KEY TAKEAWAYS
- Impression คือการแสดงผลของโฆษณา หรือเนื้อหาที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่า User จะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม
- Impression แบ่งได้เป็น Served Impression, Viewable Impression และ Verified Impressions
- ความแตกต่างระหว่าง Impression vs Reach ด้าน Impression จะนับการแสดงผลแคมเปญทั้งหมด ส่วน Reach จะนับเป็นจำนวน User ที่มองเห็นแคมเปญ ถ้าเห็นซ้ำจะไม่ถูกนับเพิ่ม
- แคมเปญโฆษณาที่มี Impression สูงจะมี Reach สูงด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่เสมอไป เช่น แคมเปญโฆษณาที่แสดงโฆษณาเดียวซ้ำๆ กัน User เดียวกันอาจมีหลาย Impression แต่ Reach ต่ำ
- ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ Impression ได้แก่ รูปแบบเนื้อหา ตำแหน่งโฆษณา การจัดสรรงบประมาณ การแข่งขันโฆษณา และกลุ่มเป้าหมาย
Impression คือ ยอดการแสดงผลของโฆษณาเมื่อคอนเทนต์โฆษณาถูกโหลดขึ้นมาบนหน้าจอ ไม่ว่า User จะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม โดยแต่ละแพลตฟอร์มอาจมีมาตรฐานการคิด Impression ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น เราขอยกตัวอย่างดังนี้
- ตัวอย่าง Impression ของ Facebook ในกรณีที่ User เห็นคอนเทนต์โฆษณา 1 ครั้ง ไม่ว่าจะหยุดดูหรือเลื่อนผ่านไป Impression ก็จะนับเป็นหนึ่งทันที ซึ่งจะนับ Impression จาก 1 เป็น 2 Impression ก็ต่อเมื่อมีการ Refresh หน้าจอ และเจอโฆษณาเดิมผ่านอีกครั้ง Impression ก็จะถูกนับเพิ่มขึ้นนั่นเอง
- ตัวอย่าง Impression ของ Google Search (SEM) Impression จะถูกนับทุกครั้งที่โฆษณาแสดงบนเครือข่ายของ Google หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม Google โดย Impression ของฝั่ง SEM จะช่วยให้เราทราบได้ว่าโฆษณาของเรานั้นมี User เห็นมากน้อยเพียงใด
- ตัวอย่าง Impression ของ Google Search (SEO) ด้านฝั่ง SEO การนับ Impression จะนับจากจำนวนที่ User เห็นลิงก์เว็บไซต์ บนหน้า SERP (หน้าผลการค้นหา) ซึ่งเว็บไซต์ที่ติดหน้าแรก หรือติดอยู่ในอันดับแรกๆ บน Google จะมี Impression ที่สูงกว่าเว็บไซต์ที่อยู่หน้าถัดๆ ไปหรืออันดับล่างๆ โดยจำนวน Impression จะถูกลดลงไปตามอันดับการมองเห็นของ User
อย่างไรก็ตาม ความหมายของ Impression ที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนมักพบว่าค่า Impression ที่เราอ่านค่ากันใน Report มักจะเฟ้อกว่า ค่าตัวชี้วัดอื่นๆ จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่ายอด Impression นั้น มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน โดยในหลายแพลตฟอร์มก็ได้มีการใช้เมตริกของการนับ Impression ให้แม่นยำมากขึ้น โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้
ประเภทของ Impression ที่ถูกใช้งานในด้านการตลาดออนไลน์
Served Impression
Served Impression คือ Impression ประเภทที่จะนับจำนวนครั้งที่โฆษณาปรากฏบนแพลตฟอร์ม ของ User โดยไม่ได้คำนึงว่า User จะส่วนร่วมกับโฆษณาหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การแสดงโฆษณาหรือเนื้อหาบนเบราว์เซอร์ ที่ User เลื่อนผ่านแล้ว โดยอาจจะเห็นหรือไม่เห็นก็ได้ แต่ยอด Impression ก็จะถูกนับเป็นหนึ่งครั้งทันที จึงทำให้ Served Impression ยังถือว่าขาดข้อมูลที่แม่นยำหลายส่วน
Viewable Impression
Viewable Impression คือ การที่โฆษณาปรากฏอยู่บนจออย่างน้อย 50% และโฆษณาหรือเนื้อหานั้น ก็จะถูกนับเป็นเมตริกซ์ Viewable Impression
การแสดงผลลัพธ์แบบ Viewable Impression ระบบจะปรับแต่งเนื้อหาให้เข้ากับประวัติการใช้งานต่างๆ บนเครื่องอุปกรณ์ รวมถึงบนบัญชีของผู้ใช้งานแต่ละแพลตฟอร์ม แล้วเลือกเนื้อหา หรือโฆษณาสำหรับการแสดงผลที่คาดว่าจะได้รับความสนใจอย่างตรงจุดมากที่สุดให้ปรากฏขึ้นมา
Verified Impressions
Verified Impressions คือ ตัวชี้วัดในการโฆษณาที่แสดงจำนวนครั้งที่โฆษณาถูกแสดงและได้รับการยืนยันว่าเป็นการแสดงผลที่แท้จริง
โดยทั่วไปแล้ว Verified Impressions จะนับเฉพาะการแสดงผลที่สามารถมองเห็นได้จริงโดยผู้ใช้งาน ไม่รวมการแสดงผลที่เกิดจากบอทหรือจากการปั่นยอด Impression
ความแตกต่างระหว่าง Impression vs Reach vs View
ยอดการแสดงผลของแคมเปญโฆษณาหรือเนื้อหาที่ได้ปรากฏขึ้นมาบนหน้าแพลตฟอร์มของผู้ใช้งาน โดยมีเมตริกซ์เอาไว้ดูภาพรวมผลลัพธ์ คือ Impression, Reach และ View ซึ่งความแตกต่างของทั้ง 3 จะอยู่ที่การมองเห็นของผู้ใช้งาน ดังนี้
- Impression คือ เป็นยอดการเข้าใช้งาน เข้าสู่ระบบของแพลตฟอร์มแต่ละครั้ง โดยที่ User อาจไม่ต้องเห็นตัวแคมเปญทันที
- Reach คือ จำนวน User มองเห็นแคมเปญนั้นๆ หากเห็นซ้ำจะไม่ถูกนับเพิ่ม
- View คือ ยอดจำนวนที่เข้าชมคลิปวิดีโอ ซึ่งกฎเกณฑ์การนับยอด View ของแต่ละ Social Media จะแตกต่างกัน เช่น Facebook และ Instagram ต้องมีการดูคลิปนานเกิน 3 วินาที จึงจะถูกนับเป็น 1 ยอด View ถึงแม้จะมี Impression มากแค่ไหน แต่หากดูคลิปวิดีโอ ไม่ถึง 3 วินาที ก็จะไม่ถูกนับ View นั่นเอง
การดู Impression ในแต่ละโซเชียลมีเดีย
ในแต่ละแพลตฟอร์มสามารถเข้าไปตรวจสอบได้จากขั้นตอนที่ต่างกัน ดังนี้
การดู Impression ใน Facebook
ตัวอย่าง Impression บน Meta Business Suite
การดู Impression ของ Facebook คือการตรวจสอบยอดการเข้าถึง หรือการแสดงผลลัพธ์แคมเปญต่างๆ ของ Facebook โดยไปที่
- เข้าหน้า Page Facebook
- Meta Business Suite > Ads
- Ads > Manager > Campaigns
เมื่อเข้าไปแล้วข้อมูลจะแสดงหลังบ้าน Ads Facebook และปรากฏแคมเปญโฆษณา และเมตริกซ์ต่างๆ อาทิ Reach, Cost per result และอื่นๆ อีกมากมาย ในส่วนของ Impressions จะแสดงผลลัพธ์ตามรูปภาพตัวอย่างด้านบนในกรอบสีแดงนั่นเอง
การดู Impression ใน YouTube
ตัวอย่าง Impression บน YouTube Studio
ด้านแพลตฟอร์ม YouTube มีวิธีการเข้าดู Impression และ Analytic อื่นๆ ของ YouTube ดังนี้
- Log-In Account YouTube
- เลือก YouTube Studio
- เลือกเมนู > Analytics > Content > Video
เมื่อเข้าตามวิธีด้านบนแล้วจะพบกับผล Impression ตามรูปภาพตัวอย้าง นอกจากนี้เรายังสามารถดูข้อมูลส่วนต่างๆ ของ YouTube ได้ อาทิ Views ,Comment , Watch Time, Top Content ที่ User ดูคอนเทนต์ของช่อง และอื่นๆ ได้อีกมากมาย
การดู Impression ใน Instagram
ระบบการตรวจสอบผลลัพธ์แคมเปญโฆษณา หรือการแสดงเนื้อหาบนช่องทาง Instagram จะแบ่งเป็นส่วนของโพสต์หลักที่หน้าบัญชี, Stories หรือไอจีสตอรี่ และเนื้อหาจากการใช้ Reels หรือคลิปวิดีโอสั้นบนไอจี
สำหรับส่วนของโพสต์ ให้เข้าไปที่เมนู “View Insight” จากปุ่มที่โพสต์นั้น แล้วข้อมูลจะแสดงผลลัพธ์ ดังนี้
- ยอดการโต้ตอบกับโพสต์แคมเปญทั้งหมด ได้แก่ กดถูกใจ (Like) การแสดงความคิดเห็น การแชร์ และการกดบันทึกโพสต์ (Post Saved)
- ยอดการคลิกลิงก์ของเนื้อหาจากแคมเปญนั้น
- จำนวนของยอดการกดเข้าชมหน้าหลักโปรไฟล์บัญชีแคมเปญ
- จำนวนยอดจำนวนผู้ติดตามใหม่ที่กดมาจากเนื้อหาแคมเปญ
ในส่วนการแสดงผลลัพธ์จากโพสต์แบบ Stories หรือไอจีสตอรี่ ให้เลือกเมนูจากหน้าการดูผู้ชม Stories นั้นๆ ได้เลยจาก “View Insight” แล้วข้อมูลจะแสดงผลลัพธ์ ดังนี้
- จำนวนยอดการตอบกลับ หรือการ Reply Stories และจำนวนการกด Reaction หรือสติกเกอร์ต่างๆ บนเนื้อหานั้น
- จำนวนยอดการเข้าชมโปรไฟล์บัญชีจากสตอรี่นั้น
- จำนวนการกดระบบนำทางต่างๆ (Navigation) ได้แก่ การแตะกลับไปยังสตอรี่ก่อนหน้า การแตะข้ามไปยังสตอรี่ถัดไป และการกดออกจากหน้าสตอรี่
หากใครที่ทำเนื้อหาแคมเปญแบบคลิปวิดีโอสั้นลงบน Instagram หรือที่เรียกกันว่า Reels สามารถเข้าดูผลลัพธ์ได้ที่เมนู “Creator Studio” ของหน้าหลักได้ ซึ่งจะแสดงยอดการเข้าถึง ยอด Engagement ต่างๆ แบบละเอียดได้ทุกคลิป
การดู Impression ใน Twitter หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X
ตัวอย่าง Impression บน Twitter Analytics
หากใครต้องการข้อมูลการแสดงผลแบบละเอียดของ Twitter สามารถเข้าดูผ่าน “Twitter Analytics” Sign In บัญชีที่ใช้งาน ก็จะเข้าสู่ในหน้าภาพรวมข้อมูลบัญชีของเรา โดยในหน้านั้นก็จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับ Post Impression, Reach, Engagement, Followers, Response time,Top mention และอื่น ๆ อีกมากมาย
การดู Impression ใน TikTok
ตัวอย่าง Impression บน TikTok Analytics
แพลตฟอร์ม TikTok แม้ไม่ได้ระบุเป็น Impression โดยตรงเหมือนกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ แต่สามารถดูข้อมูลการมองเห็นของ Post Video ได้จากเมตริกซ์ Post View บน TikTok Analytics ได้โดยเลือกไปยังเมนู
- Profile TikTok
- TikTok Studio
- Analytics > View all
เมื่อเข้าไปตามวิธีข้างต้นจะปรากฏ Analytics ต่างๆ มากมาย ของ TikTok อาทิ Post Views, Profile View, Likes , Comment นอกจากนี้ยังสามารถดู Insights ของ Follower แบบเจาะลึกได้อีกด้วย
การดู Impression ใน Website
ตัวอย่าง Impression บน Google Search Console
Impression สำหรับ Website สามารถดูได้โดยใช้ Google Search Console เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์จาก Google ซึ่งวิธีการดู Impression ใน Google Search Concole จะมีขั้นตอนดังนี้
- เข้าสู่บัญชี Google Search Console
- ในส่วน Performance > Search Results
- เลือกช่วงเวลาที่ต้องการ
ความสำคัญของ Impression เพื่อนำไปต่อยอดแคมเปญโฆษณา
ช่วยวัดประสิทธิภาพและปรับแต่งแคมเปญโฆษณา
Impression ช่วยเป็นข้อมูลในการประเมินประสิทธิภาพของแคมเปญคอนเทนต์โฆษณา เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น เช่น หากโฆษณานั้นๆ มี Impression ที่ต่ำ จะทำให้เรารู้ว่าต้องปรับปรุงเนื้อหาแคมเปญใหม่ เพื่อให้โฆษณาเป็นที่น่าสนใจและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น แคมเปญโฆษณาบน Facebook ตัวหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ User ทักข้อความมาเพื่อสอบถามหรือสั่งซื้อสินค้า แต่หากรายงานพบว่ามี Impression ค่อนข้างต่ำ และไม่มีข้อความทักมาเลย แนวทางการแก้ไขเราก็อาจจะมาดูได้ว่า โฆษณาแคมเปญนี้บกพร่องในส่วนได้ เช่น
- Artwork ไม่น่าสนใจ
- Headline ไม่ดึงดูด
- Call to Action ไม่เชิญชวน
- หรือใช้การสื่อสารผิดรูปแบบ
- หรืออื่นๆ
ช่วยการวางแผนความถี่ในการแสดงโฆษณา
ข้อมูลจาก Impression ยังช่วยกำหนดความถี่ที่เหมาะสมในการแสดงโฆษณาต่อผู้ชมคนเดียวกัน รวมถึงช่วยลดการแสดงโฆษณาซ้ำมากเกินไปจนรบกวนผู้ชม โดยสามารถใช้ข้อมูล Impression เพื่อคำนวณว่า User เห็นโฆษณากี่ครั้งโดยเฉลี่ย โดยมีการคำนวณดังนี้
Frequency = Impression / Reach
ช่วยการวิเคราะห์แนวโน้มตลาด
ข้อมูล Impression ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มและพฤติกรรมของ User ได้ เช่น ดูการเปลี่ยนแปลงของ Impression ตามช่วงฤดูกาล อาทิ แคมเปญโฆษณาช่วงปีใหม่ แคมเปญโฆษณาช่วงการแข่งขันกีฬา หรือเทรนด์ฮิตต่างๆ ของวัยรุ่น เพื่อช่วยให้เราวางแผน หรือปรับแคมเปญให้สอดคล้องกับความสนใจของ User
ปัจจัยอะไรบ้าง ที่มีอิทธิพลต่อ Impression
Impression จะดีหรือไม่นั้น มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร และส่งผลต่อการเข้าถึง ดังนี้
- ตำแหน่งโฆษณาและรูปแบบเนื้อหา แต่ละแพลตฟอร์มจะมีการวางตำแหน่งโฆษณาที่ต่างกัน เช่น Facebook และ Instagram จะนำเสนอโฆษณาบนฟีด สตอรี่ และคลิป Reel แต่ TikTok จะมีตัวเลือกต่างๆ นำเสนอโฆษณา เช่น ฟีดผู้คนที่ติดตาม ฟีดโปรไฟล์ โฆษณาในศูนย์การค้า โฆษณาบนเครือข่ายการค้นหา และอื่นๆ
- การจัดสรรงบประมาณ หากเราจัดสรรงบประมาณให้กับโฆษณามากขึ้น เราจะสามารถขยายกลุ่มเป้าหมาย และรักษาพื้นที่โฆษณาได้มากกว่าคู่แข่ง
- การแข่งขันโฆษณา หากโฆษณามีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับคู่แข่ง การแข่งขันนี้จะสูงกว่าปกติในช่วงเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ
- กลุ่มเป้าหมาย การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลประชากร ความสนใจ และพฤติกรรมออนไลน์ จะช่วยกำหนดตำแหน่งโฆษณา และปรับเนื้อหาเพื่อเพิ่ม Impression มากขึ้น
5 เทคนิคการเพิ่ม Impressions บนโซเชียลมีเดีย
1. สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีคุณภาพ
คอนเทนต์เป็นหัวใจหลักของการทำแคมเปญโฆษณา เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และมีคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนอยากติดตามเรา เพราะถ้าเนื้อหา หรือรูปแบบการนำเสนอของ Content ดี ก็จะส่งผลให้ระบบเปิดการมองเห็นมากขึ้น และ Organic Impression ก็จะกระจายได้เร็วขึ้นเช่นกัน ซึ่งคอนเทนต์ควรมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา เช่น ภาพนิ่ง วิดีโอ บทความ หรือ Infographic เป็นต้น
2. ใช้แฮชแท็กอย่างเหมาะสม
แฮชแท็กเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้คนบนโซเชียลมีเดีย ควรใช้แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ และเป็นแฮชแท็กที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น
3. โปรโมตคอนเทนต์ของเรา
หลังจากสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และมีคุณภาพแล้ว จำเป็นต้องโปรโมตคอนเทนต์ เพื่อให้ผู้คนได้เห็น โดยสามารถโปรโมตคอนเทนต์ได้หลายช่องทาง เช่น การแชร์บนโซเชียลมีเดีย การส่งอีเมล หรือการทำโฆษณา เป็นต้น
ซึ่งการโปรโมตจะทำให้เพิ่ม Impression ได้เร็วขึ้นก็จริง แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น มี User ดูคลิปนานเกิน 3 วินาทีหรือไม่ หรือมียอด View ถึง KPI ที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้า Impression เยอะ แต่ยอด View น้อย ก็ต้องปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ให้น่าดึงดูด เป็นต้น
4. โต้ตอบกับผู้ติดตาม
การโต้ตอบกับผู้ติดตามเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับผู้ติดตาม และทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญ อย่างการตอบคอมเมนต์ หรือการกดไลก์คอมเมนต์
เช่น หากมีการไปคอมเมนต์ใต้โพสต์ Facebook แล้วผู้ดูแลของ Facebook Page นั้นๆ ตอบกลับคอมเมนต์ดังกล่าว จะทำให้มีโอกาสที่เพื่อนของ User นั้น จะเห็นโพสต์ของ Facebook ไปด้วย เป็นเพราะว่าระบบหลังบ้านของ Social Media ให้ความสำคัญของ Engagement นั่นเอง
5. เพิ่มประสิทธิภาพการแสดงโฆษณา
ปรับแต่งกลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ และปรับงบประมาณโฆษณาให้เหมาะสม ควรเน้นไปที่ผู้ชมที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- ตั้งค่าความถี่สูงสุด: จำกัดโฆษณาให้มีความถี่สูงสุด 1 ครั้งทุกๆ 7 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มี User เดียวกันมากเกินไป และเพื่อเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างขึ้น
- ขยายตำแหน่งโฆษณา: ขยายกลยุทธ์ตำแหน่งโฆษณา เพื่อเพิ่มการมองเห็น
- ดำเนินการทดสอบ A/B: ทดลองใช้โฆษณาเวอร์ชันต่างๆ เพื่อระบุเวอร์ชันที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
การคำนวณ Impression
การคำนวณต้นทุนแคมเปญจากค่า Impression คือ การนับแบบ CPM หรือ Cost Per Mille หรือทุกๆ การแสดงผล 1,000 ครั้ง จะนับเรทต้นทุนทันที ซึ่งเจ้าของแคมเปญจะถูกคิดเงินเมื่อแคมเปญนั้นมี Impression ทุกๆ 1,000 โดยจำเป็นไม่ต้องมีการโต้ตอบใดๆ
สรุป
Impression เป็นยอดการแสดงผลของโฆษณา โดยที่ User อาจไม่ต้องเห็นตัวแคมเปญทันที และ Impression ยังเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการทำการตลาด เนื่องจากสามารถบ่งบอกจำนวนการแสดงผลของโฆษณาได้ พร้อมกันนี้ยังช่วยระบุกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะโต้ตอบกับโฆษณาของเราได้มากที่สุด ซึ่ง Impression จะแตกต่างกับ Reach และ View โดย
- Reach คือจำนวน User ที่ไม่ซ้ำกัน ที่มองเห็นหนึ่งครั้ง ต่อหนึ่งบัญชีเท่านั้น
- View คือ จำนวนครั้งที่ User ดูคลิปวิดีโอนานเกิน 3 วินาที หรือดูเว็บไซต์ ไม่ว่าจะดูเว็บไซต์หน้าเดียวกันหลายครั้งหรือไม่ก็ตาม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Impression
รวมข้อสงสัยเกี่ยวกับ Impression ของการทำแคมเปญโฆษณาหรือเนื้อหาต่างๆ เพื่อประโยชน์ด้านการทำการตลาดออนไลน์มาตอบเพื่อให้รู้จัก Impression มากขึ้น
ยอด Impression สามารถคลาดเคลื่อนได้หรือไม่
ยอด Impression อาจจะมีการบิดเบือน เนื่องจากการใช้บอทเข้าสู่ระบบเว็บไซต์ซ้ำๆ หรือแม้แต่การรีเฟรชหน้าเว็บไซต์ของ User ดังนั้นควรดู Parameter อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
PPC เกี่ยวข้องกับ Impression อย่างไร
ทั้ง PPC และ Impression ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่อาจมีส่วนสัมพันธ์กันอยู่ กล่าวคือ PPC หรือ Pay per Click คือต้นทุนต่อการคลิก 1 ครั้ง มีสูตรคำนวณ คือ ต้นทุน/คลิก
ส่วน Impression คือ การแสดงผลของโฆษณา แม้ทั้งสองจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่หาก Impression เพิ่ม อาจส่งผลให้ Click เพิ่ม ซึ่งก็จะทำให้ PPC ถูกลง ได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ PPC จะถูกลงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ Bid Strategy ด้วย
โฆษณาบน Facebook ต้องมี Impression เท่าไร ถึงเรียกว่าดี
ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและอุตสาหกรรมของแบรนด์ ซึ่งค่าเฉลี่ยของ Impression ที่ดีในแต่ละอุตสาหกรรมอาจแตกต่างกัน ไม่มีการวัด Impression แบบตายตัว แต่โดยทั่วไปหากวัตถุประสงค์ของแคมเปญโฆษณาเป็นการสร้างการจดจำ User ควรเห็นโฆษณา 1-3 ครั้ง จึงจะส่งผลดีต่อการจดจำโฆษณา และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแคมเปญ
ควร Focus อะไรมากกว่ากันระหว่าง Impression VS Reach
Impression และ Reach นั้นเป็นตัววัดค่าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแคมเปญโฆษณา หากต้องการเพิ่มการรับรู้แบรนด์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ควรโฟกัสที่ Reach เพราะ Reach จะบอกจำนวน User ที่ไม่ซ้ำกัน
แต่ถ้าหากต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วม การโฟกัส Impression จะเป็นทางทางเลือกที่ดีกว่า เพราะ Impression บอกจำนวนครั้งที่โฆษณาปรากฏบนหน้าจอของ User ไม่ว่าผู้ใช้จะคลิกหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว การโฟกัสที่ทั้ง Impression และ Reach นั้นมีความสำคัญ เพื่อให้ได้ภาพรวมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา