ในปี 2022 นี้การทำ Google SEO คงเป็นเรื่องที่นักการตลาดดิจิทัลหรือเจ้าของธุรกิจหลายๆ คนมีความคุ้นเคยกันพอสมควร แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องของการทำ Local SEO ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการทำ SEO รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถช่วยให้ ธุรกิจขนาดเล็กหรือ เจ้าของธุรกิจ SMEs มีโอกาสติดหน้าหนึ่งในการค้นหา Google และทำให้กลุ่มลูกค้า สามารถค้นหาร้านค้าหรือธุรกิจของคุณได้ง่ายขึ้น ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่า Local SEO คืออะไร? แตกต่างจาก การทำ SEO แบบทั่วไปอย่างไร? และ Local SEO ดีต่อ ธุรกิจของคุณอย่างไร? ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย
Local SEO คืออะไร
การทำ Local SEO หรือ Local Search Engine Optimization คือ กลยุทธ์ในการทำ SEO รูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ร้านค้าหรือธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสติดอันดับการค้นหาบน Google ในระดับท้องถิ่นหรือในตำแหน่งที่เราต้องการ โดยเป็นการนำ Keyword ของธุรกิจนั้นๆ เข้ามาพ่วงท้ายด้วยตำแหน่งหรือสถานที่ที่ธุรกิจตั้งอยู่ เช่น หากเรามี ธุรกิจโรงแรมที่ภูเก็ต Keyword ที่เราใช้ก็อาจจะเป็น “โรงแรม + ภูเก็ต” หรือ อาจจะระบุตำแหน่งย่อยลงไปอีกขั้น เช่น “โรงแรม + หาดราไวย์” เป็นต้น
Local SEO ต่างจากการทำ SEO ยังไง
SEO หรือ Search Engine Optimization เป็นการทำเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google โดยขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเว็บไซต์ ยิ่งเราทำ SEO ได้ดีเท่าไหร่ เว็บไซต์ของเราก็จะมีโอกาสปรากฏขึ้นเป็นอันดับต้นๆ บน Google มากขึ้นเท่านั้น ความยากในการทำ SEO แบบทั่วไปก็คือการปั้นให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้นๆ ผ่านการค้นหา Keyword แบบวงกว้าง เพราะมันจะเป็นการแข่งขันกับเว็บไซต์ทั่วประเทศที่ใช้ Keyword นั้นอยู่ แต่การทำ Local SEO จะช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ สามารถที่จะขึ้นอันดับต้นๆ ผ่านการค้นหาของ Google ได้ เพราะเมื่อเจาะลึกเรื่องตำแหน่งลงไป เราก็จะสามารถตัดคู่แข่งที่อยู่นอกพื้นที่ออกไปได้อย่างมหาศาลเลยนั่นเอง
Local SEO ดีกับธุรกิจยังไง
ธุรกิจใหญ่ที่เป็นเจ้าของ Keyword แบบวงกว้าง มักไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของการครอบครอง Keyword ย่อยที่เป็นที่ตั้งของธุรกิจ มันจึงเป็นช่องว่างที่ทำ ให้ธุรกิจเล็กๆ สามารถที่จะแข่งขันกับเจ้าใหญ่ได้ โดยข้อสมมุติฐานที่ว่า ถึงแม้เราจะไม่สามารถเป็นที่รู้จักของทุกคน แต่ขอให้คนที่เข้ามาในพื้นที่ค้นหาร้านค้าของเราเจอ โดย Local SEO สามารถช่วยเพิ่ม Traffic ที่เข้ามาบนเว็บไซต์ และเพิ่มจำนวนลูกค้าให้กับธุรกิจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสถิติจากเว็บไซต์ Hubspot ระบุว่า ลูกค้ากว่า 88% ที่ค้นหาร้านค้าท้องถิ่นด้วยตำแหน่งที่ตั้ง มักจะเดินทางไปที่ร้าน หรือทำการโทรหาร้านค้าในวันนั้น และกว่า 46% ของการค้นหาของ Google เป็นการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ตั้ง
ขั้นตอนการทำ Local SEO
1. สมัคร Google My Business เพิ่มการเข้าถึงพร้อมกับอัพเดทข้อมูลร้านค้า
GMB หรือ Google My Business เป็นบริการฟรีจาก Google ที่จะช่วยให้ร้านค้าต่างๆ สามารถเพิ่มข้อมูลของร้านค้าลงในฐานข้อมูลของ Google และทำให้ร้านค้านั้นๆ สามารถที่จะไปปรากฏบนบริการต่างๆ เช่น Google Search หรือ Google Maps ได้ ดังนั้นก่อนที่เราจะสามารถเริ่มต้นการทำ Local SEO เราควรที่จะต้องสมัครบัญชีบน Google My Business เสียก่อน สำหรับผู้ที่เคยสมัครแล้วเราก็สามารถที่จะเข้าไปอัพเดทข้อมูลร้านค้าของเราได้เลย แต่หากเป็นร้านค้าใหม่ก็ให้ทำการตั้งชื่อธุรกิจและใส่ข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนมากที่สุด โดยชื่อธุรกิจของเราควรมี Keyword สำคัญเกี่ยวกับธุรกิจของเราอยู่สัก 1-2 คำ (ไม่ควรเยอะกว่านี้) เพื่อช่วยในการค้นหา โดยเราสามารถนำ ชื่อธุรกิจ+keyword หรือ จะสลับตำแหน่งกันก็ได้ เช่น ร้านหอมฟุ้งซักอบรีด หรือ สอนภาษาอังกฤษ by ครูจิมมี่ เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่คุณควรทำ คือการกดอนุญาตให้ร้านค้าของคุณสามารถขึ้นไปโชว์บน Google Search และ Google Maps ได้ และควรมั่นใจว่า หมุดที่อยู่บน Google Maps นั้นคือตำแหน่งที่ถูกต้องของร้านค้า นอกจากนี้ หากบริการหรือธุรกิจของคุณสามารถให้บริการนอกพื้นที่ได้ ก็อย่าลืมที่จะเพิ่มตำแหน่งของพื้นที่บริการเพิ่มเติมลงไปด้วย (สูงสุด 20 พื้นที่) โดยหลังจากกรอกข้อมูลทั้งหมดพร้อมกดยืนยันในการสร้างบัญชี เราก็จะถูกพามาที่หน้าโปรไฟล์ของ GMB ซึ่งเราสามารถใส่ข้อมูลและทำการปรับแต่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ในครั้งต่อๆ ไป
2. Localize keyword
หลังจากที่เราได้ บัญชีของ GMB มาแล้ว อย่าลืมที่จะกรอกข้อมูลทั้งหมดลงบนโปรไฟล์ของเราให้ครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของที่อยู่ร้านค้าและข้อมูลร้าน จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเราต้องการให้ Google หาเราเจอจากตำแหน่งที่ตั้ง ดังนั้นอย่าลืมที่จะเขียนที่อยู่ลงไปอย่างละเอียด และไม่ลืมที่จะใส่ Keyword ของธุรกิจของเราลงไปสัก 3-4 คำ
สำหรับธุรกิจในกรุงเทพฯ เนื่องจากปริมาณของประชากรที่หนาแน่น การเลือกตำแหน่งของ Location Keyword นั้นอาจจะใช้วิธีการเลือกจากเขตมากกว่าการใช้เฉพาะชื่อจังหวัด เช่น คลินิกทำฟันสาทร หรือ ร้านทำผมห้วยขวาง เป็นต้น แต่หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัดที่ประชากรแต่ละอำเภออาจจะไม่เยอะมาก ก็อาจจะเลือกใช้เป็นชื่อจังหวัดได้เลย เช่น ร้านอาหารกระบี่ หรือ โรงแรมเกาะพีพี เป็นต้น
3. ทำ Local SEO ควบคู่กับการทำ Google My Business
การทำ Local SEO นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารโปรไฟล์ GMB ของเรา โดยคิดเสียว่า GMB ของเรานั้นก็ไม่ต่างจากช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Facebook Instagram หรือ Line ที่ต้องคอยมีการอัพเดทเนื้อหาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรมีการเพิ่มรูปภาพที่มีความน่าดึงดูด โดยเฉพาะรูปหน้าปก ที่ทำให้คนสนใจอยากคลิ๊กเข้ามาดูสินค้าหรือบริการของเรา การโพสเนื้อหาที่มีการอัพเดทอย่างต่อเนื่องยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของเราต่อลูกค้า นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะเพิ่มสินค้าของเราลงในช่อง “ผลิตภัณฑ์” (product) โดยสามารถใส่ keyword ลงในข้อมูลของสินค้าแต่ละชิ้นบนโปรไฟล์ GMB ของเราได้อีกด้วย
4. ปรับโครงสร้าง SEO ให้รองรับกับการขึ้นอันดับใน Local Business
เนื้อหาที่เราใส่ลงใน GMB ของเรานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรเลือกประเภทและหมวดหมู่ร้านค้าของเราให้ตรงกับสินค้าหรือบริการตามความเป็นจริง และควรมีการระบุวันเวลาที่ปิดทำการอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา และอย่าลืมใส่แผนที่ (Embed Maps) ลงบนเว็บไซต์ของเราด้วย
สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามก็คือการรีวิวจากลูกค้า ซึ่งมันจะเป็นการดีมากหากมีลูกค้าจริงๆ มาช่วยเขียนรีวิวให้กับธุรกิจของเรา แต่หากเราเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ เราอาจจะเริ่มจากการขอให้คนรอบข้างช่วยเขียน หรือ มีการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์เขียนรีวิวแลกกับของตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าควรเป็นรีวิวที่ลูกค้าเดินทางมาใช้บริการที่ร้านจริง เพราะ Google จะมีการตรวจสอบการเดินทางของลูกค้าว่ามาที่ร้านจริงหรือไม่ และหากพบว่าเป็นรีวิวปลอม Google ก็จะลบรีวิวเหล่านั้นออกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรทำ ก็คือการใช้บริการ Web Listing หรือเว็บไซต์ที่รับรีวิวเกี่ยวกับธุรกิจของเรา ให้ทำ Backlink กลับมาที่หน้าเว็บไซต์ของเรานั่นเอง โดยบริการรีวิวจากเว็บไซต์ เช่น Wongnai Tripadvisor หรือ การรีวิวจากบล๊อคเกอร์ และ อินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ก็จะช่วยเพิ่มอันดับในการค้นหาบน Google และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของเราได้เป็นอย่างดี
5. สร้างเนื้อหาที่เข้าถึงได้ง่าย และภายในพื้นที่ที่เราต้องการ
หากเรามีสินค้าหลายชนิด หรือ มีสาขาร้านค้าที่มากกว่าหนึ่งสาขาในหลายๆ พื้นที่ เราสามารถที่จะทำ Landing Page ที่ใช้ Keyword เฉพาะสินค้าหรือ สาขาแยกตามตำแหน่งที่ตั้งแยกออกมา แทนการทำเพจที่รวมทุกอย่างอยู่ในหน้าเดียว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลเฉพาะที่ต้องการได้อย่างชัดเจน รวมทั้งป้องกันการสับสนในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งหากธุรกิจมีหลายสาขา
Local SEO เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
- ธุรกิจโรงพยาบาล หรือ คลีนิกทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น ทันตกรรม หรือ กายภาพบำบัด
- ธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่
- ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท หรือ ธุรกิจที่พัก
- ธุรกิจร้านขายเครื่องประดับ จิวเวอรี่ ของมีค่า
- ธุรกิจคลีนิกเสริมความงาม หรือ สปา
- ธุรกิจทำความสะอาดบ้าน
- ธุรกิจคาร์แคร์ หรือ เกี่ยวข้องกับรถยนต์
- ธุรกิจโรงเรียน หรือ ติวเตอร์สอนพิเศษ
- ฯลฯ
ตัวอย่าง Local SEO keyword
จากตัวอย่างของธุรกิจข้างต้น เราสามารถใช้ Location Keyword ในการทำ Local SEO (ชื่อธุรกิจ + ตำแหน่ง) เช่น
- คลีนิกความงาม เหม่งจ๋าย
- ร้านอาหาร กระบี่
- โรงแรม เกาะช้าง
- ร้านทอง เยาวราช
- ทำความสะอาดบ้าน พญาไท
- โรงเรียนสอนพิเศษ สยาม
- บริการคาร์แคร์ ชลบุรี เป็นต้น
จะวัดผลการทำ Local SEO ได้จากไหนบ้าง
หลังจากที่เราได้ใช้ความพยายามในการทำ Local SEO และปรับปรุงเว็บไซต์ของเราให้เข้ากับการจัดอันดับของ Google แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการทำงานของเรานั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เราจึงได้รวบรวมมาตราวัดสำคัญ ที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการทำ Local SEO ซึ่งเราอาจจะเลือกใช้อันที่เราเห็นว่าเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากที่สุด จะมีอะไรบ้างตามไปดูกันเลย
Google My Business Insights
ที่แรกที่คุณควรไป ถ้าคุณอยากรู้ผลลัพธ์ของการทำ Local SEO ของคุณ เพราะข้อมูลทั้งหมดเช่น impression, clicks หรือ ค่าวัดอื่นๆ ถูกรวมเอาไว้ที่นี่แล้ว และเนื่องจาก GMB มีลักษณะที่คล้ายกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม จึงทำให้คุณสามารถเข้าใจได้ด้วยว่าโพสต์แบบไหนที่ได้รับการตอบรับที่ดี (หรือไม่ดี) จากลูกค้าของคุณ
Customer Reviews
Google มีอัลกอริธึมของการวัด Local SEO แยกออกมาจาก SEO แบบ Organic ซึ่งการทำงานของอัลโกริธึมของ Local SEO นั้นจะนับการรีวิวเป็นคะแนนในการจัดอันดับเว็บไซต์ด้วย นอกจากนี้รีวิวยังมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าคนอื่นๆ ที่เจอร้านค้าของเราผ่านการค้นหาโดย Google โดยเฉพาะรีวิว 5 ดาวที่ยิ่งเยอะก็ยิ่งเพิ่มแนวโน้มที่จะทำให้ลูกค้าใหม่ ตัดสินใจที่จะใช้บริการของเรา
Engagement
หรือค่าความปฏิสัมพันธ์ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์หรือธุรกิจ ซึ่งเป็นค่าวัดที่อาจยังวัดผลได้ไม่ง่ายนัก แต่อาจจะมีผลในระยะยาวเกี่ยวกับการจัดอันดับบน Google ตัวอย่างของการปฎิสัมพันธ์ของเว็บไซต์ในปัจจุบันเช่น การใช้งาน Google Questions and Answers ที่ทำให้ลูกค้าสามารถที่จะพูดคุยกับแบรนด์ได้โดยตรง เป็นต้น
Geo Targeted Keyword Clicks
จำนวนคลิ๊กที่ได้จากการค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ตั้ง ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนคนที่เข้ามาที่เว็บไซต์ของเราผ่านการค้นหา บริการที่ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ยิ่งจำนวนคลิ๊กมีจำนวนที่สูงขึ้นก็แสดงถึงความสนใจที่ลูกค้ามีต่อบริการในท้องถิ่นนั้นๆ
Local Search Ranking
ลำดับของการค้นหาเว็บไซต์ในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากกว่าการวัดผลลัพธ์จาก keyword แบบวงกว้าง ตัวเลข click rate ที่เราได้จากการค้นหาแบบที่ตั้งย่อมเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเรากำลังทำ Local SEO มาถูกทางหรือไม่ โดยเป้าหมายที่เราต้องการก็คือการครองตำแหน่งต้นๆ ในการค้นหาบริการแบบท้องถิ่น
Non-Branded Search
ตัวเลขของการค้นหาบริการในสถานที่ ที่ไม่มีชื่อของแบรนด์หรือสินค้าในการค้นหา เช่น ร้านอาหาร เชียงใหม่ หรือ โรงแรม หัวหิน เป็นตัวเลขที่สามารถบอกได้ว่า Local SEO ของเรานั้นได้ผลมากน้อยแค่ไหน
Organic Traffic
ค่าวัดมาตรฐานในการทำ SEO ในทุกรูปแบบ หัวใจของการทำ SEO คือการทำให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับ Google โดยไม่ต้องเสียเงินในการยิงโฆษณา ยิ่งจำนวน Organic Traffic ของเราสูงมากเท่าไหร่ก็หมายความว่าเราทำ Local SEO ได้ดีมากเท่านั้น การที่เราได้รับ Organic Traffic ที่สูงยังเป็นตัวบ่งบอก Google ด้วยว่า เว็บไซต์ของเรานั้นมีความเกี่ยวข้องกับ Keyword ที่เราใช้สูง
Organic Traffic by Location
ค่าวัดที่เป็นการกรอง Organic Traffic ลงไปอีกชั้น จริงอยู่ที่ว่าหากเราได้รับ Organic Traffic ที่สูงขึ้นแสดงว่าเรากำลังทำ SEO ได้ถูกทาง แต่การโฟกัสไปที่จำนวนของ Traffic ที่อยู่ในรัศมีของธุรกิจของเรา ย่อมแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จที่ชัดเจนกว่า เพราะเราคงไม่อยากได้ตัวเลข Organic Traffic ที่สูง แต่ลูกค้าของเรากลับอยู่นอกพื้นที่ทั้งหมด จึงเป็นค่าวัดที่น่าสนใจในการใช้ประเมิณการทำ Local SEO ของเรา
Phone Clicks
การวัดจำนวนโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาหาร้านค้าหรือธุรกิจของเราก็เป็นตัววัดที่ดีอีกตัวหนึ่ง สำหรับธุรกิจท้องถิ่นแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ลูกค้าใหม่จะทำการโทรเข้ามาเช็กเกี่ยวกับธุรกิจหรือบริการของคุณ และมันยังบ่งบอกถึงแนวโน้มที่ลูกค้าจะมาใช้บริการจริงอีกด้วย
Total Impressions
จำนวนผู้ที่เห็นลิงก์ของคุณบน Google อาจไม่ใช่ค่าวัดที่ดีที่สุด แต่มันก็สามารถบ่งบอกเกี่ยวกับภาพรวมของการทำ SEO ของคุณได้ว่ามีคนเห็นเว็บไซต์ของคุณมากขึ้นหรือไม่ โดยตัวเลขที่มากขึ้นก็สามารถบ่งบอกได้ว่าเว็บไซต์ของคุณน่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ของการค้นหาบน Google โดย Keyword นั้นๆ
Website URL Views
จำนวนของผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ เป็นอีกหนึ่งมาตราวัดที่สามารถใช้บ่งบอกภาพรวมว่ามีคนไปที่เว็บไซต์ของคุณมากน้อยแค่ไหน
สรุป
การทำ Local SEO นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกๆ ธุรกิจหรือร้านค้าควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ทำได้ไม่ยากและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่สามารถช่วยให้ธุรกิจท้องถิ่นหรือ SMEs สามารถที่จะแข่งขันในเรื่องการจัดอันดับการค้นหาบน Google ได้ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการให้ลูกค้าสามารถหาเราเจอจากการค้นหาบน Google อีกด้วย
FAQ – คำถามที่พบบ่อย
Local SEO ต่างจากการทำ SEO ยังไง
SEO นั้นจะเป็นการทำให้ขึ้นอันดับทั้งประเทศไทย แต่การทำ Local จะเป็นการขึ้นอันดับ keyword และ google map ที่เจาะจงพื้นที่เป็นหลัก
Local SEO เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
การทำ Local SEO เหมาะกับธุรกิจใดๆ ก็ตามที่มีกิจการหลายสาขา เช่น คลินิกความงาม คลินิกทันตกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจร้านขายเครื่องประดับเพชรพลอยทอง เป็นต้น
Geo Targeted Keyword Clicks คืออะไร
จำนวนคลิ๊กที่ได้จากการค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ตั้ง ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนคนที่เข้ามาที่เว็บไซต์ของเราผ่านการค้นหา บริการที่ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง