู้จักลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี ก็จะรู้ว่าลูกค้าใช้เวลาส่วนใหญ่ในแพลตฟอร์ม Social Media ใด แล้วจึงเลือกทำ Influencer Marketing ที่แพลตฟอร์มนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่เจาะจงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอายุ 18 – 30 ปี ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับแบรนด์นี้คือใช้ Influencer ใน Instagram เป็นต้น แต่ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่มี Influencer สร้างสรรค์คอนเทนต์จูงใจลูกค้าได้ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีว่าแพลตฟอร์มใดเหมาะสมกับแบรนด์ที่สุด
5. มีเป้าหมายอย่างชัดเจน
สิ่งสำคัญคือแบรนด์ต้องรู้ว่าต้องการอะไรจากการทำงานร่วมกับ Influencer เพราะเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ Influencer สร้างคอนเทนต์ที่ตรงกับเป้าหมายของแบรนด์ได้อย่างถูกต้อง
6. สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับ Influencer ที่ร่วมงานด้วย
Influencer มักจะได้รับข้อเสนอพิเศษอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจากแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ ดังนั้นถ้าอยากสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ Influencer แล้ว แบรนด์สามารถส่งของขวัญหรือสินค้าฟรีให้กับ Influencer ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ในเชิงโฆษณาอย่างเดียว เพื่อสร้างความประทับใจแก่ Influencer และเป็นการแสดงความมีน้ำใจของแบรนด์ ทำให้ Influencer มีความรู้สึกที่ดีในแบรนด์ที่ตัวเองร่วมงานด้วย และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดีขึ้น
7. ติดตามและวิเคราะห์ผลลัพธ์แคมเปญ
สาเหตุที่ Influencer Marketing ได้รับความนิยมมากเป็นเพราะดูมีความเสี่ยงต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง และใช้ได้กับแบรนด์ทุกขนาด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แต่ Influencer Marketing จำเป็นต้องวิเคราะห์วางแผนล่วงหน้ามาอย่างดี หลังจากทำแคมเปญแล้วจะต้องติดตามผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลลัพธ์ที่คอยติดตามจะบอกได้ว่าแผนที่วางไว้ รวมไปถึงตัว Influencer ที่ร่วมงานด้วยนั้น ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ป้องกันการเสีย budget ไปโดยเปล่าประโยชน์และไม่คุ้มค่านั่นเอง
สรุป
ปัจจุบันกลยุทธ์ Influencer Marketing ถือว่าเป็นการตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและได้รับความนิยมสูง สามารถเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ พร้อมยกระดับการรับรู้ของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่บทความนี้เน้นย้ำอยู่ตลอดก็คือการเลือก Influencer ให้เหมาะสมกับแบรนด์มากที่สุด การทำงานร่วมกับ Influencer ชื่อดังมีผู้ติดตามเยอะๆ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้แบรนด์มียอดขายเพิ่มขึ้นเสมอไป ยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้แบรนด์เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย ถ้าแบรนด์รู้จักเลือกใช้ Influencer ได้อย่างเหมาะสมแล้ว รับรองว่ายอดขายและ Brand Awareness จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อแน่นอน
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
Influencer Marketing คืออะไร?
Influencer Marketing คือการทำการตลาดโดยใช้คนมีชื่อเสียง มาสร้างรีวิว แนะนำสินค้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้านั้นมากยิ่งขึ้น
Influencer กับ KOL ต่างกันยังไง?
Influencer ผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่เสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย สามารถโน้มน้าวให้เกิดการใช้สินค้าและบริการได้ ส่วน KOL หรือ Key Opinion Leader ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และสร้างความเชื่อมั่นรวมถึงโน้มน้าวให้คนกลุ่มที่สนใจสิ่งนั้นคล้อยตามที่จะใช้สินค้าและบริการของแบรนด์ได้
Influencer มีกี่ประเภท?
5 ประเภทได้แก่
- Nano-Influencers
- Micro-Influencers
- Mid-Tier Influencers
- Macro-Influencers
- Mega-Influencers