วิธีเขียนบทความ SEO ให้ติดหน้าแรก

รวม Checklist เขียนบทความ SEO ให้ติดหน้าแรกอย่างเป็นธรรมชาติ

Table of Contents

สำหรับหลายๆ คนที่เข้ามายังบทความนี้ คงพอจะรู้จัก SEO เบื้องต้นกันมาพอหอมปากหอมคอแล้ว แต่รู้ไหมว่า

Content เนี่ยแหละ ที่เป็นหัวใจหลักของการทำ SEO!

บางคนอาจมองว่า ‘ถ้าจะทำบทความลงเว็บไซต์ แค่เขียนๆ ไป ไม่ต้องจริงจังมาก เน้น Keyword ก็ติดอันดับได้แล้ว’ แต่เขาเหล่านั้นกำลังคิดผิดมหันต์!

ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Search Engine อื่นๆ ต่างก็เร่งพัฒนาความสามารถให้ Algorithm ของตัวเองเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการของ User หรือก็คือ ผู้ใช้งาน เป็นหลัก ดังนั้น การทำ SEO content เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการในการค้นหา หรือที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่า Search Intent กันด้วย

และในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับเทคนิคและเช็กลิสต์การเขียนบทความ SEO กันในทุกรายละเอียด เพื่อช่วยดันให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นมาติดอันดับต้นๆ บน Google ได้อย่างยั่งยืน

Content SEO สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ

ทำความเข้าใจ Content SEO คืออะไร สำคัญขนาดไหนกับธุรกิจ

บทความ SEO คือ บทความที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีการปรับแต่งที่ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้เหมาะกับกระบวนการทำงานของ Search Engine Algorithm ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ Bot ที่คอยเก็บข้อมูลรู้ว่า บทความนี้สื่อถึงอะไร ผ่านตัวกลางหลักๆ อย่าง Keyword, Structure ฯลฯ

แต่เอาเข้าจริงนั้น เพียงแค่การบอก Bot อย่างเดียวไม่เพียงพอเลย เพราะล่าสุด Google ได้ทำการ Roll Out หรือ แจกแจงมาตรการใหม่ล่าสุดชื่อว่า Helpful Content Update ที่มุ่งเป้าไปที่การตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก และอีกหลากหลาย Algorithm Update ซึ่งนับว่าพัฒนามาไกลจากการทำ SEO ยุคบุกเบิกเอามากๆ

และด้วยการที่เป้าหมายของการทำ Content SEO ในตอนนี้ คือ การตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างจริงจัง จึงนับว่าเป็นเครื่องมืออันเหมาะเจาะที่จะช่วยขยายให้ธุรกิจของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายๆ ผ่านการสร้างการมองเห็นแบบออร์แกนิก และแน่นอนว่ายังสามารถต่อยอดไปยัง Conversion หรือผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

ชวนสำรวจความพร้อม Google ชอบบทความแบบไหน

เอาล่ะ เมื่อเรารู้แล้วว่า SEO Content ทำอะไรได้บ้าง เรามาดูกันต่อดีกว่าว่า Google กำลังมองหาคอนเทนต์แบบไหน!

คอนเทนต์ดี คุณภาพคับจอ

แน่นอนว่าเรื่อง Keyword หรือปัจจัยในด้านเทคนิคอื่นๆ ก็ยังจำเป็นอยู่ แต่อันดับแรกที่ควรคิดถึงเลยก็คือ ความเป็นธรรมชาติของงานเขียน เพราะต่อให้ Keyword จะเยอะ Google Bot อ่านแล้วจดจำข้อมูลไปจัดอันดับได้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าผู้อ่านกดเข้ามาแล้วอ่านไม่เข้าใจ หรือไม่ได้อะไรกลับไปเลย? ท้ายที่สุด คอนเทนต์ของคุณก็จะถูก Google เขี่ยตกกระป๋องนั่นเอง

โดยคอนเทนต์ที่ดีที่ทาง Google แนะนำนั้น ควรเป็นคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลที่เป็นออริจินัล มีความสดใหม่และน่าสนใจของข้อมูล นั่นก็หมายความว่า การแอบเอาเนื้อหาของคนอื่นมา Paraphrase หรือลอกกันมาแบบตั้งใจ ล้วนแต่ไม่เข้าข่ายบทความที่ดีนั่นเอง นอกจากนี้ บทความที่ดีก็ควรเกาะประเด็นไว้ไม่ให้หลุดโฟกัสของเรื่อง และไม่ควรเขียน หรือกล่าวอ้างข้อมูลเกินจริงอีกด้วย

คอนเทนต์โดดเด่น ไม่เกรงใจใคร!

นอกจากการศึกษาแล้วว่าคู่แข่งหรือกลุ่มที่เขาติดอันดับต้นๆ ของ Google มีการทำคอนเทนต์ด้วยเนื้อหาอย่างไรบ้าง เราจะต้องพยายามผลักดันให้เนื้อหาของตนเองโดดเด่นและครอบคลุมกว่า อาจด้วยการ Research ตามแหล่งอื่นๆ อย่างเว็บไซต์ต่างประเทศ หรืออาจนำไอเดีย หรือความชอบ ความถนัดส่วนตัวมานำเสนอผสานไปกับ Fact ของข้อมูลนั่นเอง

คอนเทนต์เชิงลึก ฟีลผู้เชี่ยวชาญมาเอง

อีกประเด็นที่ขาดไม่ได้เลย คือ ยิ่งเราสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี และยิ่งเป็นข้อมูลที่เขียนออกมาจากผู้เชี่ยวชาญก็ยิ่งดีมากกว่า เช่น หากเป็นธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่จำเพาะเจาะจง ก็ควรให้ผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าและบริการมาอธิบายด้วยตัวเอง หรือหากเป็นการยาก อย่างน้อยๆ นักเขียนก็ควรรวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ นำออกมาถ่ายถอดให้ครบถ้วน และถ้าเป็นไปได้ อย่าลืมใส่ Reference เพื่อให้คนอ่านเบาใจไว้ด้วยนะ เนื่องจากผู้อ่านเองก็ต้องการจะอ่านข้อมูลที่น่าเชื่อถือนั่นเอง

คอนเทนต์ดี ต้องนำเสนอเด่น

นอกจากเนื้อหาจะดี โดดเด่น และให้ข้อมูลเชิงลึกที่ตอบโจทย์ความต้องการของ User แล้ว การนำเสนอเองก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน หากเรามีการปรับแต่งให้หน้าเว็บไซต์มี UX / UI ที่ดีร่วมด้วย ก็จะยิ่งช่วยให้ User อยากอยู่บนหน้านั้น และเสพคอนเทนต์ของเราได้นานขึ้น แต่ก็ควรเฝ้าระวังไม่ให้เนื้อหาบางอย่าง เช่น การขึ้นโฆษณา หรือ การพยายามยัดเยียดขายสินค้าและบริการ มีมากเกินไปจนขัด Mood ผู้อ่าน

7 ขั้นตอนเขียนบทความตามหลัก SEO

การเขียนบทความที่ถูกต้องตามหลัก SEO ไม่มีอะไรที่ยาก หรือแปลกไปจากบทความทั่วๆ ไป แต่นอกจากความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างการเขียนให้มีเหตุมีผล หรือเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เรายังมี 7 Steps ง่ายๆ ให้คุณได้ทำตาม เพื่อช่วยให้คุณได้บทความดีๆ และเป็นที่มองเห็นบนหน้าแรกของ Google มาฝาก

เทคนิคการเลือกหัวข้อเขียนบทความ seo

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดหัวข้อที่จะเขียน

การเลือกหัวข้อที่จะเขียนได้ถูกต้องเป็นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึง จะรู้ได้อย่างไรว่าหัวข้ออะไรที่เหมาะจะหยิบมาเขียน มาดูไอเดียหาหัวข้อกัน

• เลือกหัวข้อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย (Personas)

กลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรก็ตาม ควรมีพื้นฐานมาจากความต้องการที่จะสื่อสาร และตอบ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมายของเรา เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังเผชิญปัญหาดวงตา ข้อมูลที่ส่งออกไปควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับดวงตา ไม่ว่าจะเป็นการดูแล การรักษาโรคหรืออาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เป็นต้น

• เลือกหัวข้อจากการศึกษาคู่แข่ง (Competitor)

บางครั้ง หากเราไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน ให้เราไปดูคู่แข่งก่อนว่ากำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง แล้วลองนำเอาสิ่งที่เขากำลังทำอยู่บนเว็บไซต์มาต่อยอดให้ดียิ่งกว่า

• ศึกษาจากกลุ่มสังคมออนไลน์ (Group)

การศึกษาว่าในโลกออนไลน์ อะไรที่กำลังเป็นที่พูดถึง หรือกำลังมาแรง จะช่วยให้เราขยับขยายเนื้อหา และแนวทางของหัวข้อที่จะนำมาผลิตคอนเทนต์ได้นั่นเอง

ต้องมี keyword สำหรับเขียนบทความ

ขั้นตอนที่ 2 ทำ Keyword Research ค้นหาคีย์เวิร์ดที่ใช่

การทำ Keyword Research ที่เหมาะสม ก็ช่วยให้บทความเราติดอันดับดีๆ ได้ ในเบื้องต้นควรเลือกพิจารณาจากคีย์เวิร์ดที่มีจำนวนค้นหา (Search Volume) เยอะประมาณหนึ่ง ซึ่งแปลว่ามีคนค้นหาคำนี้จริงๆ ถ้าเราเลือกใช้ก็จะมีคนหาแน่ๆ แต่ข้อควรระวังคือถ้าเป็นคีย์เวิร์ดที่มียอดค้นหาสูงมากๆ ก็จะมีคู่แข่งเยอะด้วย เป็นคีย์เวิร์ดที่แข่งยาก ดังนั้นอยากให้เลือกจำนวน volume กลางๆ ค่อนไปทางเยอะ (ราวๆ หลักร้อยถึงหลักพันกำลังดี) และเลือกที่ตรงกับธุรกิจเรา ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่สุด แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องทำแบบนี้เสมอไปนะ

ซึ่งวิธีการหาคีย์เวิร์ดก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาไอเดียจากเว็บไซต์คู่แข่ง หรือเป็นการตรวจสอบจากผลการค้นหาที่เข้ามายังเว็บไซต์ของตัวเองแล้วนำมาต่อยอด ตลอดจนถึงการคิดไอเดียขึ้นมาเองแบบด้นสด และเครื่องมือที่ใช้ในการทำ Keyword Research ก็มีให้เลือกอย่างมากมาย ทั้งที่เปิดให้ใช้บริการฟรี เช่น Google Suggest, Google Keyword Planner (มีเงื่อนไข), Uber Suggest (มีเงื่อนไข), SEMrush (มีเงื่อนไข) และเสียเงิน ได้แก่ Keyword Finder, Ahrefs, Moz Keyword Difficulty Tool เป็นต้น

ต้องมี keyword สำหรับเขียนบทความ

ขั้นตอนที่ 3 เริ่มลงมือเขียนคอนเทนต์ดีๆ ได้เลย

หลังจากที่ทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ถึงขั้นตอนลงมือเขียน ซึ่งตรงนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก จะว่าไม่มีสูตรลับตายตัวก็ว่าได้ แต่สิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากพื้นฐานความรู้ทาง SEO ผนวกกับไกด์ไลน์จากทาง Google แล้ว หลักการเขียนบทความ SEO ยังประกอบไปด้วยเทคนิคเหล่านี้

• หัวข้อที่ดึงดูด

สิ่งสำคัญคือ ต้องบอก User ให้ได้จากหัวข้อ ว่าด้านในเขาจะเจอกับอะไร ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือบทความให้ความรู้ก็ตาม ตัวอย่างหัวข้อที่ดึงดูดควรตอบคำถามหรือ Search Intent ของผู้ค้นหา และชัดเจน ควรเป็นอะไรที่ย่อยง่าย อ่านปุ๊ปรู้ปั๊บ และถ้ามีขั้นตอน หรือจำนวนบอกก็จะยิ่งดี เพราะสามารถช่วยให้คนอ่านสามารถกะคร่าวๆ ได้ว่าควรไปต่อไหม เคล็ดลับของศาสตร์แห่งตัวเลขก็คือ ยิ่งทำเลขคี่ ยอดคลิกก็จะยิ่งดี

• มีโครงสร้างที่ดี

การทำ SEO Content จำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างของ HTML Tag หรือ Heading Tag (H1 H2 H3 H4 …) ด้วย แต่แนะนำให้เลืกไล่เรียงหัวข้อตามความเหมาะสม โดยทาง Minimice แนะนำให้ลองสมมติว่าตัวเองเป็นคนอ่าน แล้วลองจินตนาการว่าในเรื่องนั้นๆ เราอยากรู้จักสิ่งไหนก่อน แล้วไล่เรียงเป็นสเต็ปๆ ไป

• เนื้อหาชัดเจน

เมื่อหัวข้อเป็นอย่างไร เนื้อหาข้างในก็ควรเป็นอย่างนั้น คือ ตอบคำถามหรือความต้องการของผู้ค้นหาได้ตรงประเด็น จากการอัปเดตที่ผ่านๆ มาของ Google และการจัดอันดับข้อมูลบนหน้าผลการค้นหา จะชี้ให้เห็นเสมอว่า คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาครบถ้วน ให้ประโยชน์และข้อมูลเชิงลึกแก่คนอ่านมักมี Ranking ที่ดีกว่า เป็นที่มองเห็นมากกว่า และมียอดเข้าชมอันส่งผลถึงแนวโน้มการขายที่สูงกว่านั่นเอง

• ลองเล่นคำบ้าง แต่ไม่ฟุ่มเฟือย

ไม่ใช่แค่เนื้อหาแน่น แต่การเลือกเล่าเรื่องให้เหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้อ่านรับข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพราะทื่อไป อ่านได้ไม่นานเดี๋ยวก็กดออก เกิดเป็น Bounce Rate ตามมา เพราะฉะนั้น เพื่อเอาใจคนอ่าน เราแนะนำให้ลองเล่นคำหลากคำบ้าง อย่าใช้คำซ้ำเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าอธิบายพร่ำเพรื่อ วกวนไปมา ไม่ควรพูดเรื่องเดียวกันซ้ำ สอง.. สาม.. สี่.. ย่อหน้า

• บทสรุปส่งเสริมเนื้อหา(และการขาย)

บทสรุปที่หลายคนอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วไม่ควรมองข้าม เพราะหนึ่ง.. เราไม่รู้เลยว่า Google จะหยิบข้อมูลส่วนไหนมาแสดงผล และส่วนสรุปเป็นส่วนที่ดูจะครอบคลุมได้มากที่สุด และสอง.. เราสามารถส่งเสริมการขายหรือความเชื่อมโยงกับธุรกิจแบบเนียนๆ ได้ในส่วนนั้น ทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือ หรือการรับรู้แบรนด์ที่ดีด้วยนะ

ขั้นตอนที่ 4 ความหนาแน่นของคีย์เวิร์ดเป็นสิ่งสำคัญ กระจายให้แม่น

จำนวนของ Keyword ในแต่ละคอนเทนต์ควรมีจำนวนที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป โดยทาง Minimice แนะนำอยู่ที่ไม่เกิน 1 – 2% ของทั้งหมด ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกันเสมอไป หรือเป็นคำตามที่เครื่องมือค้นหา Keyword แนะนำมา สามารถเว้นวรรคหรือเขียนตามคำที่ถูกต้องได้เลย

บทความควรมีความหนาแน่นของคีย์เวิร์ดเหมาะสม

ขั้นตอนที่ 5 อย่าลืม! นำคีย์เวิร์ดมาใช้ตรงส่วนนี้ด้วยนะ

การใส่ Keyword ในบทความ ควรเป็นไปตามธรรมชาติเพื่อให้การอ่านของ User ลื่นไหล แต่ถึงอย่างนั้น เราต้องไม่ลืมว่าการส่งสัญญาณก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการใส่คีย์เวิร์ดไว้ตามส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะช่วยบอก Google อีกแรงว่าบทความของเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่

  • Headline หัวข้อควรบ่งบอกใจความสำคัญของเนื้อหา ซึ่งเชื่อมโยงมาจากคำที่ถูกพิมพ์ค้นหามาหรือก็คือ Keyword นั่นเอง
  • Meta Tags ทั้ง Meta Title และ Meta Description นอกจากจะมี Keyword แล้ว ก็ควรมีความยาวที่เหมาะสมกับการแสดงผลบนหน้า SERP ของ Google โดยสามารถเช็คความยาวของ Meta Title และ Meta Description ได้ที่ >> Minimice Free SERP Checker
  • URL คล้ายๆ หัวข้อ จะคอยช่วยส่งสัญญาณอีกที ซึ่งถ้ามี Keyword ร่วมอยู่ด้วยก็จะช่วยให้ Google เข้าใจได้มากขึ้น (แต่ควรเป็นภาษาอังกฤษนะ!)
  • Alt Text หรือก็คือคำอธิบายของรูปภาพ เพื่อช่วยให้ Bot เข้าใจและนำรูปภาพของเราไปจัดอันดับบน Image Search เพื่อเป็นการเพิ่ม Traffic อีกหนึ่งช่องทาง
  • Internal Link ไปยังเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง หรือให้ประโยชน์กับผู้อ่านในหัวข้อที่เพิ่มเติม โดยแนะนำให้มี Anchor Text เป็น Exact Match (Keyword นั้นๆ)
  • วางไว้ใน 100 คำแรก

ขั้นตอนที่ 6 แชร์บทความเราบนโซเชียลมีเดีย เพิ่ม Traffic

แม้ว่าการแชร์คอนเทนต์ลง Social Media ไม่ได้ช่วยเรื่อการจัดอันดับ หรือแง่มุมอื่นของ SEO ในทางตรง แต่ในทางอ้อม สามารถช่วยให้แบรนด์และเว็บไซต์เป็นที่รับรู้ และเพิ่ม Traffic ผ่านจากช่องทาง Social โดยการมีลิงก์ตลอดจนกระแสตอบรับจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไลก์ แชร์ ฯลฯ ยังช่วยส่งสัญญาณว่าเนื้อหาของเรามีประโยชน์กับผู้ใช้งานจริง

ขั้นตอนที่ 7 หมั่นดูแลและอัปเดตเนื้อหาให้สดใหม่เสมอ

เมื่อมีการ Publish คอนเทนต์ SEO ลงเว็บไซต์แล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเสร็จงานแบบสมบูรณ์ เพราะความสดใหม่ของเนื้อหาย่อมจูงใจผู้ใช้งานได้มากกว่า ดังนั้นควรมีการมอนิเตอร์ดู Performance ของบทความแต่ละตัวอยู่เสมอ เพื่อที่ในทุกๆ ห้าหรือหกเดือนข้างหน้า หรืออาจจะเป็นหนึ่งปีข้างหน้า จะได้กลับมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เหมาะสมกับ Search Intent ใหม่ หรืออัปเดตเนื้อหาให้ทันสมัย

เทคนิคการเขียนบทความ seo จาก Minimice Group

เทคนิคการเขียน SEO Content แบบมืออาชีพ (ความลับจาก Minimice Group)

นอกจากการเขียนตามหลัก SEO ที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว เรายังมีเทคนิคพิเศษที่จะช่วยให้การเขียน SEO Content เป็นระบบและเสริมให้มีคุณภาพมากขึ้นไปอีก ดังนี้

วาง Content Pillar

การวาง Content Pillar หรือภาพรวมของคอนเทนต์ จะช่วยให้เรามีการจัดการความเชื่อมโยงของเนื้อหาได้ดีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่สามารถทำกำไรได้อย่างสินค้าและบริการ ตลอดจนเนื้อหาให้เปล่าอย่างบทความให้ความรู้ ซึ่งจะทำให้ทิศทางของเว็บไซต์มีความชัดเจน และส่งผลให้เกิด Brand Perception ที่ถูกต้องจากทั้งนักอ่านและ Google

รู้จัก Mood & Tone ของเว็บไซต์

สิ่งสำคัญต่อมาคือการรู้จัก Mood & Tone ของแบรนด์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล หรือด้านสุขภาพ อาจแนะนำเป็นโทนสุภาพ ให้ความรู้ เป็นทางการ เพื่อเป็นการตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้อ่านที่อาจผันตัวมาเป็นผู้รับบริการในอนาคต หากเป็นแนวการศึกษาเด็กโต ก็อาจให้อารมณ์ที่เข้าอกเข้าใจ มีการบรรยายที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หรืออาจแฝงไปด้วยกับศัพท์ที่ทันเหตุการณ์ เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว การใช้ภาษาที่เหมาะสม ยังช่วยทำให้อารมณ์ของผู้อ่านต่อเนื่องและง่ายต่อการสร้าง Loyalty ที่ส่งผลให้เกิด Journey ในเว็บไซต์ หรือ CTR และ Time on Page ที่สูงขึ้นได้

กลยุทธ์บทความ รวมกันเราอุดอู้ แยกกันอยู่เราปัง

สำหรับ SEO Content Best Practice เราอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าควรเขียนยาวๆ เขียนให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงจะช่วยให้เรามีอันดับที่ดีบนหน้าการค้นหา ส่วนหนึ่งก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งเราแนะนำให้วิเคราะห์เนื้อหานั้นๆ กับ Search Intent ให้ดีเสียก่อนที่จะลงมือทำ

หลักการเขียน SEO ที่ดีไม่ควรฝืนหรือบังคับเนื้อหา แต่ควรปล่อยตามธรรมชาติโดยอ้างอิง User มากที่สุด คือ ถ้าบทความสามารถเขียนขึ้นใหม่ได้ ก็ไม่ควรนำมารวมกันจนยืดยาว ตัวอย่าง เทคนิคการแต่งตัวผู้ชาย ไม่ควรมารวมกับ เทคนิคการแต่งตัวผู้หญิง เนื่องจากความต้องการด้านข้อมูลจะถูกจำแนกจากผู้ค้นหาอยู่แล้ว การที่มีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่เกิดผลดีใดๆ ซ้ำร้ายยังทำให้คนอ่านล้มเลิกความตั้งใจเดิมที่จะอ่านได้อีกด้วย

ซึ่งการแบ่งเนื้อหาออกมา หากเป็นเรื่องราวใกล้เคียงกัน ยังสามารถทำให้เกิด Indent Content หรือก็คือการแสดงผลพ่วงของ 2 คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงหรือต่อเนื่องเชื่อมโยงกันบน Search Result Page ดังตัวอย่าง

indent content result

แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดการทำคอนเทนต์ที่เนื้อหาใกล้เคียงจนถึงขั้นซ้ำกันเด็ดขาดนะ เพราะไม่อย่างงั้น  ทาง Google อาจเกิดความสับสนในการจับสัญญาณจาก Keyword และจัดอันดับให้เราเพี้ยนไป เปลี่ยนจากผลดีกลายเป็นผลร้ายได้

สรุปใจความสำคัญ SEO Content Checklist สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการเขียน Content

นอกจากเทคนิคที่เราแนะนำไปจะช่วยให้บทความมีโครงสร้างที่ถูกต้องตามหลัก SEO แล้ว อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่ผู้อ่าน เพราะคอนเทนต์ที่ดี ตอบโจทย์คนอ่าน จะสามารถขึ้นอันดับดีๆ ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว และถ้าเราเขียนดีแล้วทำตามเทคนิคที่ทาง Minimice แนะนำไปแล้วนั้น รับรองว่าคอนเทนต์ของคุณจะไต่อันดับได้ไม่ยาก

เช็กลิสต์ เทคนิคการเขียน seo content

FAQ – คำถามที่พบบ่อย

หลักการเขียนบทความ SEO มีอะไรบ้าง

การเขียนบทความ SEO สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ดี ตอบโจทย์ผู้ค้นหา และการกระจายคีย์เวิร์ดในปริมาณที่เหมาะสม หลังาจกนั้น บทความเราจะถูกต้องตามหลัก SEO อย่างเป็นธรรมชาติเอง

บทความ SEO ควรเขียนยาวขนาดไหน

จำนวนคำไม่ควรน้อยกว่า 1000 คำ เพราะเป็นสัดส่วนที่เริ่มจะเขียนคอนเทนต์รู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีกฎตายตัว หากเนื้อหาที่เขียนได้สั้นหรือยาว ก็ให้เป็นไปตามนั้น ทาง Minimice เราแนะนำให้เขียนอยู่ที่ประมาณ 1500 – 3000 คำ กำลังดี

ทำไมต้องเขียนบทความ SEO

การเขียนบทความ SEO เป็นตัวช่วยสร้าง Brand Awareness แบบออแกนิก คือ ไม่ต้องเสียงค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออันดับใน Google ซึ่งจะช่วยให้ User มีโอกาสพบธุรกิจของเราได้ง่ายขึ้น และสร้างรายได้ให้ธุรกิจตามมา

ปัจจัยการจัดอันดับบทความของ Google

Google ชอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน (Valuable Content) ซึ่งมีผลมาจาก ความสดใหม่ เชี่ยวชาญ และถูกต้องของเนื้อหา, การกระจาย หรือขยาย Keyword ฯลฯ แต่ก็มีหลากหลายปัจจัยที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้านั้นๆ เช่น Domain Authoirty และ การทำ Backlink เป็นต้น

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดไปกับทีมการตลาดมืออาชีพ
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง
รับการตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง